ระบบเหมืองฝาย บ้านเมืองปอน

05-02-1resized

ยามเดินทอดน่องไปในบ้านเมืองปอน จะสังเกตเห็นลำเหมืองคอนกรีตขนาดย่อมไหลลัดเลาะไปตามบ้าน คู่ขนานไปกับถนนแต่ละเส้น เหมืองที่ว่านี้หล่อเลี้ยงชีวิตของชาวบ้าน ใช้รดผัก รดต้นไม้

เราเห็นคุณยายท่านหนึ่งกำลังใช้น้ำจากลำเหมืองรดต้นไม้พอดี พลันที่หยิบกล้องขึ้นเก็บภาพ คุณยายหันมายิ้มให้ด้วยความเป็นมิตร เราถามว่า คุณยายทำแบบนี้ทุกเช้าเลยหรือ ท่านพยักหน้าและผลิยิ้มเป็นคำตอบ

ลำเหมืองนี้สะท้อนภูมิปัญญาดั้งเดิมของคนเมืองปอนในการวางระบบชลประทาน เพื่อการปลูกข้าว ซึ่งกลายเป็นการบังคับทิศทางของการตั้งบ้านเรือน ทำให้ผังเมืองของบ้านเมืองปอนหมู่ที่ 1 และ 2 มีความโดดเด่น เป็นเอกลักษณ์ให้ใครต่อใครได้เข้ามาศึกษา หรือเยี่ยมชม

สุวิทย์ วารินทร์ อดีตรองนายกองค์การบริหารส่วนตำบลเมืองปอน ซึ่งศึกษาประวัติศาสตร์พื้นถิ่นมาต่อเนื่อง รำลึกถึงคำบอกเล่าของปู่ย่าตายายให้ฟังว่า ก่อนที่บรรพบุรุษจะมาตั้งรกรากอยู่ที่บ้านเมืองปอน เคยตั้งรกรากอยู่บริเวณดอยเวียง ซึ่งอยู่ทางฝั่งตะวันออกของบ้านเมืองปอนในปัจจุบัน พื้นที่บริเวณดอยเวียงเป็นที่สูง หากกล่าวในเรื่องของชัยภูมิในยุคที่มีการสู้รบกัน ก็ต้องถือว่าเหมาะสมอย่างยิ่ง จนกระทั่งเมื่อราว 200 ปีก่อน ชาวบ้านตัดสินใจอพยพหมู่บ้านมาอยู่ข้างล่าง ด้วยเดินทางไปไหนมาไหนลำบาก ซึ่งการย้ายนี้ก็ต้องย้ายเสาหลักเมือง หรือใจบ้านลงมาด้วย

“ใจบ้านนี้เป็นสิ่งที่ชาวบ้านให้ความเคารพบูชาอย่างมาก เวลาจะเดินทางไปไหน ก็ต้องไปไหว้ใจบ้านก่อน ถือเป็นศูนย์รวมของทุกคนเลยก็ว่าได้ และเมื่อย้ายลงมาแล้ว ผู้เฒ่าผู้แก่สมัยนั้นร่วมกันวาดผังเมืองขึ้น เพราะเล็งเห็นว่า อีกไม่นานความเจริญจะเข้ามาเรื่อยๆ ฉะนั้นเพื่อให้แต่ละบ้านไปมาหาสู่กันสะดวก และสามารถดูแลความปลอดภัยได้ง่าย ก่อนที่จะแบ่งที่ดิน หรือสร้างบ้าน ทุกคนต้องเสียสละพื้นที่ส่วนหนึ่งสำหรับทำถนน นี่จึงเป็นเหตุว่า ทำไมถนนที่นี่ถึงค่อนข้างกว้างขวาง และบ้านเรือนถึงจัดเรียงกันเป็นบล็อกๆ สวยงามเช่นนี้” สุวิทย์ว่า

เมื่อจัดการที่อยู่อาศัยเรียบร้อย สิ่งที่บรรพบุรุษดำเนินการต่อ คือการจัดสรรพื้นที่ทำมาหากิน โดยชาวบ้านทั้งหมดจะได้ส่วนแบ่งที่ดินทำกินของตัวเอง และจะมีนาพิเศษ จัดแบ่งไว้ เรียกว่า ‘นาสวัสดิการ’ มีอยู่ 3 แปลง แปลงแรกเรียกว่า ‘นาเจ้าเมือง’ ขนาด 10 กว่าไร่ เจ้าเมืองมักปล่อยให้ชาวบ้านเช่าทำนา ซึ่งใน 10 ไร่ จะได้ข้าวราว 60-100 หลัง

(หลัง คือ หน่วยตวงของไทใหญ่ โดย 1 หลัง = 104 กิโลกรัม) โดยชาวบ้านที่เช่านา ต้องนำข้าวมาให้เจ้าเมือง 9 หลัง

นาแปลงที่สองเรียกว่า ‘นาหล่าสอ’ มีขนาดประมาณ 4 ไร่ เป็นสวัสดิการให้คนที่ทำงานประชาสัมพันธ์ของหมู่บ้าน และแปลงสุดท้าย เรียกว่า ‘นาจะเล’ ประมาณ 6 ไร่ เป็นนาสำหรับผู้ที่ทำพิธีกรรมทางศาสนา หรือผู้นำจิตวิญญาณ

ปัจจุบันนี้ นาสวัสดิการ 2 แปลงไม่อยู่แล้ว เหลือเพียงนาเจ้าเมือง ซึ่งเจ้าเมืองคนปัจจุบันชื่อ ‘ปู่จอง’ เป็นผู้ที่ชาวบ้านให้การยอมรับ และคัดเลือกกันมา ครองตำแหน่งไปจนวาระสุดท้ายของชีวิต

ระบบเหมืองฝายที่เราเห็นกันในบ้านเมืองปอน เป็นเพียงปลายทาง ด้วยบรรดาผู้สร้างวางระบบลำเลียงน้ำจากต้นน้ำ ให้ไหลผ่านพื้นที่ทำกิน ก่อนเข้าสู่โซนตั้งบ้านเรือน

“น้ำในเหมืองฝายมาจากลำน้ำปอน ปัจจุบันมีอยู่ 4 เหมือง คือเหมืองหลวง เหมืองกลาง เหมืองยาง และฝายนาดอย โดยมีผู้ดูแลและบริหารจัดการน้ำ เรียกว่า ‘แก่ฝาย’ คอยทำความสะอาดฝายก่อนที่จะลงนา รวมถึงเป็นผู้จัดสรรน้ำเข้านาแต่ละบ้าน รวมทั้งเป็นผู้นำในการประกอบพิธีกรรม คือการเลี้ยงผีฝาย โดยชาวบ้านแต่ละครัวเรือนจะต้องเสียค่าธรรมเนียมให้แก่ฝาย 1 ควาย หรือ 26 กิโลกรัม ต่อผลผลิตข้าว 10 หลัง หรือ 1,040 กิโลกรัม และในกรณีที่แก่ฝายเรียกชาวบ้านให้มาช่วยทำความสะอาดฝาย ชาวบ้านทุกคนต้องมา หากไม่มาจะถูกปรับ 200 บาท” สุวิทย์อธิบาย

ทุกวันนี้ยังคงมีแก่ฝาย ดำรงตำแหน่งวาระละ 3 ปี โดยเลือกจากชาวบ้านที่ทำนา และใช้น้ำจากลำเหมือง จำนวนราว 125 คน ซึ่งในจำนวนนี้ มีผู้ใช้น้ำจากเหมืองหลวงราว 40 คน เหมืองกลางราว 40 คน เหมืองยางราว 30 คน และฝายนาดอยราว 15 คน โดยสมาชิกส่วนใหญ่จะอยู่ในบ้านเมืองปอนหมู่ที่ 1 และ 2 เป็นหลัก และจากบ้านป่าฝางหมู่ที่ 4 บ้างประปราย

“ระบบเหมืองฝายเป็นสิ่งที่ชาวบ้านภูมิใจ ด้วยสร้างความเป็นอยู่ สร้างความชุ่มชื้น และทำให้เมืองสวยงามแตกต่าง ที่ผ่านมามีหลายหน่วยงาน พยายามเข้ามาบริหารจัดการแทน แต่ชาวบ้านไม่ยอม เพราะสิ่งที่ทำอยู่นั้นดีอยู่แล้ว ถ้ามาเปลี่ยน ระบบภูมิปัญญาดั้งเดิมจะสูญหาย” สุวิทย์ทิ้งท้าย…