กลุ่มทอผ้าลายเก็บจก หมู่ 7

08-02resized

หญิงสูงวัยหลายสิบชีวิต นั่งเย็บลายผ้ากันอย่างขะมักเขม้น ที่เบื้องหน้ามีเสื้อทอตัวงามเรียงรายอยู่เต็มไปหมด เมื่อเข้าไปพูดคุยและสัมผัสใกล้ๆ จึงทราบว่าพวกเธอกำลังเย็บชิ้นลายผ้าเหล่านี้เพื่อไปปะติดกับเสื้อเหล่านั้น เป็นเสื้อพื้นเมืองลายภูไทดั้งเดิม ของดีของเด่นประจำตำบล

เกือบ 30 ปีที่พวกคุณยายมานั่งทำเสื้อเย็บมือแบบนี้ ใครจะเชื่อว่าวันนี้เสื้อเย็บมือลายภูไทของคุณยายจะกลายเป็นชื่อเสียงเป็นหน้าเป็นตาของตำบล นำชื่อเสียงกลับมายังตำบลเล็กๆ แห่งนี้ไม่รู้สิ้น ตลอดจนรักษาวัฒนธรรมประเพณีดั้งเดิมของพวกเขาไว้อย่างยั่งยืน

กอง แสบงบาล ประธานกลุ่มทอผ้าลายเย็บจก แห่งตำบลเหล่าใหญ่ อำเภอกุฉินารายณ์ จังหวัดกาฬสินธุ์ เล่าให้ฟังว่า กลุ่มเริ่มต้นขึ้นเมื่อปี 2529 ด้วยแรงยุของพัฒนาชุมชนอำเภอที่อยากจะรวมกลุ่มชาวบ้านเพื่อทำกิจกรรม ซึ่งตอนนั้นพวกเธอมีความคิดที่จะใช้ภูมิปัญญาด้านการทอผ้าเพื่อสร้างรายได้ จึงได้มีการรวมกลุ่มกันขึ้น

เริ่มแรกมีสมาชิกอยู่ทั้งหมด 49 คน ส่วนใหญ่ทอผ้ากันเป็นทุกคนอยู่แล้ว เพราะตามความเชื่อของคนภูไทคือ หากผู้หญิงคนไหนทอผ้าไม่เป็นจะไม่มีผู้ชายมาขอ ทำให้ทุกคนต้องฝึกการทอผ้าทุกกระบวน ตั้งแต่ปลูกฝ้าย อิ้วฝ้าย เข็นให้เป็นเส้น ชุบน้ำข้าว เอามาตากแดด เอามากวัก ขดใส่มือ ทำให้เป็นเครือ แล้วก็ทอเป็นผืน จนสุดท้ายคือการตัดผ้า เป็นเสื้อภูไทโบราณ เสื้อภูไทประยุกต์ เสื้อเย็บมือ

“เริ่มต้นมีการลงหุ้น หุ้นละ 20 บาท คนหนึ่งถือได้ไม่เกิน 5 หุ้น ขณะเดียวกันยังได้รับเงินสนับสนุนจากภาคส่วนต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นอดีตพระภาวนาพุทโธ ให้เงินช่วยเหลือ 2,000 บาท ซึ่งทางกลุ่มได้นำมารวมกับหุ้นเริ่มต้น แล้วนำไปซื้อฝ้ายเพื่อจัดสรรในกลุ่ม ขณะที่พัฒนาชุมชนอำเภอ โดย ดร.นำใจ อุทรักษ์ ได้ช่วยสนับสนุนฝ้ายสำหรับทอผ้าเช่นกัน แถมยังช่วยหาตลาดให้ อย่างไรก็ดีการลงทุนครั้งแรกนั้นยังไม่มีการปันผลออกมาให้สมาชิก เพราะถือว่าเป็นจุดตั้งต้นที่ทุกคนต้องช่วยเหลือกัน” ยายกองว่า

จนกระทั่งต่อมา เมื่อระบบเข้าที่เข้าทาง กลุ่มจึงใช้วิธีรับซื้อคืนจากชาวบ้าน คือเอาไปทอเท่าไร ก็ส่งคืนมาเท่านั้น โดยมีการบวกลบกำไรไว้ในกระบวนการแล้ว เช่น ปัจจุบันทางกลุ่มนำผ้าให้สมาชิกคนละ 10 มัด ต้นทุน 1,500 บาท ชาวบ้านสามารถถักผ้าได้ประมาณ 31 เมตร ชาวบ้านก็นำไปขายคืนให้กลุ่ม เมตรละ 80 บาท เท่ากับชาวบ้านจะได้เงินคืนกลับมา 980 บาท ส่วนกลุ่มก็นำผ้าไปขายเมตรละ 90 บาท

นอกจากกระบวนการทอแล้ว กลุ่มยังมีการเย็บลาย โดยเฉพาะผ้าลายเก็บจก ซึ่งขึ้นชื่อว่าเป็นของดีประจำกาฬสินธุ์ โดยทุกวันนี้ทางกลุ่มจะจ้างสมาชิกให้เย็บลายตัวละ 400 บาท ซึ่งโดยปกติแล้วเดือนหนึ่งสมาชิกจะทำได้เฉลี่ย 3-4 ตัว และในกรณีที่สมาชิกขึ้นทรงเสื้อให้พร้อมเย็บลาย จะได้เงิน 520 บาท

สำหรับสินค้าที่ขายทุกวันนี้ ไตร แสงเพชร และ สิม ยอดยศ สองกรรมการกลุ่มบอกว่ามีหลายประเภท ไม่ว่าจะเป็นเสื้อทอแขนสั้นตัวละ 850 บาท เสื้อทอแขนยาวตัวละ 900 บาท มีสไบ ผ้าขาวม้า หมอน รวมไปถึงลายผ้าเก็บจก โดยสินค้าหลายชิ้นได้รับดาว OTOP ทั้งสไบแพรวา เสื้อเย็บภูไทได้ 4 ดาว ผ้าฝ้ายมัดหมี่ ผ้าห่มสี่ตะกอ และผ้าขาวม้าได้ 3 ดาว สินค้าทั้งหมดขายที่กลุ่ม รวมไปถึงออกงาน OTOP เทศบาลตำบล และโรงเรียนต่างๆ ยามมีงาน

ขณะเดียวกันทางกลุ่มก็พยายามสร้างเครือข่ายพันธมิตรไปในหมู่อื่นๆ เพื่อพัฒนาและสานภูมิปัญญานี้ให้คงอยู่สืบต่อไป ไม่ว่าจะเป็นการจัดอบรมร่วมกับธนาคารออมสินให้ชาวบ้านทั้ง 12 หมู่บ้าน หมู่ละ 5-6 คน และปัจจุบันก็มีหลายกลุ่มที่เติบโตไม่แพ้กลุ่มของยายกอง เช่น กลุ่มทอผ้าในหมู่ที่ 1

ปัจจุบัน กลุ่มทอผ้าลายเก็บจก บ้านเหล่าใหญ่ หมู่ที่ 7 มีสมาชิกอยู่ทั้งสิ้น 70 คน มีทุนหมุนเวียนอยู่ประมาณ 80,000 บาทมีการปันผลกระจายรายได้เป็นประจำทุกปี โดยแบ่งเป็นกรรมการร้อยละ 10 ผู้ขายสินค้าร้อยละ 25 ปันผลหุ้นร้อยละ 20 เป็นทุนสำรองร้อยละ 20 เข้ากองทุนสวัสดิการออมวันละบาทร้อยละ 10 เฉลี่ยคืนร้อยละ 10 และเป็นค่าสวัสดิการต่างๆ อีกร้อยละ 5

นอกจากนี้ยังมีการตั้งกลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิต ซึ่งก่อตั้งขึ้นมาตั้งแต่ปี 2530 โดยสมาชิกกลุ่มทั้งหมดจะต้องฝากเงินเดือนละ 10 บาทต่อเนื่องกัน 5 ปี พอครบก็จะนำเงินต้นและดอกเบี้ยมาแบ่งสรรปัน จากนั้นก็เริ่มต้นออมใหม่ ซึ่งแม้จะไม่มีการต่อยอดเพิ่มเติม แต่ก็เป็นกระบวนการสร้างนิสัยการออมและการใช้เงินอย่างรู้คุณค่าได้เป็นอย่างดี…