ปัญหาสุขภาพในชุมชนชนบทนั้น ลำพังเพียงโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) คงไม่อาจดูแลได้ทั่วถึง ในขณะที่กระบวนการของ อสม. ก็เป็นส่วนหนึ่งที่สามารถตอบโจทย์การเป็นหูเป็นตาให้ รพ.สต. อีกทางหนึ่ง ตำบลเหล่าใหญ่เห็นว่า สิ่งที่มีอยู่อาจไม่พอ คงจะดีกว่าถ้ามีกลุ่มองค์กรที่เข้ามาช่วยเหลือดูแลผู้ป่วย ผู้ด้อยโอกาสเต็มกำลัง
ต้นสายปลายเหตุนั้นคือกลุ่มคนผู้มีอาการทางจิต ไม่สามารถออกสู่สังคม ต้องถูกล่ามโซ่อยู่กับบ้าน อีกส่วนหนึ่งคือเป็นโรคติดต่อร้ายแรง และเกิดเป็นความแค้นสังคม อยากแพร่โรคนี้สู่วงกว้าง อีกกลุ่มคือผู้ป่วยติดเตียง
ปานแก้ว แสบงบาล ผู้อำนวยการกองสาธารณสุขและสิ่งแวดล้อม เทศบาลตำบลเหล่าใหญ่ ย้อนความให้ฟังว่า ในปี 2551 มีคนไข้จิตเวชอยู่คนหนึ่งไม่ยอมกินยา จนสามีทนไม่ได้ หนีไปมีครอบครัวใหม่ หลังจากนั้นอีกไม่นาน ยังกลับมาพาลูกหนีไป เพราะกลัวว่าแม่จะทำอันตราย เหลือเพียงเธอกับพ่อที่ตาบอดอยู่กัน 2 คน ต่อมาน้องชายเห็นท่าไม่ดี เลยแยกคุณพ่อออกมาอยู่กับตัวแทน แต่ทุกวันเธอยังต้องออกจากบ้านไปกินข้าวกับพ่อ
ปานแก้วซึ่งสังเกตมาพักใหญ่ พอปี 2552 ปีเดียวกับการยกฐานะเป็นเทศบาลตำบล เธอจึงชี้เป้าให้ ฤทธิรงค์ ซองศิริ นายกเทศมนตรีในเวลานั้นเห็นว่า พื้นที่มีปัญหาแบบนี้อยู่ และที่ผ่านมาเคยมีกรณีผู้ป่วยจิตเวชทำร้ายคนในครอบครัวจนตาย อดีตนายกฯ จึงสั่งให้สำรวจพื้นที่ว่า มีผู้ป่วยที่ขาดการดูแลต่อเนื่องมากน้อยแค่ไหน
“ความจริงที่พบก็น่าตกใจ มีคนป่วยถูกล่ามโซ่ คนพิการนอนตลอดจนเป็นแผลกดทับ คนเป็นโรคเอดส์ ผู้ป่วยเรื้อรัง สรุปรวบยอดแล้วได้ประมาณ 150 คน เลยมีการนิยามให้คนกลุ่มนี้เป็นผู้ด้อยโอกาสทางสังคม แต่เนื่องจากจำนวนนี้มีเยอะเกินไป จึงตัดคนที่มีฐานะ และครอบครัวยังคอยดูแลอยู่ หรือผู้ป่วยที่ไม่มีอาการรุนแรง ได้ยอดเหลือ 127 คน จากนั้นก็ทำเรื่องของบประมาณสนับสนุนไปยังสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างสุขภาพ (สสส.) ได้งบมาทั้งสิ้น 100,000 บาท” ปานแก้วเล่า
เพื่อให้ทุกคนได้เห็นภาพที่ชัดเจนขึ้น ปานแก้วจึงเสนอความคิด โดยการเชิญคนกลุ่มใหญ่ ทั้งระดับบน ระดับล่างมาร่วมกันหารือ ทั้งกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน พัฒนาชุมชนอำเภอ โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล และทีมงานจากโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชกุฉินารายณ์ ซึ่งมีกลุ่มสหวิชาชีพที่โดดเด่น ซึ่งรวมพยาบาลวิชาชีพ นักกายภาพบำบัด เภสัชกร ไว้ด้วยกันในนาม ‘ทีมไม้เลื้อย’ ร่วมลงพื้นที่สำรวจปัญหาที่เกิดขึ้นทุกจุดในตำบล
“เวลาออกเยี่ยม เราจะมี อสม. กับผู้ใหญ่บ้านประจำตามหมู่บ้านต่างๆ จากนั้น นายกเทศมนตรี ปลัดเทศบาล ผอ.กองสาธารณสุขฯ พัฒนาชุมชน รวมไปถึงทีมไม้เลื้อย ก็จะออกเยี่ยมเพื่อดูว่าปัญหาคืออะไร แล้วทางทีมไม้เลื่อยก็จะเป็นผู้ประเมินว่าควรรักษาแบบไหน ต้องดูแลอย่างไร จากนั้นเราก็ประกาศรับสมัครจิตอาสา จาก อสม. เพื่อทำหน้าที่รักษาพยาบาล โดยทางทีมไม้เลื้อยจะเข้ามาเป็นพี่เลี้ยง เข้ามาดูสัปดาห์ละ 2 ครั้ง คือที่รพ.สต.เหล่าใหญ่ทุกวันจันทร์ และ รพ.สต.กุดฝั่งแดงทุกวันศุกร์” ปานแก้วขยายความ
ทั้งนี้ การรักษาจะมีการคอยดูอาการอย่างต่อเนื่อง พร้อมฝึกอบรมสมาชิกในครอบครัวให้รู้จักวิธีช่วยเหลือผู้ป่วยไปด้วย โดยหากผู้ป่วยคนไหนอาการทุเลาและน่าไว้วางใจ ทางโครงการจะคัดรายชื่อออกไป และใส่ชื่อผู้ป่วยคนใหม่เข้ามาแทน เพราะมีผู้ป่วยหรือคนพิการเกิดขึ้นตลอด เช่น บางคนประสบอุบัติเหตุ บางครั้งเป็นโรคขึ้นมาช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ แต่ด้วยข้อจำกัดตามงบประมาณ ที่จัดสรรสำหรับการออกเยี่ยมเพียง 30,000 บาท ทำให้ต้องมีการหมุนเวียน กระจายโอกาสกันไป แต่ทั้งนี้ก็ไม่ได้หมายความว่าทางกลุ่มไทเหล่าใหญ่ฯ จะทอดทิ้งไปเลย เพราะยังมีการแวะเวียนและตรวจเยี่ยมกลุ่มผู้ป่วยเก่าตลอดเวลา เพียงแต่ไม่ได้อยู่ในงบรายจ่ายเท่านั้นเอง