‘กองทุนขยะ’ สวัสดิการที่สร้างได้ของชาวตำบลผึ่งแดด

‘กองทุนขยะ’ สวัสดิการที่สร้างได้ของชาวตำบลผึ่งแดด

.

ใครจะเชื่อว่า ‘ขยะ’ ที่เคยถูกมองว่าไร้ค่า ไร้ประโยชน์ ไม่น่าเข้าใกล้ แต่ ณ วันนี้ขยะที่น่ารังเกียจได้กลายมาเป็นแหล่งขุมทรัพย์ที่สำคัญในการจัดตั้งกองทุนสวัสดิการและกิจกรรมอีกหลากหลายรูปแบบของชาวตำบลผึ่งแดด สร้างทั้งรายได้และหลักประกันในชีวิตให้แก่ผู้สูงอายุและผู้ยากไร้ในชุมชน ที่สำคัญยังนำไปสู่การมีคุณภาพชีวิตที่ดี สิ่งแวดล้อมน่าอยู่ ปลอดโรค ปลอดมลพิษ

.

ก่อนจะเดินมาถึงจุดนี้ได้ ชัญญาภัค สุวรรณดี หัวหน้าสำนักปลัด สำนักงานเทศบาลตำบลผึ่งแดด อำเภอเมืองมุกดาหาร จังหวัดมุกดาหาร เล่าย้อนให้ฟังว่า ที่ผ่านมาตำบลผึ่งแดดมีปริมาณขยะเพิ่มขึ้นทุกปี แทบทุกครัวเรือนไม่ได้มีการคัดแยกและจัดการขยะอย่างเป็นระบบ โดยจะทิ้งขยะทุกประเภทรวมกันในถัง กลายเป็นภาระที่รถเก็บขยะของเทศบาลต้องขนไปทิ้งที่บ่อขยะในเขตอำเภอเมือง ซึ่งอยู่ห่างออกไปถึง 25 กิโลเมตร ขณะเดียวกันก็ต้องมีการจ่ายค่าธรรมเนียมขยะตันละประมาณ 750 บาท

.

ชัญญาภัค ให้ข้อมูลว่า ตำบลผึ่งแดดประกอบไปด้วยหมู่บ้านทั้งสิ้น 13 หมู่บ้าน มีประชากร 5,560 คน 1,544 ครัวเรือน โดยรถเก็บขยะของเทศบาลจะมีตารางเวลาในการจัดเก็บขยะทุกวันจันทร์ พุธ ศุกร์ แต่ด้วยเหตุที่ปริมาณขยะเพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่อง ทำให้ต้องเพิ่มตารางการทำงานอีกวันคือวันอังคาร

.

“เมื่อสถานการณ์เป็นแบบนี้ และพฤติกรรมการทิ้งขยะของคนในตำบลยังไม่เปลี่ยนแปลง หากปล่อยให้เป็นแบบนี้ต่อไปก็จะเกิดปัญหาตามมาแน่นอน ทางเทศบาลตำบลผึ่งแดดจึงคิดหาแนวทางในการจัดการขยะ ประกอบกับทางจังหวัดได้ประกาศนโยบายจังหวัดสะอาด และในระดับอำเภอก็มีการขานรับนโยบายนี้และส่งต่อมายังระดับปฏิบัติการอย่างท้องถิ่น”

.

จากจุดเริ่มต้นของแนวคิดนี้ เทศบาลตำบลผึ่งแดดจึงได้ดำเนินการเชิงรุกด้วยกิจกรรมที่หลากหลาย โดยมีการรณรงค์แบบครบวงจร ทั้งสื่อประชาสัมพันธ์ แผ่นพับ และสื่อออนไลน์ เพื่อสร้างจิตสำนึกในการจัดการขยะให้กับคนในชุมชน จัดให้มีการประกวดหมู่บ้านต้นแบบ มีแหล่งเรียนรู้ในการใช้ขยะอินทรีย์ปลูกผัก และมีการส่งเสริมการเรียนรู้ตั้งแต่เด็กปฐมวัยในศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก นอกจากนี้ยังมีกิจกรรมผ้าป่าขยะรีไซเคิล และมีสิ่งประดิษฐ์ที่เป็นนวัตกรรมของคนในพื้นที่ เช่น ชุดรับแขกจากยางรถยนต์ การผลิตสื่อการเรียนการสอนสำหรับเด็กปฐมวัยด้วยฝาขวดน้ำพลาสติก กระเป๋าจากน้ำยาปรับผ้านุ่ม ตะกร้าจากกระป๋องอะลูมิเนียม รวมไปถึงผลิตภัณฑ์จากขยะโดยโรงเรียนผู้สูงอายุ ตลอดจนเปิดตลาดนัดรีไซเคิลในสัปดาห์สุดท้ายของทุกเดือน ตั้งแต่วันจันทร์ถึงวันศุกร์ บริเวณศาลาอเนกประสงค์ ลานวัด หรือจุดศูนย์กลางหมู่บ้าน

.

สำหรับการออกแบบกระบวนการในการจัดการปัญหาขยะนั้น หัวหน้าสำนักปลัดเล่าว่า ทางเทศบาลเริ่มจากการทำประชาคมเพื่อรับฟังความคิดเห็นของประชาชน และการให้ความรู้ในเรื่องการจัดการขยะก่อนเป็นเบื้องต้น พร้อมกับจัดกิจกรรมสร้างการมีส่วนร่วมของชาวบ้านในการคัดแยกขยะตั้งแต่ต้นทาง ภายใต้บันทึกข้อตกลงระหว่างผู้นำชุมชนและหัวหน้าหน่วยงานในพื้นที่ เพื่อขับเคลื่อนกลไกการแก้ไขปัญหาขยะร่วมกัน รวมทั้งมีการตั้งคณะทำงานด้านการบริหารจัดการขยะมูลฝอยชุมชนระดับตำบลอีกด้วย

.

ปี 2561 ถือเป็นการดำเนินการในระยะแรกที่ท้องถิ่นได้มีการจัดตั้ง ‘กองทุนขยะ’ ขึ้น โดยสมาชิกกองทุนจะได้รับสวัสดิการเป็นค่าฌาปนกิจศพในอัตรา 20 บาทต่อราย คูณด้วยจำนวนสมาชิกที่มีสิทธิ์รับเงินสงเคราะห์ฌาปนกิจศพในเดือนนั้น โดยจะหักจากสมุดคู่ฝากกองทุนขยะตำบลผึ่งแดดของสมาชิก

.

“ระบบสวัสดิการของกองทุนขยะคือ ต้องเป็นสมาชิกอย่างน้อย 3 เดือน ขายฝากขยะอย่างต่อเนื่องติดต่อกันไม่น้อยกว่า 3 เดือน หากหยุดขายเกิน 2 เดือน จะขาดสิทธิ์รับเงินค่าฌาปนกิจศพ ซึ่งหลังจากมีการจัดตั้งกองทุนขยะขึ้นมาแล้ว สิ่งที่เราเห็นชัดเจนคือ มีการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมทิ้งขยะอย่างได้ผล ชาวบ้านตื่นตัวในการคัดแยกขยะกันมาก เพราะเขาสามารถนำขยะรีไซเคิลมาขายได้และเก็บเงินไว้ในสมุดคู่ฝาก แล้วยังได้รับสวัสดิการฌาปนกิจศพ ซึ่งปัจจุบันจะได้เงินสงเคราะห์เฉลี่ยรายละ 6,000 บาท พร้อมพัดลมอีก 1 ตัว”

ชัญญาภัค กล่าวว่า ขั้นตอนการทำงานของกองทุนขยะจะมีเจ้าหน้าที่เทศบาลออกไปรับซื้อขยะในช่วงปลายเดือน จากนั้นชาวบ้านจะนำขยะรีไซเคิลที่ได้จากการคัดแยกมาขายและเก็บเงินไว้ในสมุดบัญชี วิธีการเช่นนี้ยังช่วยให้คนยากไร้ในชุมชนมีโอกาสเข้าถึงสวัสดิการกองทุนได้ รวมถึงกลุ่มผู้สูงอายุที่อยู่ติดบ้าน ซึ่งสามารถใช้เวลาว่างในการคัดแยกขยะในครัวเรือนและนำมาขายได้เป็นเงินสะสม และยังได้ประโยชน์จากเงินสงเคราะห์ฌาปนกิจศพด้วย

.

เธอระบุด้วยว่า ในส่วนของการจัดการขยะอันตรายนั้น ทางเทศบาลจะมีจุดจัดเก็บในทุกหมู่บ้าน โดยใช้ถังขยะสีดำพร้อมสัญลักษณ์รูปหัวกะโหลกสีแดงตั้งไว้ที่ศาลาหมู่บ้าน จากนั้นเทศบาลจะเก็บรวบรวมและส่งต่อให้ อบจ. นำไปกำจัดต่อไป

“ในส่วนของขยะอินทรีย์นั้น เทศบาลได้จัดให้มีถังขยะฝังดินตั้งแต่ปี 2562-2563 ตามแนวทางที่กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น กระทรวงมหาดไทย เข้ามาสนับสนุนให้ทุกครัวเรือนมีถังขยะฝังดิน ซึ่งวิธีการนี้จะช่วยให้สามารถนำเศษอาหาร เศษผักผลไม้ต่าง ๆ ไปใช้ประโยชน์ได้ เช่น ผลิตปุ๋ยหมัก น้ำหมัก หรือนำไปเลี้ยงไส้เดือน สร้างรายได้ให้กับกลุ่มโรงเรียนผู้สูงอายุและถือเป็นสินค้าขายดีเมื่อมีคณะเข้ามาดูงาน”

.

ชัญญาภัค บอกอีกว่า ผลิตผลที่ได้จากขยะอินทรีย์ นอกจากจะช่วยให้ชาวบ้านมีรายได้แล้ว ยังเกิดการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในการทำเกษตร คือเปลี่ยนจากการใช้ปุ๋ยเคมีมาเป็นปุ๋ยอินทรีย์กันมากขึ้น โดยเทศบาลได้สนับสนุนให้มีการใช้ถังหมักเศษอาหารเพื่อผลิตปุ๋ยอินทรีย์ สร้างวงจรอาหารปลอดภัย ลดการใช้สารเคมี และช่วยให้ประชาชนได้รับประทานผักปลอดสารพิษ ซึ่งส่งผลดีต่อสุขภาพเป็นอย่างมาก

ขณะเดียวกัน เทศบาลตำบลผึ่งแดดได้มีการพัฒนาศูนย์เรียนรู้โรงเพาะเลี้ยงหนอนแมลงวันลาย โดยร่วมมือกับมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ซึ่งถือเป็นการจัดการขยะอินทรีย์ด้วยวิธีธรรมชาติ สร้างรายได้ให้ชุมชนอีกทางหนึ่ง

.

“หนอนแมลงวันลาย 1 ตัว มีคุณค่าเท่ากับโปรตีนไข่ 5 ฟอง สามารถนำไปเลี้ยงปลา เลี้ยงไก่ ลดการซื้อหัวอาหารได้ ซึ่งขณะนี้โครงการมีความคืบหน้าไปแล้วกว่า 60 เปอร์เซ็นต์ และมีครัวเรือนต้นแบบ 30 ครัวเรือน เป็นพื้นที่นำร่อง นอกจากนี้ยังได้มอบถังขยะอินทรีย์ให้หน่วยราชการในพื้นที่และร้านจำหน่ายอาหาร เพื่อสร้างความร่วมมือกันในการลดปริมาณขยะอินทรีย์”

.

ชัญญาภัค เล่าต่อว่า ในช่วงสถานการณ์ COVID-19 ที่ผ่านมา เทศบาลตำบลผึ่งแดดพยายามลดปริมาณขยะทุกรูปแบบเท่าที่ทำได้ เช่น การส่งอาหารไปโรงเรียนจะไม่ใช้ถุงพลาสติก แต่ใช้กล่องอาหารแทน ซึ่งสามารถลดการใช้ถุงพลาสติกได้นับหมื่นใบ ขณะเดียวกันมีการนำขยะรีไซเคิล เช่น นำยางรถยนต์มาทำเป็นอ่างล้างมือ เป็นต้น

“ผลจากมาตรการจัดการขยะของเทศบาล นอกจากจะช่วยลดปริมาณขยะได้แล้ว ยังเกิดการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของชาวบ้านในการทิ้งขยะ และเรายังพบอีกว่า สถิติการเกิดโรคระบาดที่มีสาเหตุจากขยะ เช่น ไข้เลือดออก อหิวาตกโรค ตัวเลขของผู้ป่วยในตำบลผึ่งแดดเป็นศูนย์ นับตั้งแต่เริ่มมีการจัดการขยะอย่างครบวงจร ซึ่งถือว่าประสบความสำเร็จเป็นอย่างดี และเรายังได้รับรางวัลองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่มีผลการปฏิบัติงานดีเด่น ประจำปี 2561 ในด้านสิ่งแวดล้อม รางวัล ZERO WASTE ชุมชนปลอดขยะ บ้านกกบก หมู่ที่ 9 และล่าสุดคือรางวัลจากศูนย์อนามัยที่ 10 จังหวัดอุบลราชธานี ในเรื่องการจัดการขยะในวิกฤติโควิด” ชัญญาภัค ระบุ

.

ความสำเร็จทั้งหมดนี้ย่อมไม่อาจเกิดขึ้นได้ หากไม่ใช่เพราะการร่วมมือร่วมใจกันของประชาชนในพื้นที่ โดยมีเทศบาลทำหน้าที่ส่งเสริมสนับสนุน สร้างความรู้ความเข้าใจ และสร้างการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนอย่างทั่วถึง และก้าวต่อไปคือการติดตาม พัฒนา และยกระดับการจัดการขยะให้มีความต่อเนื่องและยั่งยืน

.

#เครือข่ายร่วมสร้างชุมชนท้องถิ่นน่าอยู่

#ชุมชนเข้มแข็ง

#สสส