ว่าด้วยงานศพ ไม่ว่าจะศาสนาใด ก็ใช้จ่ายเงินกันไม่น้อยทั้งนั้น ผู้สูงอายุที่ตะปอเยาะเล็งเห็นความจริงในข้อนี้ เลยรวมตัวกันเพื่อเตรียมความพร้อมให้แก่งานศพของตัวเอง
วาเฮง มะกาเจ เหรัญญิกกองทุนจัดการศพผู้สูงอายุ ตำบลตะปอเยาะ และ คอลีเย๊าะ กาเดย์ นักพัฒนาชุมชน อบต.ตะปอเยาะ ในฐานะผู้ประสานงานกองทุนฯ เล่าให้ฟังถึง ที่มาที่ไปของกลุ่มนี้ว่า ปกติผู้สูงอายุจะได้เงินช่วยเหลือจากรัฐเป็นประจำทุกเดือน เพราะฉะนั้นจึงได้มีการหักเงินจำนวนนี้ปีละ 200 บาท เพื่อเป็นกองกลาง หรือเงินช่วยเหลือในงานศพ โดยก่อตั้งเป็นกองทุนฯ เมื่อวันที่ 25 กันยายน 2550 มีสมาชิกเริ่มแรก 522 คน
“ทาง อบต.มีโครงการอบรมพัฒนาคุณภาพผู้สูงอายุทุกเดือนเมษายน แล้วผู้สูงอายุจะออกมา ก็เก็บเงิน 200 บาททีเดียวในวันนั้นเลย” คอลีเย๊าะกล่าว
สำหรับการจ่ายเงินนั้น ทางกองทุนฯ จะนำเงินสดให้ญาติผู้เสียชีวิตเลย โดยจ่ายให้ศพละ 5,000 บาท จากเดิมที่ให้ 4,000 บาท เพราะยอดสมาชิกผู้สูงอายุเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เป็น 997 คน หรือมากถึงร้อยละ 90 ของจำนวนผู้สูงอายุทั้งหมด โดยปัจจุบันมีเงินหมุนเวียนอยู่ประมาณ 190,000 บาท
ในงานศพตามธรรมเนียมอิสลามจะมีขั้นตอนค่อนข้างมาก ตั้งแต่แจ้งญาติ แจ้งผู้นำศาสนา แจ้งผู้นำพื้นที่ให้มาที่บ้าน แล้วยังต้องคำนวณเวลา เพราะต้องจัดการให้แล้วเสร็จใน 24 ชั่วโมง เตรียมชุดห่อศพ ทั้งสำลี ผ้าขาว เพื่อทำความสะอาดศพ จากนั้นห่อผ้าขาว นำศพไปที่มัสยิด แล้วละหมาดให้กับผู้เสียชีวิตเป็นครั้งสุดท้าย เมื่อเสร็จจึงนำไปไว้ที่กุโบร์
หลายครั้งเจ้าภาพต้องให้สินน้ำใจ อย่างคนมาละหมาดให้ เจ้าภาพก็เตรียมเงินใส่ซอง 20 บาทบ้าง 50 บาทบ้าง หรือ 100 บาทบ้างตามฐานะของแต่ละครอบครัว แล้วยังต้องให้ข้าวสาร 1 ลิตร ไข่ 2 ฟอง แก่ทุกคนที่มา อย่างไรก็ดี ทาง อบต. ก็เข้ามาช่วยสนับสนุนเป็นบางเรื่อง เช่น ให้ข้าวสาร 1 กระสอบ รวมไปถึงพวกอุปกรณ์แต่งศพทั้งหลาย เช่น สำลี เครื่องหอม ผ้าขาว ไม้กระดาน
ปัจจุบันกองทุนค่าจัดการศพผู้สูงอายุ บริหารงานในรูปแบบของคณะกรรมการ 10 คน ซึ่งมาจากหมู่บ้านละ 2 คน โดยสมาชิกในแต่ละหมู่เลือกกรรมการโดยตรง เพื่อให้ได้คนที่ไว้วางใจมากที่สุด โดยกรรมการจะมีการประชุมกันทุก 2 เดือน เพื่อติดตามว่าในแต่ละเดือน กองทุนฯ มีความเคลื่อนไหว หรือมีปัญหาอะไรบ้าง เพราะโดยเฉลี่ยแล้ว 1 เดือนจะมีผู้เสียชีวิต ราวๆ 4 คน
ส่วนกระบวนการเบิกเงินนั้น กรรมการ 2 ใน 3 สามารถเบิกเงินมาเก็บได้ครั้งละ 20,000 บาท แต่ไม่เกิน 30,000 บาท โดยผู้ที่มีสิทธิมาขอรับ ได้แก่ คณะกรรมการชมรมผู้สูงอายุตำบลตะปอเยาะ คู่สมรสของผู้เสียชีวิต บุตรของผู้เสียชีวิต หลานหรือผู้ที่ดูแล และสมาชิกในท้องถิ่นหรือคณะผู้บริหาร โดยตามกฎแล้วต้องมีหลักฐาน ประกอบไปด้วยใบมรณะบัตรของผู้เสียชีวิต บัตรประชาชนของผู้ยื่นขอ แบบคำร้องขอเบิกเงิน
“ปัจจุบันเวลามีผู้เสียชีวิต กรรมการกองทุนจะรีบไปที่บ้านนั้นทันที เพื่อนำเงินค่าศพนี้ไปมอบให้ เพื่อเขาจะได้มีเวลาจัดการซื้อของ เตรียมงานได้ทันที” คอลีเย๊าะทิ้งท้าย…