งัดกลยุทธ์เคาะประตูบ้าน ชวนกลุ่มเสี่ยง-ผู้สูงอายุฉีดวัคซีนโควิด

กลยุทธ์เคาะประตูบ้านได้ผล ช่วยเพิ่มจำนวนผู้ต้องการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 หลังชุมชนท้องถิ่นในจังหวัดขอนแก่นและมหาสารคามเผย ได้ผนึกกำลัง 4 องค์กรหลัก ปูพรมลงพื้นที่เข้าถึงตัวกลุ่มเสี่ยงและผู้สูงอายุ ให้ความรู้ สร้างความเข้าใจที่ถูกต้อง

เมื่อวันที่ 13 พฤษภาคม 2564 ที่ผ่านมา สำนักสนับสนุนสุขภาวะชุมชน (สำนัก 3)  สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ สสส. จัดเสวนาออนไลน์หัวข้อ “ชุมชนท้องถิ่น รู้รับ ปรับตัว  สู้ภัยโควิด-19” ผ่านเฟสบุ๊คเพจ “สุขภาวะชุมชน”  โดยมีผู้นำองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจากภาคอีสานตอนบนเข้าร่วมเสวนา ประกอบด้วย นางอรอนงค์ รังวิเศษ ปลัดเทศบาลตำบลวาปีปทุม อ.วาปีปทุม จ.มหาสารคาม, นายมนตรี กูดอั้ว ปลัดเทศบาลตำบลโนนฆ้อง อ.บ้านฝาง จ.ขอนแก่น และ นางอัญชนา เตชะอำนวยวิทย์ ผู้อำนวยการกองสาธารณสุข เทศบาลตำบลบ้านแฮด อ.บ้านแฮด จ.ขอนแก่น ดำเนินการเสวนาโดย น.ส.ดวงพร เฮงบุณยพันธ์ ผู้ช่วยผู้จัดการอาวุโสกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และรักษาการผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะชุมชน (สำนัก 3 ) และ รศ.ดร ขนิษฐา นันทบุตร ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและพัฒนาระบบสุขภาพชุมชน คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น

ในช่วงแรกผู้ร่วมเสวนาได้แลกเปลี่ยนถึงมาตรการการรู้รับ ปรับตัว ต่อการระบาดของเชื้อโควิด-19 ในครั้งนี้ โดยองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นแต่ละพื้นที่ต่างยกระดับความเข้มข้นของมาตรการต่างๆ ทั้งการคัดกรองคนเข้าออกพื้นที่ การสร้างความรู้ความเข้าใจให้กับคนในชุมชน ด้วยสื่อประชาสัมพันธ์ที่หลากหลาย ทำให้แต่ละพื้นที่สามารถดูแลจัดการได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะการสร้างการมีส่วนร่วมผ่าน 4 องค์กรหลัก ซึ่งทำงานได้ผลเป็นที่น่าพอใจ จนแทบจะไม่มีผู้ติดเชื้อในพื้นที่เลย

ต่อมาผู้ดำเนินรายการได้ชวนผู้เข้าร่วมเสวนาแลกเปลี่ยนถึงสถานการณ์การเตรียมความพร้อมในการฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ในพื้นที่ ซึ่งแต่ละพื้นที่ต่างใช้มาตรการเชิงรุกโดยมี 4 องค์กรหลักจับมือกันทำงานร่วมกันอย่างเหนียวแน่นเหมือนเดิม ทั้งการประชาสัมพันธ์สร้างความรู้ความเข้าใจ อำนวยความสะดวกเรื่องการลงทะเบียน เตรียมพื้นที่รองรับการฉีดวัคซีน ให้เป็นไปตามมาตรการควบคุมโรค

นางอรอนงค์ รังวิเศษ ปลัดเทศบาลตำบลวาปีปทุม เปิดเผยว่า ในพื้นที่มี อสม.เพียง 6 ราย ที่ได้รับการฉีดวัคซีน ส่วนการลงทะเบียนฉีดวัคซีนทางเทศบาลฯได้เร่งประชาสัมพันธ์ให้กลุ่มโรคเรื้อรังทั้ง 7 โรค ได้ลงทะเบียนรับวัคซีนอย่างทั่วถึง โดยให้ทีม อสม.ลงพื้นที่เคาะประตูบ้าน พร้อมกับแจกแผ่นพับชุดความรู้และการปฏิบัติตัวเมื่อฉีดวัคซีน ตอนนี้คนในตำบลเริ่มตระหนักอยากได้วัคซีนมากยิ่งขึ้น แต่ก็ยังไม่ได้เริ่มฉีดวัคซีน

 

เช่นเดียวกับพื้นที่เทศบาลตำบลบ้านแฮด ใช้วิธีเคาะประตูบ้านเชิญชวนให้กลุ่มผู้สูงอายุและผู้ที่มีโรคประจำตัวลงทะเบียนรับวัคซีนจนผู้ลงทะเบียนเพิ่มจำนวนขึ้นมา โดย นางอัญชนา เตชะอำนวยวิทย์ ผู้อำนวยการกองสาธารณสุขเทศบาลตำบลบ้านแฮด เปิดเผยรายละเอียดว่า จากการสำรวจในเขตเทศบาลตำบลบ้านแฮดมีผู้สูงอายุและผู้ที่มีโรคประจำตัวมีจำนวน 1,831คน แต่พบคนลงทะเบียนขอรับวัคซีนประมาณ 200 คนเท่านั้น สาเหตุมาจากกลุ่มเป้าหมายเหล่านี้ไม่สามารถเข้าถึงแอพพลิเคชั่นที่ได้

“เราจึงให้ อสม.และบุคลากรของเรา เรียนรู้การใช้แอพพลิเคชั่น “หมอพร้อม” ให้ชำนาญ แล้วลงพื้นที่โดยใช้งบ สปชส. เคาะประตูบ้านพร้อมรถประชาสัมพันธ์ รณรงค์เชิญชวนให้ลงทะเบียนและให้ความรู้เกี่ยวกับวัคซีนว่ามีข้อดี-ข้อเสียอย่างไร ทางเจ้าหน้าที่ของเราจะลงพื้นที่ให้ได้เยอะที่สุด ครอบคลุมที่สุด อีกทั้งเชื่อว่าการระบาดของพื้นที่ใกล้เคียงเป็นตัวช่วยจุดประกายทำให้เกิดการตื่นตัวอยากฉีดวัคซีนได้ด้วย” ผู้อำนวยการกองสาธารณสุขเทศบาลตำบลบ้านแฮด กล่าว

ส่วน นายมนตรี กูดอั้ว ปลัดเทศบาลตำบลโนนฆ้อง ให้ข้อมูลว่า กลุ่มอสม.ของเทศบาลตำบลโนนฆ้องได้ฉีดวัคซีนเข็มแรกไปแล้ว และกลุ่มเสี่ยงโรคเรื้อรังก็ได้ลงทะเบียนรับวัคซีนถึงร้อยละ 70 โดยจะเริ่มฉีดในวันที่ 7 มิถุนายนนี้ ซึ่งทางเทศบาลได้จัดเตรียมความพร้อมเฝ้าระวังผลข้างเคียงที่อาจจะเกิดขึ้นเรียบร้อยแล้ว

“เรามีคณะทำงานสำหรับเรื่องนี้หลายคณะทำงาน อย่างชุดที่ทำโครงการเคาะประตูบ้าน ถือว่าสร้างความรู้ความเข้าใจให้กับคนในชุมชนได้ดี จนเป็นต้นแบบให้กับตำบลอื่นๆ ในจังหวัดขอนแก่น เพราะช่วงแรกคนจะให้ความสนใจลงทะเบียนน้อยมาก โดยเฉพาะ 7 กลุ่มเสี่ยงที่มีโรคประจำตัว เราต้องเข้าไปแนะนำให้ความรู้จนเกิดความเข้าใจ ทำให้มีผู้ลงทะเบียนเพิ่มมากขึ้น” ปลัดเทศบาลตำบลโนนฆ้อง กล่าว

ในช่วงท้ายของการเสวนา รศ.ดร.ขนิษฐา นันทบุตร กล่าวว่า ในแต่ละพื้นที่แต่ละชุมชนต่างมีความพร้อมในระบบเฝ้าระวังแล้ว ซึ่งหลังจากนี้จะต้องเป็นเรื่องของการรับมือกับการฟื้นฟูเศรษฐกิจ ฟื้นฟูสุขภาพของผู้ที่ได้รับผลกระทบ ว่าสามารถใช้ศักยภาพที่มี ใช้ข้อมูลชี้เป้าตรงๆ ว่าทำได้อย่างไร ซึ่งจะต้องนำมาแลกเปลี่ยนกันในระยะต่อไป

พร้อมกันนี้ น.ส.ดวงพร เฮงบุณยพันธ์ ได้กล่าวทิ้งท้ายในการเสวนาว่า “ฝากถึงผู้ที่มีอำนาจในการกำหนดนโยบายเราน่าจะนิ่งๆ ฟังปฏิบัติการจากชุมชนท้องถิ่นให้มากเพื่อที่จะทำให้นโยบายเราสอดเข้าไปให้ท้องถิ่นได้ลุกขึ้นมาจัดการตัวเอง”

 

#ชุมชนท้องถิ่น รู้รับ ปรับตัว