ในหลายพื้นที่มีปัญหาที่แตกต่างกันขึ้นอยู่กับบริบททางสังคม จังหวัดตากก็เช่นกัน การร่วมมือกันระหว่าง 4 องค์กรหลัก คือ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) องค์กรภาคประชาชน หน่วยงานรัฐในพื้นที่ และกำนัน ผู้ใหญ่บ้านในท้องที่ ทำให้เกิดโครงการต่างๆ ขึ้น ซึ่งเป็นการสร้างการมีส่วนร่วม สร้างการเรียนรู้ และทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในชุมชน
ปัญหาการจัดการขยะเป็นอีกหนึ่งปัญหาสำคัญที่ต้องมีการแก้ไขอย่างเร่งด่วน จึงเกิดเป็น “โครงการขยะเงินออม ขยะปลดหนี้” ที่ชักชวนให้ชาวบ้านร่วมกันคัดแยกขยะก่อนจะนำไปขาย ซึ่งสามารถนำเงินที่ได้จากการขายขยะมาหักลบกลบหนี้ในกองทุนต่างๆ ของหมู่บ้าน ทำให้ปัญหาขยะลดลงและยังสามารถสร้างรายได้เสริมให้กับชาวบ้านในชุมชนได้อีกด้วย
“โครงการอนุรักษ์และฟื้นฟูป่าชุมชน เพื่อความมั่นคงด้านอาหารและรายได้” ก็ช่วยให้ชาวบ้านในพื้นที่ได้ใช้ประโยชน์จากป่าชุมชนได้มากขึ้น ด้วยการปลูกไม้ยืนต้นที่ช่วยเพิ่มพื้นที่สีเขียวโดยชาวบ้านสามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตได้
จากโครงการอนุรักษ์และฟื้นฟูป่าชุมชน ได้นำไปสู่อีกโครงการที่ต่อเนื่องกัน คือ “โครงการพัฒนาระบบเกษตรกรรมในโรงเรียนเพื่ออาหารกลางวัน” ที่มุ่งหวังให้เด็กๆ และชาวบ้านในชุมชนได้รับสารอาหารที่ครบถ้วน ในปริมาณที่เพียงพอ โดยไม่ได้รับผลกระทบต่อสุขภาพในระยะยาวจากสารตกค้างที่ปนเปื้อนในวัตถุดิบที่นำมาใช้ประกอบอาหาร ซึ่งเป็นโครงการที่ให้โอกาสนักเรียนได้มีส่วนร่วม ตั้งแต่กระบวนการฝึกฝนเพิ่มทักษะการเรียนรู้ ด้านการเกษตร การประมง และการแปรรูปผลผลิต ให้นักเรียนสามารถแปรรูปสินค้านำผลผลิตที่ได้ มาจำหน่ายสร้างรายได้ให้กับนักเรียนและชาวบ้านในชุมชน
โครงการนี้ยังสามารถลดจำนวนนักเรียนที่ขาดสารอาหาร เพิ่มปริมาณอาหารกลางวันของโรงเรียน รวมทั้งเสริมทักษะการเกษตร การประมง และการแปรรูปผลผลิต ให้กับครู นักเรียนและผู้ปกครอง ทำให้เป็นชุมชนเข้มแข็งสามารถพึ่งพาตนเองได้
ทั้งนี้ภายหลังสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ได้ติดตามการดำเนินงานโครงการต่างๆ ของจังหวัดตากที่ 4 องค์กรหลักร่วมกันทำงานแล้ว ก็ได้เสนอแนะให้ทำโครงการอย่างต่อเนื่อง เพื่อต่อยอดและพัฒนาชุมชนต่อไป พร้อมเน้นย้ำให้เกิดการมีส่วนร่วมในชุมชน เพื่อก้าวสู่ชุมชนวิถีใหม่อย่างยั่งยืน
#เครือข่ายร่วมสร้างชุมชนท้องถิ่นน่าอยู่
#ชุมชนเข้มแข็ง
#สสส
#ตำบลสายพันธุ์ใหม่