จากสารเคมี สู่โรคระบาด หลังพิงของวอแก้วคืออาหารปลอดภัย

จากสารเคมี สู่โรคระบาด หลังพิงของวอแก้วคืออาหารปลอดภัย

เรื่องมันเริ่มต้นจากวันหนึ่ง พื้นที่เกษตรกรรมแบบดั้งเดิมถูกแทนที่ด้วยพืชเชิงเดี่ยว ที่นั่น – ที่ดินทั้งแนวราบ เนินเขา หลังบ้าน เรือกสวนไร่นา ถูกปกคลุมด้วยมันสำปะหลัง อ้อย ข้าวโพด พืชเชิงเดี่ยวเหล่านี้นอกจากดื่มกินหยาดเหงื่อเป็นอาหารแล้ว มันยังต้องการสารเคมีเพื่อการเติบโต

พืชพรรณเหล่านั้นหยั่งรากลึกยึดชุมชนมายาวนาน เงื่อนไขที่จะทำให้เกษตรกรอยู่รอดมีอย่างน้อย 2 ประการ หนึ่ง ราคาของผลผลิตต้องสูงพอ สอง ปริมาณและคุณภาพของผลิตผลต้องมากล้น

แน่นอน เกษตรกรคุมตัวแปรอย่างแรกไม่ได้ พวกเขาจึงทำให้สิ่งที่ปักลงดินนั้นเติบโต งอกงาม และมีปริมาณให้มากที่สุด ตัวช่วยที่สะกัดวัชพืช เร่งการเติบโต และป้องกันแมลงมีทางเลือกไม่กี่อย่าง เกษตรกรที่นี่ใช้สารเคมี วันแล้ววันเล่า เดือนแล้วเดือนเล่า และปีแล้วปีเล่า

พ.ศ. 2558 มีการสำรวจผลกระทบจากสารเคมีด้วยการเจาะเลือดเกษตรกร ผลของมันพบว่า 70% ของเกษตกรมีสารเคมีตกค้างในร่างกายสูงเกินมาตรฐาน และมีผู้ป่วยโรคมะเร็งอันเนื่องมาจากกิจกรรมทางการเกษตรปีละไม่น้อยกว่า 10 คน

เรื่องทั้งหมดอาจเป็นฉากคล้าย ๆ กับหลายพื้นที่ทั่วประเทศ แต่ที่นี่คือตำบลวอแก้ว อำเภอห้างฉัตร จังหวัดลำปาง ตัวเลขเหล่านี้ไม่อาจถูกแก้ด้วยการเพิกเฉย คนตำบลวอแก้วเริ่มปฏิวัติวิธีการทำเกษตรจากการใช้สารเคมีสู่เกษตรอินทรีย์ และเปลี่ยนพืชเชิงเดี่ยวเป็นเกษตรผสมผสาน ผลของมันไม่เพียงดีต่อใจและสุขภาพเท่านั้น แต่มันทำให้รายได้ของพวกเขาเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีขึ้น

ยกตัวอย่างการทำนาเคมีเคยได้ตันละ 8,000-9,000 บาท วันนี้พวกเขาทำนาอินทรีย์มีรายได้ตันละ 17,000-18,000 บาท ไม่นับรายได้จากผลผลิตอื่นที่งอกงามขึ้นมา หรืออย่างน้อยที่สุด พวกเขาลดรายจ่ายได้มากโข
.
“ชาวบ้านบางครอบครัวมีที่ดิน 10 ไร่ แบ่งเป็นปลูกข้าวโพด 5 ไร่ และอีก 5 ไร่ เขาปลูกพืชผักทำเกษตรผสมผสานเพื่อไว้สำหรับเป็นอาหารในครัวเรือน ชาวบ้านค่อย ๆ ปรับ เรียนรู้ ผ่านต้นแบบหรือคนที่ประสบความสำเร็จ เพราะต้องยอมรับว่าการจะพูดให้ชาวบ้านเปลี่ยนแปลงมาเป็นการทำเกษตรปลอดภัยนั้นยาก แต่หากมีต้นแบบให้เขาได้เห็นที่เป็นรูปธรรมที่ชัดเจน มีข้อมูลที่ถูกต้อง พวกเขาพร้อมเปลี่ยนแปลง
.
“เราเก็บข้อมูล สถิติเปรียบเทียบการทำเกษตรแบบเชิงเดี่ยวมาไว้อย่างต่อเนื่องอยู่แล้ว จนเขาเห็นผลกระทบทั้งด้านสุขภาพ ค่าใช้จ่ายปุ๋ยยาสารเคมีจำนวนมาก สิ่งแวดล้อม การปรับเปลี่ยนก็เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ซึ่งเราตั้งเป้าทำงานขยายไปเรื่อย ๆ ตอนนี้ทำได้มากกว่า 60% แล้ว เพื่อพลิกฟื้นการเกษตรสารเคมีให้เป็นแปลงเกษตรรักษาสุขภาพ”

คำบอกเล่าของ สายัณห์ ฉัตรแก้ว หัวหน้าสำนักปลัดองค์การบริหารส่วนตำบลวอแก้ว อธิบายสถานการณ์เดิมของพื้นที่กับการสู้กับภัยสารเคมี แต่ระหว่างการต่อสู้อันเข้มข้น ศึกใหม่ก็เข้ามาแทรกกลางในนามของโรคระบาด COVID-19

ปัญหาก็คือนี่เป็นภัยพิบัติใหม่ที่ไม่เคยพบมาก่อน แต่พวกเขาเคยชินแล้วกับการต่อสู้ แม้อาจขาดรายได้จากการค้าขายบ้าง แต่พืชผักรอบบ้าน อาหารอินทรีย์ที่รับประกันความปลอดภัยมีพอกินโดยไม่เดือดร้อน ใครขาดเหลือเพื่อนบ้านก็แบ่งปัน “เราไม่ทิ้งกัน” สำหรับคนวอแก้วนั้น มีค่าเป็นรูปธรรมที่จับต้องได้

ตราบใดที่อาหารการกินมีความมั่นคง ชีวิตของพวกเขาก็ยากที่จะสั่นคลอน ข้อนี้สายัณห์ ฉัตรแก้ว ยืนยันว่าอาหารปลอดภัยมีค่ามากกว่ากินอิ่ม

“ผมคิดว่าบทเรียนจากสถานการณ์วิกฤต COVID-19 และบทเรียนจากการเผชิญสถานการณ์ภัยสารเคมีเมื่อหลายปีก่อน ทั้งสองวิกฤตนี้ทำให้ชาวบ้านในพื้นที่ได้ตระหนักและได้บทเรียนสำคัญในเรื่องของการสร้างความมั่นคงทางอาหาร ที่สามารถพึ่งพาตนเองได้ทั้งในครอบครัวและชุมชน การทำเกษตรอินทรีย์มันไม่ใช่ทางเลือกอีกต่อไปแล้ว แต่มันทางรอดสำหรับเขาทั้งสุขภาพและชีวิตความเป็นอยู่”
.
“หลายคนกลับมาบ้านในช่วงที่มีโรคระบาด เขามีหลังพิง มีอาหารการกินที่ปลอดภัย เขาบอกว่าถ้าหากจะกลับไปทำงานอีกรอบก็ยากแล้ว เพราะไม่รู้ว่าเศรษฐกิจจะฟื้นตัวเมื่อไหร่ กลับไปก็มีความเสี่ยงเหมือนเดิมว่าจะตกงานหรือมีงานทำนานแค่ไหน สู้ปักหลักอยู่ที่บ้าน กลับมารับช่วงทำเกษตรอินทรีย์ของพ่อแม่น่าจะดีกว่า เพราะพ่อแม่ทำพื้นฐานไว้ให้แล้วไม่ต้องมาเริ่มทำใหม่”

#อยู่บ้านหยุดเชื้อช่วยชาติ
#เครือข่ายร่วมสร้างชุมชนท้องถิ่นน่าอยู่
#ชุมชนเข้มแข็ง
#สสส