ชุมชนท้องถิ่นขวัญใจเด็กๆ ใช้ “กีฬา” พัฒนาเยาวชน

“กีฬาสร้างคน คนสร้างชาติ” คำกล่าวนี้ยังคงใช้ได้เสมอ และชุมชนท้องถิ่นหลายๆ แห่ง ก็ใช้ “กีฬา” เป็นฐานในการพัฒนาเยาวชนให้มีความรู้ความสามารถ ควบคู่ไปกับความแข็งแกร่งของสุขภาพร่างกาย ขณะเดียวกันก็ได้เยาวชนเป็นกำลังสำคัญในการช่วยเหลือชุมชน

อย่างที่บ้านห้วยเต่า หมู่ 7 ต.คูหา อ.สะบ้าย้อย  จ.สงขลา มีการจัดตั้งสภาเยาวชนชาย สภาเยาวชนหญิง โดยมีจุดเริ่มต้นมาจากเยาวชนกลุ่มหนึ่งชื่นชอบการเล่นฟุตบอล ต้องการสนามฟุตบอลที่ได้มาตรฐานไว้ในชุมชน ได้จุดประกายให้ผู้นำชุมชน มองเห็นช่องทางที่จะดึงเยาวชนเข้ามาร่วมขับเคลื่อนชุมชน จึงสนับสนุนให้มีเยาวชนได้มีสนามกีฬาตามพวกเขาต้องการ

ก่อนจะมีสภาเยาวชนนั้น เยาวชนบ้านห้วยเต่าในอดีตต่างเข้าไปเกี่ยวข้องกับยาเสพติด ตั้งกลุ่มมั่วสุม ทางผู้นำชุมชนจึงเสนอข้อแลกเปลี่ยนว่า เลิกเกี่ยวข้องกับอบายมุขสิ่งเสพติดเหล่านี้ได้หรือไม่ หากตกลงก็จะสร้างสนามกีฬาให้และมาช่วยกันทำเรื่องดีๆ ให้หมู่บ้าน

ปัจจุบันสภาเยาวชนทั้งหญิงและชาย บ้านห้วยเต่าได้รับการยอมรับจากคนในชุมชนแล้ว เพราะเยาวชนเข้าไปมีส่วนร่วมกับกิจกรรมต่างๆ ในหมู่บ้านมากขึ้น เช่น เก็บขยะ แยกขยะ รับบริจาคขยะ และยังพัฒนาตนเองโดยเข้าร่วมอบรมโครงการบริหารจัดการขยะอีกด้วย

ฮาสน๊ะ แจ๊ะมะ ประธานสภาเยาวชนหญิงบ้านห้วยเต่า แม้ว่าเธอจะไม่ได้เล่นฟุตบอล แต่ได้เข้ามาร่วมกันทำงานพัฒนาชุมชนบ้านเกิดตั้งแต่เริ่มก่อตั้งสภาเยาวชน จนได้เห็นความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในระยะเวลา 3 ปี ซึ่งการเปลี่ยนแปลงนี้เป็นเพราะมี ผู้นำชุมชน คอยสนับสนุน หนุนหลังการทำงานของเยาวชน ให้ทั้งงบประมาณ พาไปศึกษาดูงาน จนเกิดแรงบันดาลนำมาประยุกต์ใช้จนเกิดผลสำเร็จ

“ที่เห็น คือเมื่อก่อนหมู่บ้านขยะเยอะมาก ตอนนี้มีการเก็บขยะ จัดการขยะ บางบ้านแยกขยะและบริจาคให้เยาวชนเอาไปแยกขายได้ เด็กที่เสี่ยงยาเสพติด ไม่ค่อยมีแล้ว เพราะถ้ามีกิจกรรมก็พยายามดึงเขามาร่วมตลอด ส่วนตัวหนูมีจิตอาสามากขึ้น เข้าสังคมได้มากขึ้น รู้จักผู้คนมากขึ้น เปิดโลกได้มากขึ้น”

เมื่อเยาวชนได้พิสูจน์ให้แล้วว่าพวกเขาทำได้ “สภาศูนย์เยาวชน” จึงเกิดขึ้นอีกหนึ่งศูนย์ โดยมีทั้งผู้นำท้องถิ่น ผู้นำศาสนา กลุ่มแม่บ้าน เข้ามาร่วมเป็นกรรมการ เพื่อช่วยขับเคลื่อนงานให้มีพลังมากขึ้น และเพิ่มความน่านับถือ โดยเยาวชนจะเป็นคนเลือกผู้อำนวยการศูนย์ ด้วยตนเอง

ซาการียา ดางา ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านหมู่ 7 และที่ปรึกษาสภาเยาวชนบ้านห้วยเต่า บอกว่า สิ่งที่น่าภาคภูมิใจที่สุด คือ เมื่อคนในชุมชนให้การยอมรับ ก็พร้อมสนับสนุนเด็กและเยาวชน จนสามารถรับบริจาคเงินจากคนในชุมชนได้ถึง 1,350,000 บาท นำมาซื้อที่ดินจำนวน 14 ไร่ ราคา 1,000,000 บาท เพื่อก่อสร้างสนามกีฬาให้ได้มาตรฐานตามที่เยาวชนเสนอ

ขณะเดียวกันเยาวชนบ้านห้วยเต่าก็ตอบแทนชุมชนอย่างสุดกำลัง เช่นในช่วงการระบาดของเชื้อโควิด -19 สภาเยาวชนได้เข้าไปมีส่วนร่วม ทั้งทำความสะอาดสถานที่กักตัว จัดเตรียมสถานที่ อีกทั้งนำผลกำไร 10% จากการขายน้ำดื่มแบรนด์สภาเยาวชน นำมาจัดซื้อหน้ากากอนามัย แจกให้กับคนในชุมชน และนำน้ำดื่มไปแจกจ่ายให้กับผู้ที่ต้องกักตัว 14 วัน อีกด้วย

“ผู้นำต้องให้ความสำคัญกับน้องๆ เยาวชน ถ้าเราให้ความสำคัญ เยาวชนก็จะดูแลเรา จะดูแลหมู่บ้าน ถ้าเราจริงใจเขา เขาก็จริงใจกับเรา เราต้องฟังว่าเขาต้องการอะไร ในฐานะผู้นำ พูดง่ายๆ ถ้าเราฟังเขา เขาก็จะฟังเรา” ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านหมู่ 7 กล่าวย้ำ

ส่วนอีกหนึ่งพื้นที่ในจังหวัดภาคใต้ที่นำกีฬาวอลเลย์บอลมาเป็นธงนำในการพัฒนาศักยภาพของเยาวชน ช่วยยกระดับทั้งการศึกษา อาชีพ และรายได้ให้กับเยาวชนเป็นเวลากว่า 20 ปี ช่วยปูพื้นฐานทักษะจนเยาวชนในพื้นที่ก้าวไปถึงจุดสูงสุด นั่นคือ การเป็นนักกีฬาทีมชาติ

ชื่อ อัจฉราพร คงยศ และ ปิยะนุช แป้นน้อย คือ 2 นักกีฬาวอลเลย์บอลทีมชาติที่คนไทยทั้งประเทศรู้จัก ซึ่งทั้งสอง คือผลผลิตที่น่าภาคภูมิใจของหมู่บ้านวอลเลย์บอล ต.ขอนหาด อ.ชะอวด จ.นครศรีธรรมราช

         ประยงค์ หนูบุญคง นายกองค์การบริหารส่วนตำบลขอนหาด เล่าว่า โครงการเกิดจากชุมชนต้องการพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนในชุมชนโดยวอลเลย์บอล จากเดิมเริ่มต้นที่โรงเรียนบ้านขอนหาด ต่อมาได้ยกระดับเป็นเป้าหมายของตำบล โดยมี 4 องค์กรหลักในพื้นที่มาร่วมการขับเคลื่อน

“การร่วมมือของ 4 องค์กรหลักในพื้นที่ ทำให้พัฒนานักกีฬาเยาวชนมาได้อย่างต่อเนื่อง ช่วงเริ่มแรกอบต.ได้สนับสนุนงบประมาณปีละ 1.5 แสนบาทต่อเนื่องทุกปี แต่ช่วงหลัง ๆ ศูนย์กีฬาตำบลเริ่มดูแลตนเองได้ อบต.จะคอยสนับสนุนเรื่องอุปกรณ์ เรื่องงบประมาณในบางส่วนที่มีความจำเป็น หรือจัดการแข่งขัน tournament ในระดับตำบลให้ปีละครั้ง และส่งนักกีฬาไปแข่งขันในระดับพื้นที่ต่างๆ จนได้รับรางวัลของสมเด็จพระเทพฯ ชนะเยาวชนทีมญี่ปุ่น จีน  สิงคโปร์ เด็กได้มีที่เรียนต่อ เป็นนักเรียนทุน และได้พัฒนาเป็นนักกีฬาอาชีพ ได้ช่วยเหลือครอบครัวและกลายเป็นอาชีพต่อไปในอนาคต อีกทั้งยังได้ตัวอย่างที่ดี ให้กับน้อง ๆ ไม่ไปข้องเกี่ยวกับยาเสพติด”

กีฬาจึงนับเป็นเครื่องมือหนึ่งที่สามารถเชื่อมชุมชนกับเยาวชนเข้าด้วยกันได้ทั้งทางตรงและทางอ้อม ตราบใดที่ผู้ใหญ่มองเห็นความสำคัญของเยาวชน และเปิดโอกาส สร้างโอกาสให้เยาวชนมีพื้นที่แสดงศักยภาพของตนเอง ก็จะช่วยให้อนาคตของเยาวชน อนาคตของชุมชน มีความหวังมากยิ่งขึ้น เหมือนกับที่ อบต.ขอนหาด กำลังเป็นอยู่ในขณะนี้

“อบต.ขอนหาด ดูแลทุกๆ ด้าน ทั้งสังคม เศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม ส่วนจากการดูแลเด็กและเยาวชนก็ให้ความสำคัญระดับต้น ๆ นอกจากส่งเสริมด้านกีฬาแล้ว ก็ทำอีกหลายเรื่อง เราส่งเสริมให้มีสภาเด็กและเยาวชน ทำเรื่องเศรษฐกิจพอเพียงในโรงเรียน พัฒนาเด็กเล็ก ซึ่งกีฬาก็จะเด่นหน่อย เพราะทำต่อเนื่องมา 20 กว่าปี มีเด็กและเยาวชน 20 กว่ารุ่น จากที่เคยเล่นกลางแจ้ง ปัจจุบันมีโรงยิม 2 หลัง เป็นความพร้อมพัฒนาและยกระดับความสามารถ สร้างนักกีฬาได้อย่างต่อเนื่องด้วย” นายกอบต.ขอนหาด กล่าว

         จากตัวอย่างภารกิจของ ชุมชนท้องถิ่น ในการพัฒนาเด็กและเยาวชน ของทั้ง 2 พื้นที่ ปัจจัยสำคัญที่จะนำมาสู่ความสำเร็จนั้น คือ ความร่วมมือของทุกฝ่าย ทั้ง ท้องถิ่น ท้องที่ หน่วยงานภาครัฐ และภาคประชาชน มาช่วยกันขยับและขับเคลื่อน อีกทั้ง ไม่ลืมฟังเสียงของเด็กและเยาวชน ก็จะสามารถสร้างอนาคตที่ดีให้กับพวกเขาและชุมชนของพวกเขาในอนาคตได้

 

#ชุมชนท้องถิ่น รู้รับ ปรับตัว