ตาก ใช้โมเดลป่าต้นน้ำ โมเดลป่าชุมชน ช่วยชุมชนให้มีที่ดินทำกิน สร้างรายได้ พึ่งพาตนเอง

ด้วยสภาพพื้นที่ทั่วไปของจังหวัดตากที่ประกอบไปด้วยเขาสูง และป่าไม้ ทำให้มีพื้นที่ในการทำเกษตรกรรมน้อย และส่วนหนึ่งเป็นพื้นที่สูง ตั้งอยู่ในเขตอนุรักษ์ ทำให้เกิดข้อจำกัดในการใช้ประโยชน์จากผืนดิน อีกทั้งชาวบ้านยังนิยมปลูกข้าวโพด กะหล่ำปลี ซึ่งเป็นการทำเกษตรกรรมเชิงเดี่ยว และต้องใช้สารเคมีจำนวนมาก ยิ่งเร่งให้ดินเกิดความเสื่อมโทรม ผลจึงตกที่ชุมชนขาดที่ดินทำกิน ขาดรายได้เลี้ยงดูครอบครัว

เมื่อคณะทำงาน โครงการขับเคลื่อนจังหวัดตากน่าอยู่  โครงการที่ผนึกกำลังของทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ท้องถิ่น ท้องที่ และภาคประชาชน  ตระหนักถึงปัญหาดังกล่าว จึงได้ร่วมกันหาแนวทางฟื้นฟูพื้นที่เสื่อมโทรม โดยการปลูกพืชเสริมรายได้ เพิ่มพื้นที่สีเขียวในพื้นที่ทำกินของชาวบ้าน ภายใต้โครงการอนุรักษ์และฟื้นฟูป่าชุมชนเพื่อความมั่นคงด้านอาหารและรายได้ ใน 2 พื้นที่ คือ โมเดลป่าต้นน้ำ บ้านแม่กลองน้อย ต. โมโกร อ.อุ้มผาง และโมเดลป่าชุมชน บ้านท่าปุยตก ต.ย่านรี อ.สามเงา

สำหรับหมู่บ้านแม่กลองน้อย เป็นชุมชนเล็กๆ ตั้งอยู่ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าอุ้มผาง โดยมีพื้นที่ผ่อนผันสำหรับทำกินและอยู่อาศัย ตามมติคณะรัฐมนตรี 30 มิถุนายน 2541 ประมาณ 2,000 ไร่  ซึ่งที่ดินผืนดังกล่าวเริ่มมีสภาพเสื่อมโทรม เพราะชาวบ้านใช้ปลูกพืชเชิงเดี่ยว มานานหลายสิบปี ดินจึงขาดสารอาหารและเสื่อมโทรมจนยากที่พืชจะเจริญเติบโตได้ดี

เพื่อฟื้นฟูดิน คืนพื้นที่สีเขียว ให้ชาวแม่กลองน้อย  มีเกษตรกรสนใจเข้าร่วม 22 ราย โดยแต่ละรายจะปลูกพืช เสริมรายได้ รายละ 1.8-1.9 ไร่  โดยพืชที่เลือกมาปลูกล้วนเป็นพืชเศรษฐกิจที่ขายได้ราคาดี และไม่ทำให้ดินเสื่อมโทรม ประกอบด้วย  อะโวคาโดพันธุ์แฮส เสาวรส และกาแฟ โดยในช่วงที่ต้นอะโวคาโดยังโตไม่เต็มที่ จะปลูกเสาวรสซึ่งเป็นไม้เลื้อยและเก็บผลผลิตได้ในระยะสั้น แทรกระหว่างต้นอะโวคาโดก่อน ขณะเดียวกันต้นอะโวโดยังเป็นร่มเงาให้กับต้นกาแฟที่ไม่ทนแดดได้อีกด้วย

อย่างไรก็ตาม โมเดลป่าต้นน้ำนี้ จะมุ่งเน้นการฟื้นฟูพื้นที่ป่า โดยใช้ไม้ยืนต้นเพิ่มพื้นที่สีเขียว ซึ่งนอกจากจะได้พื้นที่สีเขียวกลับมาแล้ว เกษตรกรยังสามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตทดแทนการปลูกพืชไร่เดิมไปพร้อมกันอีกด้วย

สำหรับโมเดลป่าชุมชน ของบ้านท่าปุยตก อ.สามเงา ที่มีพื้นที่ป่าชุมชนถึง 7,598 ไร่ จากทั้งหมด 9,000 ไร่ ซึ่งเป็นพื้นที่ส่วนหนึ่งของป่าสงวนแห่งชาติป่าแม่ตื่น ประชากรส่วนใหญ่จึงไม่มีพื้นที่ทำกิน มีเพียงที่อยู่อาศัย  รายได้หลักจึงมาจากการทำงานรับจ้าง และเก็บเห็ด เก็บหน่อไม้ขายตามฤดูกาล แต่ก็พบปัญหา พื้นที่ป่าชุมชนส่วนล่างใกล้กับหมู่บ้านมีความแห้งแล้ง เสื่อมโทรมและมีปัญหาไฟป่าบ่อยครั้ง  คณะทำงานโครงการจึงกำหนดแนวทางฟื้นฟูป่าชุมชนส่วนล่าง จำนวน 60 ไร่ เพื่อปลูกพืช ลดรายจ่าย เสริมรายได้ ซึ่งมุ่งเน้นปลูกพืชทนแล้ง และพืชที่ชาวบ้านสามารถใช้ประโยชน์ได้ เช่น  มะม่วงแก้วขมิ้น 20 ไร่  กาแฟโรบัสต้า ปลูกเสริมในพื้นที่ป่าจำนวน 20ไร่ โดยจะปลูกกล้วยน้ำหว้า เสริมเป็นร่มเงาให้กาแฟและเป็นแนวป้องกันไฟป่า อีกทั้งสามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตได้ในระยะสั้น  ขณะเดียวกันก็ปลูกพืชผักสวนครัวและสมุนไพรเสริมในพื้นที่ป่าส่วนกลางและในป่าช้าเก่าของหมู่บ้าน สำหรับไผ่ซางหม่นได้ปลูกเสริมในพื้นที่ป่าเสื่อมโทรม พื้นที่ป่าที่เสียหายจากไฟป่า จำนวน 20 ไร่ ซึ่งจากการดำเนินการนอกจากจะช่วยฟื้นฟูป่าแล้ว ผลผลิตบางส่วน ยังสามารถสร้างรายได้ ลดรายจ่าย เป็นอาหารให้กับชาวบ้านบ้านท่าปุยตกได้อีกด้วย

จากการขับเคลื่อนงานอนุรักษ์และฟื้นฟูป่าชุมชน เพื่อความมั่นคงด้านอาหารและรายได้ ทั้ง 2 พื้นที่ ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา สามารถสร้างความตระหนักให้กับคนในชุมชนลุกขึ้นมาปกป้องอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติในพื้นที่ตนเอง และเกิดเครือข่ายในพื้นที่เข้ามาร่วมกันขับเคลื่อนโครงการให้เกิดผลสำเร็จ เพื่อให้ประชาชนสามารถอยู่ร่วมกับป่าได้อย่างสมดุลและยั่งยืน

#เครือข่ายร่วมสร้างชุมชนท้องถิ่นน่าอยู่

#ชุมชนเข้มแข็ง

#สสส

#ตำบลสายพันธุ์ใหม่