ตำบลสายพันธุ์ใหม่ เปิดเกราะรับมือโรค

การแพร่ระบาดของไวรัส “โควิด-19” ระลอกแรกเมื่อต้นปี 2563 สร้างความตื่นตระหนกอย่างขนานใหญ่ให้กับคนทั่วโลก เพราะไม่มีใครคาดเดามาก่อนว่าจะเกิดโรคระบาดชนิดฉับพลัน รุนแรง และกว้างขวางแบบนี้มาก่อน กระทั่งจนถึงเวลานี้ก็ยังไม่มีท่าทีว่าจะหยุดแพร่ระบาด

นับจากวันแรกที่เกิดการระบาด ก็มีการตั้งคำถามต่อสถานการณ์ที่เกิดขึ้นว่า…นี่คือสัญญาณบ่งบอกว่าการแพร่ระบาดโรคร้ายต่างๆอาจจะมาเยือนมนุษย์บ่อยครั้งขึ้น รุนแรงมากขึ้น ขยายวงกว้างมากขึ้นไปอีก

การเตรียมความพร้อมเพื่อรับมือกับสถานการณ์ต่างๆ จึงเป็นเรื่องที่จำเป็นต้องทำอย่างยิ่ง ความท้าทายสำคัญข้างต้น สำนักสนับสนุนสุขภาวะชุมชน สสส. จึงได้ให้การสนับสนุน อปท.ในเครือข่ายร่วมสร้างชุมชนท้องถิ่นน่าอยู่ ดำเนิน…โครงการเสริมสร้างความเข้มแข็งระบบเฝ้าระวัง ป้องกัน และควบคุมโรคติดต่อโดยชุมชนท้องถิ่น ขึ้นมาโดยมุ่งให้ชุมชนท้องถิ่นสร้างกลไกเฝ้าระวังโรคติดต่อทุกโรคที่เกิดขึ้นในชุมชน

ระบบในที่นี้หมายถึง การสร้างความร่วมมือของ 4 องค์กรหลักในชุมชนท้องถิ่น ประกอบด้วย…ท้องถิ่น ท้องที่ หน่วยงานภาครัฐ ภาคประชาชน ที่จะมีส่วนร่วมในการเสนอความคิดเห็น หาแนวทางแก้ไขปัญหาร่วมกัน เพื่อทำให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น รุดหน้าไปสู่ความสำเร็จในการเป็น “ตำบลสายพันธุ์ใหม่”

ที่มีความเชี่ยวชาญด้านการเฝ้าระวัง ป้องกัน ควบคุมโรคติดต่อโดยชุมชนท้องถิ่น และมีแนวทางแก้ไขปัญหาที่สำคัญ…ด้วยการพัฒนาระบบข้อมูล เครื่องมือ และกลไก รวมทั้งสร้างความเข้าใจ เพิ่มทักษะ… ประสบการณ์ให้กับผู้เกี่ยวข้องให้มีศักยภาพควบคุมโรคติดต่อในพื้นที่ โดยแบ่งการดำเนินงานออกเป็น 3 ระยะ
เริ่มจาก…ระยะเตรียมการ…เฝ้าระวัง, ระยะควบคุมการระบาด, ระยะฟื้นฟู

ดวงพร เฮงบุณยพันธ์ ผู้ช่วยผู้จัดการอาวุโสกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ รักษาการผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะชุมชน สสส. บอกว่า โครงการนี้ กำหนดระยะเวลาทำงานยาวนานถึง 1 ปีครึ่ง เพราะต้องการให้ตำบลที่เข้าร่วมได้รับประสบการณ์ครบทุกฤดู

ยกตัวอย่างเช่น ฤดูหนาว มักจะมีโรคไข้หวัดใหญ่ โรคมือ เท้า ปาก ฤดูร้อน มักเกิดอหิวาตกโรค โรคบิด ส่วนฤดูฝนที่มากันทุกปี คือโรคไข้เลือดออก ไข้มาลาเรีย

“ทุกตำบลที่เข้าร่วมโครงการจะได้ใช้ประสบการณ์จริงที่เกิดขึ้น ออกแบบรับมือการแพร่ระบาดของโรคติดต่อต่างๆ มีการเสริมสร้างความเข้มแข็งของกลไกการเฝ้าระวัง ป้องกัน ควบคุมทุกโรคติดต่อ ไม่ว่าจะเป็นโรคตามฤดูกาล หรือโรคที่ไม่จำเพาะว่าเป็นฤดูกาลไหน”

ขณะเดียวกัน ท้องถิ่นจะต้องหาทางลดปัจจัยเสี่ยง หรือเงื่อนไขเสี่ยงทางสุขภาพที่ส่งผลต่อความรุนแรงของโรคติดต่อ มีการจัดการสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการขจัด ควบคุม เฝ้าระวัง และป้องกันโรคติดต่อ

รวมถึง…การจัดการกับผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการระบาดของโรคติดต่อ ที่สำคัญต้องสื่อสาร รณรงค์เพื่อป้องกัน และควบคุมโรคติดต่อในพื้นที่อย่างต่อเนื่อง…เข้มข้น

เป้าหมายอย่างหนึ่งของเรา คือต้องการให้ท้องถิ่นสร้าง “นักพัฒนาเฝ้าระวัง” อย่างช่วงที่โควิด-19 ระบาดเมื่อปีก่อน พนักงานท้องถิ่นไม่มีความรู้เลย ไม่รู้จะรับมืออย่างไร กว่าจะตั้งหลักได้ก็ใช้เวลาพอสมควร ดังนั้นแต่ละท้องถิ่นต้องพัฒนาบุคลากรของตัวเองให้มีความพร้อมในการรับมือกับโรคติดต่อ

ย้ำว่า…โครงการนี้เริ่มดำเนินการตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2563 มีเครือข่ายร่วมสร้างชุมชนท้องถิ่นน่าอยู่เข้าร่วมทั้งหมด 101 แห่ง แต่ละแห่งจะกลายเป็นต้นแบบของท้องถิ่นต่างๆทั่วประเทศในการจัดการกับโรคติดต่อในพื้นที่ โดยเฉพาะเรื่องการเตรียมความพร้อมด้านบุคลากร

อย่างที่ ต.เสม็ดใต้ อ.บางคล้า จ.ฉะเชิงเทรา กิตติพงศ์ สีเหลือง นายกองค์การบริหารส่วนตำบลเสม็ดใต้ เสริมว่า บุคลากรท้องถิ่นมีประมาณ 60 คน ขณะนี้ทาง อบต.ได้ทำความเข้าใจ ให้ความรู้ เพื่อให้เจ้าหน้าที่เผยแพร่ นำข้อมูลสู่ชาวบ้าน ขณะเดียวกันได้ใช้ช่องทางโซเชียลมีเดียไว้พูดคุย…ส่งถ่ายข้อมูลระหว่างกัน
ไม่ว่าจะเป็นคำสั่งทางราชการ หนังสือราชการ หรือข้อปฏิบัติต่างๆ เพื่อได้รับรู้ทันสถานการณ์ร่วมกัน

ที่ผ่านมาในพื้นที่ตำบลเสม็ดใต้ เคยพบกับการระบาดของโรคมือเท้าปากเด็กในศูนย์พัฒนาเด็กเล็กเมื่อ 2 ปีก่อน มีเด็กป่วย 2 ราย ทาง อบต.ได้ปิดศูนย์ฯ ทำความสะอาด วางแผนป้องกันโรคนี้ โดยเฉพาะเน้นย้ำกับครูผู้สอนให้สื่อสารกับผู้ปกครองเฝ้าระวังด้วย

อย่างไรก็ตาม โรคติดต่อรุนแรงที่สุดที่ตำบลเสม็ดใต้ต้องรับมือ คงหนีไม่พ้น “โควิด–19” แม้ในพื้นที่ไม่มีผู้ติดเชื้อ แต่ชาวบ้านก็ระส่ำระสาย หวาดวิตกกันถ้วนหน้า เพราะพื้นที่ใกล้เคียง เช่น บางปะกง มีประชาชนติดโควิดด้วย และเมื่อ “โควิด–19” ระบาดรอบใหม่…

นายกกิตติพงศ์ บอกว่า พวกเราทุกคนก็ระมัดระวังเช่นเดิม แต่ไม่ได้ปิดกั้นพื้นที่ เพราะเข้าใจในวิถีชีวิตคนที่ต้องมีการปฏิสัมพันธ์กัน ทาง อบต.จึงได้แค่สร้างความเข้าใจและควบคุมในระดับหนึ่งเท่านั้น

“เราต้องให้เขามีจิตสำนึกความรับผิดชอบตัวเองและสังคม ถ้าไปในพื้นที่สุ่มเสี่ยง หรือพื้นที่ควบคุมสูงสุด ก็ต้องแจ้งผู้ใหญ่บ้าน กำนัน หรือ อสม. ถ้าใครมีสมาร์ทโฟนก็ให้โหลดหมอชนะมาใช้ด้วย”

นอกจากทีมงาน 4 องค์กรหลักแล้ว ยังมีภาคประชาชน ทั้งเครือข่ายเด็กเยาวชน อสม. ผู้สูงอายุเครือข่ายกองทุนหมู่บ้าน กลุ่มสตรี มาร่วมกันทำงาน เพื่อฝ่าวิกฤติรอบนี้ด้วย ที่ผ่านมา…ชุมชนได้รับบทเรียนที่สำคัญ อาจทำให้ทุกคนยุ่งยาก แต่ถ้ามองในด้านดีแล้ว ก็จะเห็นความมีระเบียบวินัยมากขึ้น

“คนรู้จักป้องกันตัว ไม่เบียดเสียดยัดเยียดกัน รู้จักระยะห่าง มีการจัดระบบในการใช้ชีวิตเพื่อป้องกันตัวเองโดยอัตโนมัติ”

ขณะที่อีกพื้นที่หนึ่ง คือ ต.แว้ง อ.แว้ง จ.นราธิวาส จุฑามณี หามะ นายกองค์การบริหารส่วนตำบลแว้ง เสริมว่า เราเตรียมพร้อมโดยพัฒนาศักยภาพบุคลากรในการปฏิบัติงาน และยังมี รพ.สต.มาให้ความรู้กับพนักงาน รวมทั้งการสร้างความเข้าใจในเรื่องจิตวิทยาสำหรับไปดูแลชาวบ้านควบคู่ไปด้วย

ความพร้อมที่ว่านี้ถูกนำมาใช้อย่างได้ผลในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 เมื่อปีก่อน อบต.เป็นแกนหลักประสานความร่วมมือกับ 4 องค์กรหลักในพื้นที่ พร้อมด้วยผู้นำทางศาสนา สร้างความเข้าใจเกี่ยวกับการแพร่ระบาด เพราะในพื้นที่มีผู้ติดเชื้อถึง 4 ราย ทุกรายเกี่ยวข้องกับการทำพิธีทางศาสนาที่ประเทศมาเลเซีย

“ประสบการณ์ครั้งนั้นบอกเราว่า การให้กำลังใจครอบครัวที่ติดโควิดเป็นเรื่องสำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากันกับการป้องกันโรคด้านอื่นๆ” นายกจุฑามณี ว่า

“ในพื้นที่มีครอบครัวหนึ่งภรรยาติดเชื้อโควิด-19 แล้วถูกส่งตัวไปรักษา ส่วนสามีและลูกกักตัวอยู่ในบ้าน เมื่อครบกำหนด…ไม่ติดเชื้อใดๆ จึงให้ลูกออกไปซื้อของในหมู่บ้าน แต่กลับถูกรังเกียจจากชาวบ้าน”

จึงได้ให้เจ้าหน้าที่ไปพูดคุยให้กำลังใจ เพื่อให้สถานการณ์ความเครียดคลี่คลาย ซึ่งเราได้เรียนรู้ว่าต้องให้ความรู้ ความเข้าใจกับเจ้าหน้าที่ของเราด้วยในหลักจิตวิทยา เพื่อดูแลเยียวยาจิตใจไปพร้อมๆกัน

นี่คือ “ตำบลสายพันธุ์ใหม่” เปิดเกราะสู้โรคร้ายยุคใหม่ พร้อมเรียนรู้ รับมือกับสถานการณ์ใหม่ๆได้ด้วยความร่วมมือจากทุกภาคส่วนในพื้นที่.

#ไทยรัฐออนไลน์

https://www.thairath.co.th/news/society/2028385