‘ทต.กะลุวอเหนือ’ สร้างระบบดูแลกลุ่มเปราะบาง งัดมาตรการสกัดเชื้อโควิด-19
ตำบลกะลุวอเหนือ อำเภอเมืองนราธิวาส จังหวัดนราธิวาส หนึ่งในเครือข่ายร่วมสร้างชุมชนท้องถิ่นน่าอยู่ สนับสนุนโดยสำนักสุขภาวะชุมชน (สำนัก 3) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ถือเป็นพื้นที่ทางผ่าน สำหรับประชาชนที่ทำงานในมาเลเซีย
หลังเกิดสถานการณ์ไวรัสโควิด-19 เทศบาลจึงมีมาตรการเข้มข้นเพื่อป้องกันการแพร่ระบาด ไม่ให้มีการติดเชื้อ โดยรับนโยบายจากจังหวัด ส่งต่อกันมาเป็นทอด ๆ มีการประชุมฝ่ายปกครอง กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ผู้นำศาสนา และเจ้าหน้าที่ทหาร
ทางชุมชนมีการทำงานบูรณาการร่วมกันทั้ง 5 องค์กรหลัก คือ ท้องถิ่น โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล ภาคประชาชน เจ้าหน้าที่ทหาร และองค์กรด้านศาสนา ผู้นำศาสนา
โดยมีท้องถิ่นคอยขับเคลื่อนนโยบาย จัดซื้อจัดจ้างอุปกรณ์ป้องกันความปลอดภัย เชิญเจ้าหน้าที่สาธารณสุข มาจัดอบรมให้ความรู้แก่คนในชุมชน มีการฝึกอบรมทำหน้ากากอนามัยเพื่อให้ทุกคนมีหน้ากากใช้ ทำงานควบคู่ไปกับโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล เจ้าหน้าที่ทหาร และตำรวจ
ด้านหน่วยงานความมั่นคง ก็จะเข้าไปหนุนเสริมในนโยบายที่เกี่ยวกับข้อห้ามต่าง ๆ เช่น ห้ามมั่วสุมชุมนุมกัน รวมกลุ่มกัน ซึ่งในชุดปฏิบัติการของหน่วยงานความมั่นคงนั้น จะมีทางอำเภอไปร่วมทำงานด้วย โดยจะเข้าไปอธิบาย สร้างความเข้าใจ เพราะต้องยอมรับว่าขณะนี้ ยังมีชาวบ้านไม่เข้าใจในสถานการณ์ปัญหา และมาตรการต่าง ๆ อยู่
นายอัสมีรี แวเด็ง นายกเทศมนตรีตำบลกะลุวอเหนือ กล่าวว่า “การสร้างความเข้าใจ ถือเป็นหัวใจหลักในการเข้าไปทำงาน เพราะชาวบ้านก็มีคำถามของเขา ว่าทำไมจู่ ๆ มาห้ามเขานั่งพูดคุยกัน พบปะกัน มันก็จะเกิดอคติขึ้น เพราะเขาไม่เข้าใจ เราจึงต้องทำงานเชิงรุกในการอธิบาย ไม่ว่าจะเป็นการพูดคุย หรือการเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ มาตรการ ข้อปฏิบัติ คำสั่ง นโยบาย มีการนำป้ายไวนิล ป้ายต่าง ๆ ไปติดในชุมชน มัสยิด วัด ทางเดิน ถนน เพื่อเผยแพร่ประชาสัมพันธ์”
สถานการณ์ชุมชนตอนนี้ ชาวชุมชนทุกคน ไม่ว่าจะเป็นองค์กรศาสนา ผู้นำศาสนา โต๊ะอิหม่าม ชาวบ้าน หรือทีมอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน ทุกคนล้วนมีส่วนร่วมและเป็นกำลังสำคัญ ช่วยหนุนเสริมการทำงานของ 5 องค์กรหลัก
ยกตัวอย่างเช่น โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล ก็เป็นองค์กรที่ให้ความรู้หลัก คอยให้ความรู้ด้านอนามัยโรคระบาดโดยเฉพาะ ฝ่ายเทศบาลก็จะรับหน้าที่ในการปฏิบัติการ เช่น ดูแลเรื่องการรวมกลุ่มในที่ชุมชน อาทิ มัสยิด หรือศูนย์เด็กเล็ก คอยควบคุมการทำความสะอาดฆ่าเชื้อ ตามคำแนะนำของโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล
ด้านของผู้นำทางศาสนา ก็ถือเป็นหน่วยสำคัญในการเผยแพร่ข้อมูลเรื่องการดูแลตัวเอง เพราะชาวบ้านมีความศรัทธาในตัวผู้นำศาสนา ย่อมปฏิบัติตามคำสอนด้วยความเชื่อมั่น
นายอัสมีรี แวเด็ง กล่าวว่า “ในพื้นที่เทศบาลตำบลกะลุวอเหนือ เราพยายามรักษาไข่แดงเอาไว้ไม่ให้มีการติดเชื้อ แม้พื้นที่นี้ถือได้ว่าเป็นจุดหลัก เป็นทางผ่านของผู้ที่เดินทางมาจากประเทศมาเลเซียก็ตาม เราได้วางมาตรการรองรับโดยโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลไว้แล้ว และหากเกิดสถานการณ์วิกฤต เทศบาลจะดำเนินการจัดหาสถานที่เอง โดยในปัจจุบัน ยังไม่มีเคสการกักตัว แต่เราเฝ้าระวังเต็มที่ ทางโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลจะประมวลข้อมูลทุกวัน ทีมอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้านทำงานร่วมกับโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลอย่างเข้มแข็ง ออกพื้นที่ พูดคุยกับชุมชน โดยทางเทศบาลจะเป็นผู้อำนวยความสะดวกอุปกรณ์ป้องกันความปลอดภัย หน้ากากอนามัย เจล ปรอทให้กับทุกคน มีปรอทให้อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน เทศบาลจะจัดให้ทุกหมู่บ้าน เพื่อให้ทำงานได้ในระบบป้องกันเฝ้าระวัง รวมทั้งการดูแลเรื่องสุขภาพจิตของประชาชนในพื้นที่ ซึ่งทำงานควบคู่กันไปด้วย โดยขณะนี้เรื่องดังกล่าวยังไม่มีปัญหาที่ชัดเจนมากนัก เพราะชาวบ้านเองก็พึ่งพาอาศัยกัน ช่วยเหลือกัน พูดคุยแบ่งเบาความไม่สบายใจกันอยู่แล้ว”
นอกจากนี้ ทางชุมชนยังให้ความสำคัญกับการปรึกษาหารือ หากชาวบ้านมีข้อสงสัย ก็จะอธิบาย เพื่อสร้างความเข้าใจโดยทั่วกัน อย่างวัฒนธรรมการกินน้ำชาตอนเช้าของชุมชนมุสลิม ก็มีการพูดคุยจนเข้าใจกัน มีการปรับเปลี่ยนจนเหลือเพียงการขายอาหาร ไม่มีการมานั่งกินชา กาแฟ ในช่วงเช้าแล้ว ทั้งนี้เพราะชาวบ้านมีความกลัว จึงตัดสินใจหลีกเลี่ยงกันเองด้วย
นายอัสมีรี แวเด็ง กล่าวว่า “เทศบาลเองก็สร้างวัฒนธรรมการทำงานให้เป็นแบบอย่างกับชาวบ้าน โดยเราจะมีการอบรมเจ้าหน้าที่เทศบาล ในการล้างมือ การดูแลรักษาความสะอาด มีการตั้งจุดล้างมือ ทุกคนต้องปฏิบัติเป็นแบบอย่างให้ประชาชนได้เห็น ขณะเดียวกัน ก็ต้องนำความรู้ การดูแลตัวเองที่ถูกต้องไปสอนคนที่บ้าน สอนในชุมชนตนเองด้วย ขณะนี้สิ่งที่ห่วงที่สุดคือ คนไข้ติดเตียง และคนพิการ ตอนนี้ทางเทศบาลได้นำงบประมาณมาเพื่อซื้อเตียง จัดเตียง ให้ได้มากที่สุด เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับผู้ป่วยเพราะบางคนไม่มีเตียง มีเพียงเบาะรองที่นอน ไม่ได้รับความสะดวกเป็นอย่างมาก เทศบาลจึงดำเนินการตรงนี้เพื่อดูแลคนในกลุ่มนี้ นอกจากนี้เทศบาลยังได้สั่งการให้ดูแลไปยังศูนย์เด็กเล็กด้วย โดยในฐานะที่เราดูแลศูนย์เด็กเล็กโดยตรง และเป็นความรับผิดชอบของเรา จึงได้มีการสั่งการให้เจ้าหน้าที่เทศบาล ลงไปติดตามเด็กถึงบ้าน และพูดคุยกับผู้ปกครอง พ่อแม่ของเด็กโดยตรงในพื้นที่”
ทางชุมชนจะมีระบบติดตามดูแลคุณภาพชีวิตของกลุ่มเปราะบาง ทั้งกลุ่มคนพิการ กลุ่มติดเตียง กลุ่มเด็กเล็ก และกลุ่มผู้สูงอายุ ภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 ผลจากการทำงานในพื้นที่อย่างเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน ทำให้ทางเทศบาลสามารถต่อยอดการทำงาน ดูแลทุกข์สุขประชาชนได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง ถือเป็นนวัตกรรมทางสังคมที่เกิดขึ้นในพื้นที่ชุมชน
#อยู่บ้านหยุดเชื้อช่วยชาติ
#เครือข่ายร่วมสร้างชุมชนท้องถิ่นน่าอยู่
#ชุมชนเข้มแข็ง
#สสส