‘ทต.เวียงเทิง’ ย้ำ! ข่าวสารโควิด-19 สำคัญ เน้นให้ความรู้ถึงประตูบ้าน

‘ทต.เวียงเทิง’ย้ำ! ข่าวสารโควิด-19 สำคัญ เน้นให้ความรู้ถึงประตูบ้าน

 

สถานการณ์ไวรัสโควิด-19 ในพื้นที่เทศบาลตำบลเวียงเทิง อำเภอเทิง จังหวัดเชียงราย หนึ่งในเครือข่ายร่วมสร้างชุมชนท้องถิ่นน่าอยู่ สนับสนุนโดยสำนักสุขภาวะชุมชน (สำนัก 3) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) คือมีผู้ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 แต่เป็นผู้ที่อยู่นอกพื้นที่เขตเทศบาลตำบล โดยเป็นผู้ที่เดินทางมาจากประเทศเขมร

 

เมื่อตรวจสอบกลุ่มเสี่ยงในครอบครัวจึงพบผู้ติดเชื้อเพิ่มอีก 1 ราย โดยทางเทศบาลได้นำส่งผู้ป่วยไปยังโรงพยาบาลเชียงรายประชานุเคราะห์ พร้อมกักตัวคนในครอบครัวอีก 14 วัน ซึ่งขณะนี้เป็นเรื่องน่ายินดีว่า ผู้ป่วยทั้ง 2 คน ตรวจไม่พบเชื้อไวรัสแล้ว

 

หากแต่ในพื้นที่เทศบาลตำบล ยังคงมีผู้ที่ต้องกักตัวอยู่ โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยงที่เดินทางมาจากกรุงเทพฯ และปริมณฑล และพื้นที่เสี่ยงอื่น ๆ

 

เพื่อรับมือกับสถานการณ์การแพร่ระบาด ได้มีการเปิดศูนย์โควิดประจำอำเภอขึ้น โดยมีคณะทำงานคือ ฝ่ายปกครอง โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ตำรวจ และภาคประชาชน หรือก็คือ อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน และอาสาสมัครป้องกันภัยฝ่ายพลเรือน ที่เข้ามาร่วมกัน

 

มาตรการหลักที่ถูกใช้ในชุมชนขณะนี้ คือ หากพบผู้ติดเชื้อ จะต้องดำเนินการพ่นฆ่าเชื้อทันที ทั้งในพื้นที่ที่มีการสัญจรมาก และพื้นที่เสี่ยงต่าง ๆ เช่น ตลาด สำนักงาน นอกจากนี้ ทางชุมชนยังมีมาตรการให้ความรู้ควบคู่กันไป ด้วยการสร้างครู การฝึกอบรมเจ้าหน้าที่ ให้อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้านลงไปให้ความรู้ชนิดเคาะประตูถึงบ้าน หากหน้ากากขาดตลาด ทางชุมชนก็จะจัดอบรม สอนให้ชาวบ้านทำหน้ากากด้วยตนเอง

 

ด้านการเฝ้าระวังพื้นที่ ก็จะมีข้อปฏิบัติคือ ต้องมีการแจ้ง หรือรายงานตัว ต่อกำนัน ผู้ใหญ่บ้านตลอด และต้องเข้าสู่กระบวนการกักตัว 14 วัน

 

นายสิงห์ทอง หนุนนำสิริสวัสดิ์ นายกเทศมนตรีเวียงเทิง กล่าวว่า “กระบวนการนี้ถือว่าสำคัญมากโดยเมื่อมารายงานตัวเราจะออกใบแจ้งการกักตัวให้ เมื่อพ้นระยะเวลา ก็จะเป็นใบแจ้งพ้นสภาพ ถือว่า ปฏิบัติตัวตามกฎเกณฑ์การป้องกันการแพร่ระบาด หากรายใดไม่เชื่อฟัง ก็จะมีมาตรการเข้มขึ้น นั่นคือ มีหนังสือแจ้งเตือน หากไม่เชื่อฟังอีก ฝ่าฝืนอีก เจ้าหน้าที่ตำรวจก็สามารถเข้าจับกุมได้เลย ซึ่งจะได้รับโทษรุนแรงทั้งจำทั้งปรับ และมีความผิดตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินด้วย ที่ผ่านมามีแค่ตักเตือนกัน เขาก็ปฏิบัติตาม โดยมีอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้านเข้าไปดูแล เฝ้าระวัง ร่วมกับโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล”

 

นอกจากนี้ ในพื้นที่เทศบาลตำบล ยังดำเนินการตามนโยบายของผู้ว่าฯ นั่นก็คือ กิจกรรม บิ๊ก คลีนนิ่ง เดย์ ทุก ๆ วันศุกร์ เพื่อสร้างขวัญกำลังใจให้ประชาชน เพราะตั้งแต่เกิดสถานการณ์การแพร่ระบาด ประชาชนในพื้นที่ก็มีความตื่นตัวสูง ชาวชุมชนต่างก็ให้ความสำคัญกับการดูแลตนเองจากไวรัส ให้ความร่วมมือกับทางราชการอย่างเต็มที่ ประชาชนในพื้นที่ใส่หน้ากากอนามัยกัน 100% เลยทีเดียว

 

นายสิงห์ทอง กล่าวว่า “อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน และผู้นำท้องถิ่น ได้ลงพื้นที่ไปเยี่ยมเยียน ให้กำลังใจ ดูแลสุขภาพจิต ทั้งของคนที่ถูกกักตัวตามมาตรการ 14 วัน และผู้สูงอายุ หมู่บ้านไหนที่มีผู้ติดเชื้อ จะเป็นหน้าที่ของเจ้าหน้าที่สาธารณสุข ทั้งจากอำเภอและจังหวัดลงพื้นที่ด้วยตนเอง ต้องยอมรับว่า ชาวบ้านมีความหวาดกลัวมาก ทั้งอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน และโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล ได้ทำหน้าที่อธิบาย สร้างความเข้าใจ และให้ความรู้ ในการปฏิบัติตัว ดูแลตนเองเพื่อที่จะใช้ชีวิตอยู่ภายใต้สถานการณ์นี้ ชาวบ้านก็เริ่มเข้าใจมากขึ้น ขณะที่การดูแลผู้สูงอายุ เทศบาลเวียงเทิงได้ให้ความสำคัญกับกลุ่มเปราะบางกลุ่มนี้เป็นพิเศษอยู่แล้ว แม้ในช่วงที่มีการผลิตหน้ากากออกมาไม่ทัน เราก็ได้ดำเนินการแจกหน้ากากให้กับกลุ่มผู้สูงอายุและเด็ก เป็นเป้าหมายแรก ทั้งสองกลุ่มได้รับการดูแลอย่างเข้มข้น และมีมาตรการสำรองอุปกรณ์ป้องกันแจกจ่ายให้กับกลุ่มนี้อย่างเพียงพอ”

 

นายกเทศมนตรีเวียงเทิง ยังกล่าวด้วยว่า สถานการณ์ปัญหาไวรัสโควิด-19 ทำให้ได้เห็นระบบขับเคลื่อนการทำงานแบบบูรณาการร่วมกัน โดยมีการนำข้อมูล ปัญหา มาร่วมกันวิเคราะห์ทุกอาทิตย์ ว่าการปฏิบัติงาน นโยบาย หรือมาตรการต่าง ๆ ที่ดำเนินการ มีปัญหา หรืออุปสรรคอะไร

 

เช่น ในพื้นที่ มีเสียงสะท้อนจากอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน ว่าเขามีความหวาดกลัว ทางเทศบาลจึงจัดหาอุปกรณ์เสริมการป้องกันตัวให้กับเขา โดยนอกจากหน้ากากและเจลแล้ว ยังให้ทุกคนสวมเสื้อกันฝนด้วย เพื่อป้องกันการสัมผัส การติดเชื้อไวรัส เมื่อจัดการปัญหาเช่นนี้ ทีมอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้านก็คลายความวิตกได้ มีความมั่นใจมากขึ้นในการลงพื้นที่เสี่ยง

 

นายสิงห์ทอง หนุนนำสิริสวัสดิ์ นายกเทศมนตรีเวียงเทิง กล่าวปิดท้ายว่า “ผมคิดว่า การทำงานแบบมีส่วนร่วม มีการบูรณาการร่วมกันของแต่ละหน่วยงาน การนำปัญหาที่ประสบและอุปสรรคต่าง ๆ มากางข้อมูล ร่วมกันวิเคราะห์ แก้ปัญหาเพื่ออุดช่องโหว่ ถือเป็นนวัตกรรมทางสังคม นวัตกรรมการทำงานในยุคโควิดที่เราเห็นได้ชัดเจน ขณะเดียวกัน ก็ต้องขยับควบคู่ไปพร้อมกับการให้ความรู้ ให้ข้อมูลที่ถูกต้องกับชาวบ้าน ซึ่งจะเป็นการลดความหวาดกลัว และสร้างความเชื่อมั่นให้กับพวกเขาเป็นอย่างมาก โดยช่วงก่อนหน้านี้ ผมต้องรับโทรศัพท์ร้องเรียนไม่ต่ำกว่า 60 สายในแต่ละวันที่ชาวบ้านโทรมาร้องเรียนผม แต่วันนี้เมื่อเราค่อย ๆ ให้ความรู้ ความมั่นใจ ปัญหา อุปสรรคในการทำงานได้รับการแก้ไขไปทีละจุด การร้องเรียนก็น้อยลง ชาวบ้านเขาก็มีความมั่นใจ และเชื่อมั่นมากขึ้น ว่าพวกเขาจะผ่านช่วงเวลานี้กันไปได้อย่างแน่นอน”

 

#อยู่บ้านหยุดเชื้อช่วยชาติ
#เครือข่ายร่วมสร้างชุมชนท้องถิ่นน่าอยู่
#ชุมชนเข้มแข็ง
#สสส