‘ทต.แม่ข่า’ จัดทีมต้านโควิด ดึงจิตอาสาให้ความรู้ ลงพื้นที่เข้าถึงชุมชน!

‘ทต.แม่ข่า’ จัดทีมต้านโควิด ดึงจิตอาสาให้ความรู้ ลงพื้นที่เข้าถึงชุมชน!

 

รายงานสถานการณ์ไวรัสโควิด-19 ในพื้นที่เทศบาลตำบลแม่ข่า อำเภอฝาง จังหวัดเชียงใหม่ หนึ่งในเครือข่ายร่วมสร้างชุมชนท้องถิ่นน่าอยู่ สนับสนุนโดยสำนักสุขภาวะชุมชน (สำนัก 3) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เตรียมพร้อมรองรับมาตรการคุมเข้ม โดยมีจิตอาสาภายในชุมชนเป็นตัวขับเคลื่อนมาตรการระดับตำบล เฝ้าระวังกลุ่มเสี่ยงในพื้นที่อย่างใกล้ชิด

 

นายวีระยุทธ เทพนันท์ นักวิเคราะห์นโยบายและแผน เทศบาลตำบลแม่ข่า อำเภอฝาง จังหวัดเชียงใหม่ กล่าวเบื้องต้นเกี่ยวกับสภาพพื้นที่ตำบลแม่ข่าที่ตนรับผิดชอบทั้งหมด 13 หมู่บ้านนั้น ส่วนใหญ่ประชาชนประกอบอาชีพเกษตรกรรม และนอกจากนี้ ในพื้นที่ยังมีชุมชน กลุ่มชาติพันธุ์ เช่น ลาหู่ หรือมูเซอ และกลุ่มชาติพันธุ์ไทใหญ่ เนื่องจากพื้นที่ตำบลแม่ข่า ติดกับชายแดนพม่านั่นเอง

.

เมื่อเกิดสถานการณ์แพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ทำให้มีประชาชนจำนวนมากเดินทางกลับเข้าพื้นที่ ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มที่เดินทางมาจากต่างประเทศ เช่น เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น มาเลเซีย สิงคโปร์ และไต้หวัน รวมทั้งในประเทศ เช่น กรุงเทพมหานคร ระยอง ชลบุรี แพร่ ลำปาง และลำพูน

 

นายวีระยุทธ ได้กล่าวถึงการดำเนินงานร่วมกันระหว่าง 4 หน่วยงานหลัก ได้แก่ ท้องถิ่น, โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.), เจ้าหน้าที่ตำรวจท้องที่ และภาคประชาชน คือจัดให้มีการประชุมขับเคลื่อนให้มีการออกมาตรการระดับตำบลที่เป็นการมอบนโยบายและปฏิบัติการไปยังผู้นำชุมชน, เจ้าหน้าที่ตำรวจ, อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) และโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) โดยมีการออกคำสั่งในการดูแลป้องกันชุมชนในสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ดังนี้

 

  1. ออกมาตรการคุมเข้มกลุ่มเสี่ยงที่มาจากต่างประเทศและในประเทศ โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยงจากกรุงเทพมหานคร ให้กักตัว 14 วัน โดยมีอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้านเป็นแม่งานหลักในการลงพื้นที่เพื่อเก็บข้อมูลลงในเอกสาร และแบ่งเป็นการส่งบันทึกให้แก่ป้อหลวง หรือผู้นำชุมชน และอีกชุดหนึ่งจะส่งไปยังโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล รวมทั้งแจ้งไปยังผู้นำชุมชนอย่างผู้ใหญ่บ้านและกำนันด้วย

โดยอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน หรือที่คนในพื้นที่เรียกกันว่ากลุ่ม อสม.ตาสับปะรด ถือเป็นกลุ่มที่ดูแลและควบคุมมาตรการเครือข่ายตาสับปะรด ร่วมกับทีมอาสาที่มีการตั้งขึ้นมา เพื่อช่วยเหลือคนในพื้นที่ด้วยใจเต็มร้อย

 

  1. ประชาสัมพันธ์ทุกภาษา เช่น ภาษาไทย ภาษาพื้นเมืองของกลุ่มชนเผ่าทุกชาติพันธุ์ ผ่านเสียงตามสาย เพื่อให้ข้อมูลข่าวสาร นโยบาย และคำสั่งรัฐบาล นอกจากนี้ ยังมีการจัดทำป้ายไวนิลให้ความรู้และวิธีป้องกันโควิด-19 ติดประกาศตามแหล่งชุมชนอีกด้วย

 

  1. มาตรการกิจกรรมเชิงรุก จัดให้มีโครงการล้างมือหน้าบ้าน จัดอบรมการทำเจลล้างมือและน้ำยาล้างมือ อีกทั้งมีการทำป้ายขนาดเล็ก เพื่อแนะนำขั้นตอนการล้างมือที่ถูกต้อง 7 ขั้นตอน แจกจ่ายให้แก่ลูกบ้านทุกหลังจะได้ปฏิบัติอย่างถูกวิธี โดยมีอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้านและแม่บ้านเป็นผู้นำไปสอนต่อให้แก่ลูกบ้านในชุมชน ซึ่งโครงการนี้ เป็นโครงการสืบเนื่องจากการจัดอบรมการทำหน้ากากอนามัยไปจัดขึ้นแล้วนั่นเอง

 

  1. มาตรการเชิงควบคุมและบรรเทาภัย จัดการป้องกันให้ทีมงานมีความปลอดภัยทุกกลุ่ม โดยกำหนดให้ผู้ที่เกี่ยวข้องต้องมีวัสดุที่ดูแลป้องกันตัวเอง เช่น เจลล้างมือ หน้ากากอนามัย ปรอทวัดไข้ให้แก่อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน รวมทั้งการอบรมการผลิตน้ำยาฆ่าเชื้อแบบง่าย เพื่อให้อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้านนำติดตัวไปฉีดในพื้นที่ที่มีความเสี่ยง ร่วมทำงานกับทีมเทศบาล

 

นอกจากนี้ การดำเนินงานตามมาตรการระดับตำบล ได้มีการตั้งกลุ่มไลน์ (Line) ที่มีสมาชิกประกอบไปด้วยผู้นำชุมชน, เจ้าหน้าที่โรงพยาบาล และอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน มีการประชุมผ่านไลน์ วีดิโอคอล ติดตามสถานการณ์จากศูนย์เฉพาะกิจเชียงใหม่ รายงานข้อมูลให้สมาชิกในกลุ่มไลน์อย่างต่อเนื่อง

 

สำหรับนวัตกรรมทางสังคมที่เกิดขึ้นในสถานการณ์ไวรัสโควิด-19 คือโครงการล้างมือหน้าบ้าน เพราะได้นำไอเดียมาต่อยอด เพื่อรองรับสถานการณ์ในพื้นที่ให้ขยายวงกว้างไป เช่น ขยายไปยังวัด สำนักงานราชการ โรงเรียน ตลาดสด ซึ่งมีการตั้งจุดล้างมือไว้บริการประชาชนรอบบริเวณ โดยไม่ต้องหาซื้อเจลแอลกอฮอล์ เพราะสำหรับชาวบ้าน เจลแอลกอฮอล์ถือว่ามีราคาสูงมาก ใช้เพียงแค่สบู่ก็เพียงพอ

.

หลักสำคัญในการป้องกันเชื้อไวรัสโควิด-19 คือการล้างมืออย่างถูกต้อง และสร้างวินัยในการล้างมือทุกครั้งที่สัมผัสสิ่งของหรือคน ถือได้ว่าเป็นนวัตกรรมของชุมชนที่มีประโยชน์เป็นอย่างมาก

 

สำหรับบรรยากาศในชุมชนก็ดำเนินไปอย่างปกติ เพียงแค่ภายใต้สถานการณ์แพร่ระบาดโควิด-19 หากส่งผลกระทบกับร้านอาหารอยู่บ้าง เพราะประชาชนไม่สามารถนั่งทานที่ร้านได้เป็นการชั่วคราว

.

ในเรื่องของการจัดงานศพ ซึ่งหลีกเลี่ยงการรวมกลุ่มไม่ได้นั้น ทีมอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้านจะทำการตั้งจุดคัดกรอง และเข้าไปดูแลอย่างใกล้ชิด มีการวางเจลล้างมือ และให้ใส่หน้ากากอนามัยทุกคน พร้อมการจัดที่นั่งให้ห่างกัน โดยการจัดงานศพจะยึดตามมาตรการของกระทรวงสาธารณสุขเท่านั้น เพื่อทำให้เป็นมาตรฐานเดียวกันทั่วประเทศ

 

ในด้านการคัดกรองกลุ่มเสี่ยง ส่วนใหญ่แล้วเป็นชาวบ้านที่กลับมาจากกรุงเทพมหานคร จำนวน 42 คน และกลุ่มที่กลับมาจากในตัวเมืองเชียงใหม่ และต่างจังหวัดอื่น ๆ ที่ไม่ใช่พื้นที่เสี่ยงอีกจำนวนหนึ่ง โดยกลุ่มเสี่ยงจากกรุงเทพมหานครและปริมณฑลนั้น จะใช้มาตรการเข้มข้นกักตัว 14 วัน ซึ่งต้องแจ้งผู้นำชุมชน และแจ้งต่อไปยังโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลเพื่อเตรียมความพร้อม

 

โดยอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน มีหน้าที่สำคัญในการเก็บข้อมูลลูกบ้านทุกหลังคาเรือน เพื่อทำให้ทราบสถานการณ์ปัจจุบันได้อย่างรวดเร็ว พร้อมส่งข้อมูลไปยังผู้ใหญ่บ้าน และโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลในพื้นที่ เพื่อดำเนินการตามสถานการณ์ปัจจุบัน

.

นอกจากนี้ อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน ยังมีบทบาทหน้าที่ในการเฝ้าระวัง ควบคุมพฤติกรรมของผู้ที่ถูกกักตัวให้เป็นไปตามมาตรการอีกด้วย

 

สำหรับแผนการรองรับสถานการณ์พบผู้ติดเชื้อในพื้นที่ ได้มีการพูดคุยกำหนดทิศทางไว้แล้ว ซึ่งหากเกิดสถานการณ์แพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 ที่รุนแรงขึ้นในอนาคต ก็จะใช้พื้นที่โรงพยาบาลบ้านฝาง ไว้รับรองผู้ติดเชื้อ แม้ว่าในขณะนี้จะควบคุมสถานการณ์ในระดับจังหวัดได้ แต่ภายในชุมชนก็ยังมีปัญหาอย่างมาก เช่น มีประชาชนจำนวนหนึ่งเดินทางกลับจากพื้นที่เสี่ยง โดยไม่แจ้งเจ้าหน้าที่เพื่อตรวจสอบ รวมทั้งกลุ่มชาติพันธุ์ ที่ไม่ไปรายงานตัว เนื่องจากหวาดกลัวเพราะไม่มีบัตรสัญชาติ ด้วยเหตุนี้ โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล จึงเข้ามาจัดการในพื้นที่กลุ่มชาติพันธุ์โดยตรง ด้วยการลงพื้นที่ เข้าไปยังหมู่บ้าน ร่วมประชุมหารือกับผู้นำชุมชน เพื่อชี้แจงมาตรการและคอยจับตามองเป็นพิเศษ

 

และทางเทศบาลตำบลแม่ข่า ได้มีการแจ้งผ่านไลน์โรงเรียนผู้สูงอายุ ซึ่งขณะนี้ต้องปิดโรงเรียนในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 ให้อยู่บ้านตามพรก.ฉุกเฉิน และประชาสัมพันธ์ไปยังกลุ่มผู้ที่มีโรคประจำตัวด้วยเช่นกัน

.

ในส่วนของจิตอาสานั้น ได้มีการรวบรวมทีมงานจิตอาสาที่ได้รับการอบรมบางส่วน ลงพื้นที่ปฏิบัติงานเฝ้าระวังโควิด-19 ด้วยการดูแล สอดส่อง และพูดคุยทั้งผู้ถูกกักตัว และผู้สูงอายุ ตลอดจนลูกบ้านแต่ละหลังคาเรือนตามวิถีคนชนบท ซึ่งไม่พบว่ามีปัญหาด้านสภาพจิตใจแต่อย่างใด

 

#อยู่บ้านหยุดเชื้อช่วยชาติ
#เครือข่ายร่วมสร้างชุมชนท้องถิ่นน่าอยู่
#ชุมชนเข้มแข็ง
#สสส