ท้องถิ่น ขยับ รับมือโควิด-19 ป้องกัน ดูแล ควบคุม คัดกรอง กลุ่มเสี่ยงสูงเข้าพื้นที่ เตรียมสถานที่กักตัวรองรับ ทั้ง Local Quarantine Home Quarantine พร้อมจัดทีมดูแลคุมเข้มให้เป็นไปตามมาตรการ
สำนักสนับสนุนสุขภาวะชุมชน (สำนัก3) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ สสส. จัดเสวนาออนไลน์ หัวข้อ การประชุมเชิงปฏิบัติการปรับแผนปฏิบัติการและงบประมาณโครงการ เพื่อรับมือการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา (COVID-19) พื้นที่ภาคเหนือ เมื่อวันที่ 16 กรกฎาคม 2564 ที่ผ่านมา เพื่อให้เครือข่ายร่วมสร้างชุมชนท้องถิ่นน่าอยู่ ได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์และมาตรการรับมือการระบาดของเชื้อโควิด-19 ที่กำลังระบาดเป็นวงกว้างในขณะนี้ โดยมี รศ.ดร.ขนิษฐา นันทบุตร ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและพัฒนาระบบสุขภาพชุมชน(ศวช.)คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น และ นางสาวดวงพร เฮงบุณยพันธ์ ที่ปรึกษาคณะกรรมการบริหารแผน คณะที่ 3 สสส. เป็นผู้ดำเนินรายการ
รศ.ดร.ขนิษฐา กล่าวก่อนเริ่มเสวนาว่า การระบาดของเชื้อโควิด-19 ในครั้งนี้ ทำให้ท้องถิ่นมีประสบการณ์การรับมือกับการระบาดที่แตกต่างกันไป แต่ทุกพื้นที่มีส่วนที่เหมือนกันคือความร่วมมือกันในการพัฒนาศักยภาพในการจัดการปัญหา ผ่านความร่วมมือของ 4องค์กรหลัก
“ ตอนนี้เป็นการใช้ศักยภาพพื้นที่ของพวกเราในการรับมือกับสถานการณ์การระบาดของโรค ซึ่งพื้นที่มีประสบการณ์ร่วมกันทั้งหมด ครั้งนี้จะขอให้มาร่วมแลกเปลี่ยนประสบการณ์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องการจัดการกับสถานการณ์ขณะนี้ ว่าทำอย่างไรบ้างใน 5 ประเด็น ซึ่งเป็น 5 เรื่องสำคัญ ที่ทำให้เห็นว่า ประสบการณ์จะเป็นตัววางรากฐานการรับมือ หากมีการระบาดที่รุนแรงเกิดขึ้นในอนาคตอีก”
สำหรับ 5 ประเด็น ในการแลกเปลี่ยน ประกอบด้วย
1.ติดตามข้อมูลคนเข้าออก/ผู้ติดเชื้อ/กลุ่มเสี่ยง
2.การสื่อสารกระบวนการ (การรายงานตัว+การรับวัคซีน)
3.Community Isolation (Local Quarantine/Home Quarantine/ Home Isolation)
4. การสนับสนุน รับ-ส่งตัว
5.การฟื้นฟูด้านต่างๆ
นายชัยรัตน์ ทองใบ นายกองค์การบริหารส่วนตำบลร่องเคาะ อ.วังเหนือ จ.ลำปาง กล่าวถึงการเตรียมสถานที่กักตัวผู้ที่เดินทางมาจากพื้นที่เสี่ยงสูงว่า ผู้ที่เดินทางเข้าพื้นที่ต้องผ่านการคัดกรอง สำหรับผู้ป่วยติดเชื้อที่ติดต่อขอกลับมารักษาที่ภูมิลำเนา ต้องแจ้งล่วงหน้า และเมื่อมาถึงจะส่งตรงไปรักษาที่โรงพยาบาลทันที สำหรับกลุ่มเสี่ยงสูงก็ต้องกักตัว ซึ่งมีทั้งสถานที่กักตัวกลาง กักตัวที่บ้าน
“ ท้องถิ่นกับ รพ.สต.ร่วมมือกัน ทำงาน เรามีสถานที่กักตัวกลางของตำบล และทุกหมู่บ้านมีสถานที่กลางในการกักตัว แต่ถ้าใครประสงค์จะกักตัวที่บ้าน จะต้องผ่านการประเมินจากเจ้าหน้าที่ว่า บ้านเหมาะสมต่อการกักตัวหรือไม่ จึงจะอนุญาตให้กักตัวที่บ้านได้ อย่างไรก็ตาม ใครจะเข้ามาในพื้นที่ต้องแจ้ง รพ.สต. แจ้งทางพื้นที่ล่วงหน้า 3 วัน และในระหว่างกักตัวจะมี อสม.ตรวจสอบติดตามดูแล” นายกอบต.ร่องเคาะ กล่าว
ด้านนายพงษ์ศักดิ์ สมประสงค์ ผอ.รพ.สต.คอรุม อ.พิชัย จ.อุตรดิตถ์ ได้ร่วมแลกเปลี่ยนถึงการจัดเตรียมสถานที่กักตัวของชุมชน ทั้ง Local Quarantineและ Home Quarantine ว่า แต่ละตำบลต้องมีสถานที่กักตัวกลางอย่างน้อย 1แห่ง โดยใช้ทั้งวัด อาคารเอนกประสงค์ของชุมชน ระหว่างการกักตัวจะมีทีมอสม. ชุดละ 3 คน ดูแลในตอนกลางวัน และทีม อปพร. ดูแลในช่วงกลางคืน ส่วนอาหาร น้ำดื่ม ทางอบต.จะเป็นผู้ดูแลตลอดระยะเวลาการกักตัว ทั้งนี้ผู้ที่มาจากพื้นที่เสี่ยงสูงจะต้องผ่านการคัดกรองและตรวจ swab หากพบเชื้อก็จะนำส่งโรงพยาบาลทันที
นายพงษ์ศักดิ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า การเลือกใช้วัดแต่ละชุมชนเป็นสถานที่กักตัว ทำให้เกิดความระแวงหวาดกลัวของคนในชุมชน จนบางพื้นที่ไม่กล้าใส่บาตรพระ จึงต้องเร่งเดินหน้าสร้างความเข้าใจให้คนในชุมชนไปพร้อมกันด้วย
ขณะที่ นายนพดล ณ เชียงใหม่ นายกองค์การบริหารส่วนตำบลดอนแก้ว อ.แม่ริม จ.เชียงใหม่ กล่าวถึงสถานการณ์ในพื้นที่ว่า ที่ดอนแก้ว ส่วนใหญ่ผู้ที่เดินทางมาจากกลุ่มเสี่ยงสูงจะกักตัวที่บ้านหรือ Home Quarantine ซึ่งได้ผลดีกว่าการกักตัวรวม เพราะดอนแก้วมีทีม อสม.ที่คอยดูแลพื้นที่ตัวเอง มีทีมหมอและเจ้าหน้าที่ เรียกว่า fast Team ลงตรวจสอบเป็นประจำ
พร้อมกันนี้นายสมเกียรติ คงทิม นายกองค์การบริหารส่วนตำบลพรหมนิมิตร อ.ตาคลี จ.นครสวรรค์ ได้ให้ข้อเสนอแนะมาตรการการรับมือการระบาดของเชื้อโควิด-19 ในรอบนี้ว่า ทุกองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ควรมีมาตรการเข้มงวด ในหน่วยงานขององค์กรตนเองด้วย เนื่องจากหากมีเจ้าหน้าติดเชื้อและต้องกักตัวเป็นจำนวนมากจะทำให้การทำงานดูแลประชาชนทุกด้านต้องสะดุดลง
“ อยากให้ดูแลเข้มงวด เพราะตอนนี้อบต.พรหมนิมิตร เจอเข้ากับตัวเอง มีเจ้าหน้าติดเชื้อ และต้องกักตัวมากถึง42คน ฉะนั้นจึงต้องเข้มงวดให้มากที่สุด เพื่อให้การดูแลประชาชน การทำงานในพื้นที่สามารถขับเคลื่อนไปได้” นายกอบต.พรหมนิมิตร กล่าวทิ้งท้าย
