“ท้องถิ่น กลาง ใต้ คุมเข้มทุกพื้นที่ เฝ้าระวังกลุ่มเสี่ยงสูงเข้าชุมชน

ท้องถิ่นจัดการตนเองรับมือการระบาดโควิด-19 ทุกพื้นที่ใช้มาตรการคุมเข้ม คัดกรองกลุ่มเสี่ยงสูงเข้าพื้นที่ จัด Local Quarantine ไว้รองรับ ที่ “วังน้ำเย็น” ติดธงแดงพื้นที่เสี่ยง “พระแท่น” นำธรรมนูญชุมชนมาบังคับใช้ พร้อมปรับยุทธศาสตร์ดึงวัคซีนเข้าสู่ท้องถิ่นผ่านการตั้งศูนย์บริการฉัดวัคซีนในตำบล

         เมื่อวันที่ 15 กรกฎาคม 2564 เครือข่ายร่วมสร้างชุมชนท้องถิ่นน่าอยู่ พื้นที่ภาคกลางและภาคใต้ ร่วมกันแลกเปลี่ยนเรียนรู้เรื่องท้องถิ่นกับการรับมือการระบาดของเชื้อโควิด-19 ผ่านการเสวนาออนไลน์ จัดโดย สำนักสนับสนุนสุขภาวะชุมชน (สำนัก 3) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)

จากการเสวนา พบว่าสถานการณ์ในแต่ละพื้นที่ มีการระบาดค่อนข้างกว้างขวางและเกิดคลัสเตอร์ใหม่ๆ ในพื้นที่ ซึ่งท้องถิ่นต้องวางมาตรการจำกัดวงการระบาด ทั้งการคัดกรองคนเข้าออกพื้นที่อย่างเข้มงวด มีการเตรียมสถานที่สำหรับกักตัวผู้ที่มีความเสี่ยงสูงในรูปแบบ Local Quarantine และ Home Quarantine การส่งต่อผู้ป่วยติดเชื้อไปยังโรงพยาบาล รวมถึงการบริหารจัดการวัคซีนให้กับประชาชนในพื้นที่

นางสาวนูรือมา ลายามุง รักษาราชาการแทนผู้อำนวยการกองสาธารณสุขและสิ่งแวดล้อม องค์การบริหารส่วนตำบลบาละ  อำเภอกาบัง จังกวัดยะลา เล่าถึงสถานการณ์ในพื้นที่ว่า เกิดคลัสเตอร์ใหญ่ 3 คลัสเตอร์ รวมผู้ติดเชื้อในขณะนี้ 174 ราย จึงต้องเร่งคัดกรอง และต้องใช้มาตรการปิดหมู่บ้านที่มีการระบาด จึงสามารถหยุดการระบาดลงได้

“สถานการณ์ถือว่าย่ำแย่มาก ทุกฝ่ายพยายามทำงานร่วมกัน ทั้ง สสอ. อบต. รพ.สต. และจนท.อำเภอกาบัง เพราะขณะนี้บุคลากรไม่เพียงพอ มีเจ้าหน้าที่ติดเชื้อและต้องกักตัวจำนวนหนึ่ง พวกเราทำงานกันอย่างเต็มที่แม้จะติดขัดบ้าง แต่ก็ต้องพยายามให้มากที่สุด เพราะตำบลเป็นพื้นที่รองรับการกักตัวของกลุ่มเสี่ยงสูง รวมไปถึงรับผู้ป่วยติดเชื้อเพื่อส่งต่อไปยังโรงพยาบาลสนามยะลา หากโรงพยาบาลสนามยะลาเต็ม ทางเราก็ต้องดูแลเขาจนกว่าจะมีเตียงว่าง” น.ส.นูรือมา กล่าว

ด้าน นายทรงศักดิ์ โชตินิติวัฒน นายกเทศมนตรีตำบลพระแท่น อำเภอท่ามะกา จังหวัดกาญจนบุรี  เปิดเผยว่า ในพื้นที่เคสผู้ป่วยติดเชื้อโควิด-19 ที่พบส่วนมากติดเชื้อจากญาติที่เดินทางมาจากพื้นที่เสี่ยง ทางเทศบาลจึงใช้กลไกธรรมนูญชุมชน และทำ MOU ร่วมกับหัวหน้าส่วนราชการ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน เพื่อเป็นมาตรการหนึ่งในการควบคุมการระบาดของเชื้อโควิดในชุมชนให้ได้

ธรรมนูญเป็นเรื่องของทุกคนที่ต้องช่วยกัน ตระหนักรู้ เฝ้าระวัง ทั้งภายนอกและภายใน เราจึงเชิญผู้นำ ฝ่ายปกครอง รพ.สต. โรงเรียน วัด มาร่วมกันออกแบบ ส่วนเทศบาลผมให้พนักงานทุกคนเป็นผู้ช่วยเจ้าหน้าที่กรมควบคุมโรค ต้องคอยสอดส่องดูแลและคอยเตือนคนในพื้นที่ เช่น หากมีกลุ่มเสี่ยงมากักตัวที่บ้านก็จะดำเนินการพ่นยาฆ่าเชื้อ ให้ถุงยังชีพที่จำเป็นสำหรับ 14 วัน ผู้ที่กักตัวต้องรายการตัวกับผู้นำชุมชนทุกวัน” นายกเทศมนตรีตำบลพระแท่น กล่าว

ขณะที่ นายวันชัย นารีรักษ์ นายกเทศมนตรีเมืองวังน้ำเย็น อำเภอวังน้ำเย็น จังหวัดสระแก้ว กล่าวถึงการรับมือการระบาดของเชื้อโควิด-19 ในพื้นที่ว่า

“การตรวจคัดกรองเราจะประสานกับโรงพยาบาล ถ้าเจอผู้ติดเชื้อโรงพยาบาลจะมารับตัวไป ส่วนเทศบาลจะเข้าไปเคลียร์พื้นที่ ทั้งการพ่นฆ่าเชื้อบริเวณรอบๆ แม้กระทั่งล่าสุดเราก็ทำธงแดงไว้ในจุดที่มีความเสี่ยง เพื่อให้ทุกคนรับรู้แล้วก็ตระหนักว่าพื้นที่เสี่ยง อย่าออกไปไหน ทั้งนี้ในส่วน Local Quarantine ทางอำเภอจะรับผิดชอบ”

นายวันชัย ยังกล่าวถึง การคัดกรองผู้ที่มาจาก 10 จังหวัดกลุ่มสีแดงเข้ม ว่าทุกคนที่เข้ามาจะต้องรายงานตัวและตรวจหาเชื้อด้วยการ SWAB ที่โรงพยาบาลทุกคน จากนั้นจึงจะเข้าสู่กระบวนการ Local Quarantine และ Home Quarantine ซึ่งมีทั้งหมด 14 แห่ง โดยใช้รีสอร์ทและโรงแรมในพื้นที่ทั้งหมด ทั้งนี้ในระหว่างกักตัวจะมีเจ้าหน้าลงไปตรวจวัดอุณหภูมิทุกวัน มีอาสาสมัครจัดเวรยาม ดูแลความปลอดภัย

ด้าน นายธีรศักดิ์ พานิชวิทย์ นายกองค์การบริหารส่วนตำบลบ้านหม้อ อำเภอเมือง จังหวัดเพชรบุรี เปิดเผยถึงการบริหารจัดการวัคซีนในพื้นที่ ว่าเพื่อให้ประชาชนมีโอกาสได้เข้าถึงวัคซีนมากที่สุด ทาง อบต.จึงเสนอตัวเป็นศูนย์บริการฉีดวัคซีน ซึ่งนับเป็นยุทธศาสตร์การดึงความเป็นเจ้าของวัคซีนมาไว้ในมือท้องถิ่น

“ผมปรับยุทธศาสตร์เพื่อทำให้ประชาชนเข้าถึงการฉีดวัคซีนมากขึ้น เนื่องจากเรารู้ว่าสถานการณ์การฉีดวัคซีนเป็นเรื่องที่ชาวบ้านอยากเข้าถึงแต่ไม่มีโอกาสเข้าถึง เลยเสนอตัวให้เป็นศูนย์บริการฉีดวัคซีน ใช้ตำบลเป็นศูนย์กลางที่จะเป็นจุดบริการฉีดวัคซีน  เป็นยุทธศาสตร์หนึ่งที่ดึงวัคซีนของภาครัฐมาไว้ในมือท้องถิ่นแล้วก็บริหารได้รวดเร็วมากขึ้น และทำให้ประชาชนในพื้นที่สามารถเข้าถึงวัคซีนได้เร็วที่สุด

นายกองค์การบริหารส่วนตำบลบ้านหม้อ กล่าวปิดท้ายว่า การฉีดวัคซีนให้ประชาชนจะเริ่มในสัปดาห์หน้า โดยตั้งเป้าว่า จะฉีดวันละไม่เกิน 300 โดส ในกลุ่มอายุ 18-59 ปี

ในช่วงท้ายของการเสวนา รศ.ดร.ขนิษฐา นันทบุตร ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและพัฒนาระบบสุขภาพชุมชน (ศวช.) คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ในฐานะผู้ดำเนินการเสวนา ร่วมกับ นางสาวดวงพร เฮงบุณยพันธ์ ที่ปรึกษาคณะกรรมการบริหารแผน คณะที่ 3 สสส. ได้กล่าวสรุปการเสวนาว่า ทุกพื้นที่ต้องรับมือกับสถานการณ์อย่างจริงจังและเข้มงวด เพื่อจะจำกัดวงการระบาด สิ่งที่ต้องพัฒนาเพิ่มขึ้นคือ การจัดการการกักตัวของกลุ่มเสี่ยงสูงอย่างเหมาะสม ขณะที่วัคซีนแม้จะอยู่เหนือการจัดการของท้องถิ่น แต่หากมีความเป็นไปได้ที่จะนำมาอยู่ในมือของท้องถิ่นก็จะส่งผลให้สัดส่วนของประชาชนที่ได้รับวัคซีนชัดเจนยิ่งขึ้น

#เครือข่ายร่วมสร้างชุมชนท้องถิ่นน่าอยู่
#สสส
#ชุมชนเข้มแข็ง
#ชุมชนท้องถิ่น รู้รับ ปรับตัว
——————————————————–
ดาวน์โหลด
เอกสารแนวทางการป้องกันและควบคุมโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019
โดยชุมชนท้องถิ่น