ปัญหาสุขภาพจิต ไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะกลุ่มคนในเมืองใหญ่เพียงเท่านั้น แต่เกิดขึ้นได้กับคนทั่วไปแถมมีแนวโน้มจะสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง
สหพันธุ์สุขภาพจิตโลก (World Federation for Mental Health) จึงกำหนดในวันที่ 10 ตุลาคมของทุกปี เป็น ‘วันสุขภาพจิตโลก’ เพื่อให้ทั่วโลกตระหนักถึงความสำคัญของสุขภาพจิต การป้องกันก่อนป่วยในกลุ่มเป้าหมายทุกช่วงวัย ป้องกันการฆ่าตัวตาย โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยง กลุ่มเปราะบางที่ได้รับผลกระทบจากสภาพเศรษฐกิจ สังคม

จากรายงานความสุขโลกปี 2565 พบแนวโน้มความสุขคนไทยลดลดต่อเนื่อง จากลำดับที่ 32 ในปี 2560 ลงไปที่ 61 ในปี 2565 รวมทั้งข้อมูลประเมินสุขภาพจิตคนไทยตลอดปี 2564 พบสัดส่วนผู้มีภาวะเครียดสูง 14.5% เสี่ยงซึมเศร้า 16.8% เสี่ยงฆ่าตัวตาย 9.5%
ข้อมูลจากกรมสุขภาพจิตปี 2565 พบว่าอำเภอเวียงหนองล่อง มีอัตราการฆ่าตัวตายเป็นอันดับหนึ่งในจังหวัดลำพูน คิดเป็น 29.42 ต่อแสนประชากร สูงกว่าตัวเลขของประเทศอย่างมาก ซึ่งอยู่ที่ 8.0 ต่อแสนประชากร
ด้วยสถานการณ์นี้เองทำให้เกิดการทำงานประสานความร่วมมือขึ้นในพื้นที่ ขับเคลื่อนภายใต้โครงข่ายทางสังคมทั้งจากเทศบาลตำบลวังผาง,โรงพยาบาลเวียงหนองล่อง, รพ.สต.ในพื้นที่, กำนัน/ผู้ใหญ่บ้าน ผู้นำชุมชน, อถล., อสม.ที่ประจำอยู่แต่ละชุมชน จนเกิด “นวัตกรรมเรดาร์ดับจับ-สุขภาพใจ” เกิดขึ้นในพื้นที่

คุณแม่วรรณา คงมี – ประธาน อสม. เขต รพ.สต.บ้านดงหลวง เล่าถึงการทำงานภายในพื้นที่ว่า ต.วังผาง มี “ชมรม อสม. ตำบลวังผาง” จากจำนวน 11 หมู่บ้านจำนวน 339คน อสม.1 คนจะดูแล 10 ครัวเรือน เข้าถึงพี่น้องทุกคนในชุมชน มีนวัตกรรมเรด้าดักชับ เป็นปฏิบัติการเฝ้ากระวังและแก้ไขปัญหาการฆ่าตัวตายของคนในชุมชน
“อสม.ก็เป็นคนบ้านใกล้เรือนเคียง พูดคุยสนิทสนมกับเพื่อนบ้านอยู่แล้ว ช่วงตอนเย็นบ้านไหน กินข้าวก็จะชวนกัน แบ่งปันกัน ทักทายกันอยู่บ่อย เราใช้ประโยชน์จากความสนิทสนมนี้ คอยติดตามและเฝ้าสังเกต อย่างบ้านไหนตั้งวงกินข้าวกันตอนเย็น นั่งคุย ปรึกษาหารือกัน” คุณแม่วรรณาเล่า
“ถ้าคนใดคนหนึ่งมีอะไรเปลี่ยนไปเราจะรู้ทันที เช่น ลุงบ้าน ก บ่นบ่อย ๆ ถึงเรื่อง ผ่อนรถ ติดหนี้คนโน้นคนนี้ หรือ พูดขึ้นมาว่าอยากตาย ไม่อยากมีชีวิตอยู่ ถ้าเราไม่อยู่ในเหตุการณ์ คนใกล้ชิดเขาเองจะเป็นคนมาบอกเราว่า คนนี้มีอาการแบบนี้นะ แปลกไปอย่างไร ท่าไม่ดีแล้ว อสม.เราฝึกมาแล้วจากโรงพยาบาล”ถ้ารายไหนสุ่มเสี่ยงมาก อย่างลุงบ้าน ก ที่แกบ่นอยากตาย แกมีพร้อมทั้งอุปกรณ์เชือกที่อยู่หลังรถ เราก็ต้องรีบแจ้งผู้ใหญ่บ้าน ผู้ใหญ่บ้านแจ้งไปยัง รพ.สต. คุณหมอที่ดูแลเรื่องจิตเวช ประสานงานไปยังเทศบาล จัดการสิ่งที่อยู่ตรงหน้าคือการระงับเหตุให้ไวที่สุด”
เรดาร์ดักจับ มีการทำงานจริงโดยเน้นไปที่กลุ่มเปราะบางที่ประสบปัญหาด้านเศรษฐกิจ การเงิน หนี้สิน กับกลุ่มคนในครอบครัวที่มีผู้ป่วยติดสารเสพติด ป่วยจิตเวช อสม.มีข้อมูลทั้งหมดว่า บ้านมีลูกบ้านกี่คน มีใครบ้าง กินอยู่กันอย่างไร ต้องดูแลหรือต้องมีการเฝ้าระวังระดับไหน
อสม.มีการทำงานเชิงรุกในพื้นที่ ด้านคุณรัชฎาภรณ์ ไชยเสน นักวิชาการสาธารณสุขชำนาญการ เทศบาลตำบลวังผาง ชี้ให้เห็นการทำงานภายใต้โครงการสังคมที่แข็งแรงของชุมชนอย่างเข้มข้น โดยมีกลุ่มเป้าหมายทั้ง กลุ่มผู้สูงอายุ วัยกลางคน เยาวชน ‘เข้าถึง ทั่วถึง เท่าเทียบ และไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง’ ยิ่งกลุ่มเปราะบาง ที่ส่วนใหญ่เป็นเกษตรกรที่มีภาวะหนี้สิน จากการลงทุนทำเกษตร ที่ต้นทุนสูง ในขณะเดียวกันกับรายได้ที่มีความไม่แน่นอน ราคาผลผลิตตกต่ำ ส่งผลต่อสภาพจิตใจ ก่อให้เกิดภาวะซึมเศร้าในพื้นที่
“บทบาทของเทศบาล เราทำหน้าที่ในการเชื่อมต่อและคอยสนับสนุนกัน เน้นไปในเรื่องการส่งเสริมและสนับสนุนเรื่องบุคคลากรในการทำงาน และผลักดันให้เกิดนวัตกรรม เช่น นวัตกรรมเรดาร์ดักจับที่มีเครือข่าย อสม. ที่แข็งแรงกระจายตัวอยู่ทั่วถึงทุกชุมชน ทุกหมู่บ้าน มี โรงพยาบาลและ รพ.สต.ในพื้นที่ ที่ทำงานเฝ้าระวังและคอยดูแลผู้ป่วยกลุ่มนี้อย่างเข้มข้น มีเครื่องมือเป็นแบบประเมินสุขภาพจิตที่ทำงานเชิงรุก คอยประเมินและเฝ้าสังเกตคนใกล้ตัวตลอดเวลา เมื่อสุขภาพใจดีขึ้น ก็ขยายขยับไปสู่การแก้ปัญหา เทศบาลมีนิติกร ช่วยให้คำปรึกษาสำหรับใครที่กำลังประสบปัญหาเรื่องหนี้สิน มีข้อกฎหมายเข้ามาเกี่ยวข้อง มีศูนย์เรียนรู้เกษตรพอเพียง หนองปลิงที่สร้างอาชีพ สร้างรายได้เพิ่มให้แก่เหล่าเกษตรกร”

ถึงแม้แนวโน้มตัวเลขการฆ่าตัวตายในภาพรวมจะเพิ่มขึ้น แต่อัตราความสำเร็จลดลงจากนวัตกรรมเรดาห์ดักจับนี้ เพราะเป้าหมายของเรดาร์ดักจับคือ ลดการสูญเสีย ไม่ว่าใครจะเจออะไรหรือผ่านสิ่งไหนมาบ้างแล้วจะมีประตูทางออกให้ก้าวเข้าไปเสมอ ไม่มีใครถูกทิ้งไว้ข้างหลัง พร้อมทั้งสร้างบรรยากาศที่ดีที่ให้พี่ ๆ น้อง ๆ ใช้ชีวิตอยู่ในสังคมได้อย่างมีความสุข มีกินมีใช้ สุขภาพกายและใจแข็งแรง