บันทึกข้อตกลง13 อบต.3จว.ใต้ ร่วมสร้างชุมชนปลอดบุหรี่

 

บันทึกข้อตกลง13 อบต.3จว.ใต้ เครือข่ายร่วมสร้างชุมชนท้องถิ่นน่าอยู่ภายใต้โครงการท้องถิ่นร่วมสร้างชุมชนปลอดบุหรี่

เมื่อวันอาทิตย์ที่ ๒๒ เมษายน พ.ศ.๒๕๖๑ณ โรงเรียนอนุบาลวิทยาปัญญานราธิวาส ตำบลมะรือโบตก อำเภอระแงะ จังหวัดนราธิวาส  13 อบต.3จว.ใต้ ภายใต้เครือข่ายร่วมสร้างชุมชนท้องถิ่น

เนื้อหาในบันทึกข้อตกลง อำนาจหน้าที่ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นตามที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติสภาตำบลและองค์การบริหารส่วนตำบล พ.ศ.๒๕๓๗ มาตรา ๖๖, ๖๗ และ ๖๘ หรือ พระราชบัญญัติเทศบาล พ.ศ.๒๔๙๖ มาตรา ๕๐, ๕๑ (เทศบาลตำบล) และมาตรา ๕๓, ๕๔ (เทศบาลเมือง) โดยมีเป้าหมายเพื่อ “เสริมสร้างความเข้มแข็งของชุมชนท้องถิ่น” อันนำไปสู่การมีคุณภาพชีวิตที่ดีของพลเมืองในเขตพื้นที่รับผิดชอบของตน

พันธกิจของกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น กระทรวงมหาดไทย และพันธกิจของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) โดยสำนักสนับสนุนสุขภาวะชุมชน (สำนัก ๓) มีเป้าหมายเดียวกัน คือ การเพิ่มขีดความสามารถขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและการเสริมสร้างความเข้มแข็งของชุมชนท้องถิ่น ที่ให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วมของประชาชนและประสิทธิภาพในการบริหารจัดการ โดยจัดบริการสาธารณะที่มีคุณภาพและมีมาตรฐานครอบคลุมทุกกลุ่มเป้าหมายทั่วทุกพื้นที่ ทั้ง ๒ หน่วยงาน จึงได้จัดทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (เอกสารแนบท้ายหมายเลข ๑) เพื่อแสดงเจตนารมณ์ที่จะร่วมมือกันส่งเสริม สนับสนุน และพัฒนาขีดความสามารถองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น

“พระราชบัญญัติควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ พ.ศ. 2560” ถือเป็นมาตรการทางกฎหมายเพื่อการควบคุมยาสูบฉบับล่าสุดของประเทศไทย โดยมีผลบังคับใช้เป็นกฎหมายตั้งแต่วันที่ 4 กรกฎาคม 2560 เป็นต้นไป ซึ่งเหตุผลสำคัญที่ต้องมีการกำหนดมาตรการทางกฎหมาย โดยมุ่งหมายปกป้องคุ้มครองเด็กและเยาวชนให้ห่างไกลจากการบริโภคผลิตภัณฑ์ยาสูบ รวมถึงกำหนดมาตรการในการคุ้มครองสิทธิและสุขภาพในสถานที่สาธารณะของประชาชนผู้ไม่สูบบุหรี่

 

ปฏิญญา เครือข่ายร่วมสร้างชุมชนท้งถิ่นน่าอยู่ร่วมขับเคลื่อนปฎิรูประบบปฏิบัติการของชุมชนท้องถิ่น สู่เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ประจำปี ๒๕๖๑ น้อมนำศาสตร์พระราชา “เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา” และ “ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง” มาเป็นทิศทาง วิธีการ ขั้นตอน และกระบวนการเสริมสร้างความเข้มแข็งของชุมชนท้องถิ่น อันส่งผลให้เกิดความสุขและความยั่งยืนในทุกมิติ

เพื่อเพิ่มขีดความสามารถขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในการส่งเสริมและสนับสนุนให้เกิดความเข้มแข็งของชุมชน ควบคู่กับการร่วมกันส่งเสริมให้ชุมชนท้องถิ่นจัดการตนเองสู่การเป็นชุมชนท้องถิ่นน่าอยู่

โดยมียุทธศาสตร์ ๓ ประการ ประกอบด้วย (๑) การจัดระบบการจัดการสุขภาวะในพื้นที่ (Systematization) ด้วยความเข้าใจถึงศักยภาพทุนทางสังคมและกลไกการทำงานร่วมกันในพื้นที่ของตนเอง เพื่อใช้เป็นข้อมูลในการกำหนดเป้าหมายและการออกแบบระบบให้สอดคล้องกับบริบทพื้นที่ (๒) การพัฒนานวัตกรรม (Innovation) โดยการกระตุ้นหรือสร้างเงื่อนไขให้พื้นที่ได้พัฒนาแนวทางและวิธีการใหม่ๆ ในการพัฒนารวมไปถึงการนำความคิดหรือหลักการใหม่มาใช้ในการกำหนดแนวทางการพัฒนาสุขภาวะในพื้นที่ และ(๓) การบูรณาการงาน (Integration) ด้วยการสร้างหลักสูตรพัฒนาศักยภาพและการจัดการเรียนรู้ค้นหาแนวทางและวิธีการที่จะบูรณาการเข้าสู่ระบบการทำงานปกติขององค์กรหรือหน่วยงาน เน้นการเสริมพลังความร่วมมือให้องค์กรหลักในชุมชนได้ทำบทบาทหน้าที่ของตนได้อย่างเต็มศักยภาพ จึงได้จัดทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือฉบับนี้ ระหว่าง ๔ ฝ่าย ประกอบด้วย

๑)      สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) โดย นางสาวดวงพร เฮงบุณยพันธ์ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะชุมชน

๒)      เทศบาลตำบลมะรือโบตก โดย นายอาห์มัด สาเมาะ นายกเทศมนตรีตำบลมะรือโบตก ในฐานะ ศูนย์ประสานงานเครือข่ายเฉพาะประเด็น

๓)      องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเครือข่าย โดย นายกองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเครือข่าย ทั้ง 12แห่ง ในฐานะสมาชิกเครือข่ายในฐานะสมาชิกเครือข่าย

๔)      ศูนย์สนับสนุนวิชาการเพื่อการจัดการเครือข่าย พื้นที่ภาคใต้ตอนล่าง (ศวภ.ใต้ตอนล่าง)      โดย นายนัสรอน  บินเจ๊ะเลาะ ผู้จัดการศูนย์สนับสนุนวิชาการเพื่อการจัดการเครือข่ายภาคใต้ตอนล่าง          (ศวภ.ใต้ตอนล่าง)

โดยมีสาระสำคัญ ๓ ส่วน ประกอบด้วย ส่วนที่ ๑ บทบาทหน้าที่ของกลไกที่เกี่ยวข้อง ส่วนที่ ๒ ตัวชี้วัดการควบคุมการบริโภคยาสูบ และส่วนที่ ๓ แนวทางการดำเนินงาน ดังนี้

ส่วนที่ ๑ บทบาทหน้าที่ของกลไกที่เกี่ยวข้อง

๑.๑ เครือข่ายร่วมสร้างชุมชนท้องถิ่นน่าอยู่ หมายถึง องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น สถาบันวิชาการหรือองค์กรทางวิชาการ องค์กรชุมชน องค์กรภาคประชาสังคม และสำนักสนับสนุนสุขภาวะชุมชน (สำนัก ๓) ที่มีเป้าหมายเพื่อร่วมขับเคลื่อนชุมชนท้องถิ่นให้น่าอยู่ โดยมีบทบาทสำคัญในการสร้างการเรียนรู้ร่วมกัน การผลักดันให้เกิดนโยบายสาธารณะระดับตำบล เครือข่าย และจังหวัด รวมถึงการขับเคลื่อนและรณรงค์ให้มีการกระจายอำนาจให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและคืนอำนาจให้ชุมชน

๑.๒ ศูนย์ประสานงานเครือข่ายเฉพาะประเด็น (ศปง.) หมายถึง พื้นที่ระดับตำบลในเขตรับผิดชอบของเทศบาลตำบลมะรือโบตก ที่มีทุนทางสังคมและศักยภาพของชุมชนท้องถิ่นในการควบคุมการบริโภคยาสูบ และมีความพร้อมในการถ่ายทอดกระบวนการดำเนินงาน ให้กับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเครือข่าย หน่วยงาน บุคคลและผู้ที่สนใจ รวมถึงทำหน้าที่เป็นกลไกบริหารจัดการเครือข่ายและการอำนวยการให้การขับเคลื่อนงานประเด็นควบคุมการบริโภคยาสูบสู่การปฏิบัติและบูรณาการในพื้นที่

๑.๓ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) โดยสำนักสนับสนุนสุขภาวะชุมชน (สำนัก ๓) มีบทบาทหน้าที่เป็นที่ปรึกษาและสนับสนุนงบประมาณผ่านศูนย์ประสานงานเครือข่ายและจัดการเรียนรู้ (ศปง.) เพื่อสนับสนุนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเครือข่ายในการดำเนินการควบคุมการบริโภคยาสูบโดยน้อมนำศาสตร์พระราชาเพื่อความเข้มแข็งของชุมชนท้องถิ่น ในวงเงิน ๑๐๐,๐๐๐ บาท (หนึ่งแสนบาทถ้วน) รวมถึงสนับสนุนกิจกรรมการรณรงค์และผลักดันนโยบาย ผ่านเทศบาลตำบลมะรือโบตก เป็น “ศูนย์ประสานงานเครือข่ายเฉพาะประเด็น”

๑.๔ เทศบาลตำบลมะรือโบตก เป็น “ศูนย์ประสานงานเครือข่ายเฉพาะประเด็น ” ทำหน้าที่ในการประสานงานกำกับติดตาม จัดการเรียนรู้ และพัฒนานวัตกรรมการควบคุมการบริโภคยาสูบ รวมถึงพัฒนานโยบายสาธารณะในระดับพื้นที่ร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเครือข่าย ให้ความช่วยเหลือทางวิชาการตามคำร้องขอ และติดตามให้การดำเนินงานขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเครือข่ายเป็นไปอย่างได้ผล

๑.๕ อปท.เครือข่าย หมายถึง องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่เข้ามาเป็นสมาชิกและรับการฝึกอบรมจากเทศบาลตำบลมะรือโบตก ซึ่งทำหน้าที่เป็น “ศูนย์ประสานงานเครือข่ายเฉพาะประเด็น (ศปง.)” โดยมีการลงนามในข้อตกลงความร่วมมือเป็นภาคีร่วมพัฒนากับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น มีความตั้งใจในการเข้ารับการฝึกอบรมเพื่อนำความรู้ไปขับเคลื่อนการพัฒนาระบบการสร้างเสริมสุขภาวะโดยใช้พื้นที่เป็นฐาน ด้วยการกำหนดและออกแบบนวัตกรรมให้สอดคล้องกับบริบทพื้นที่ตนเองได้ ตามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือนี้ ในที่นี้หมายถึง องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทั้ง ๑2 แห่ง ดำเนินการควบคุมการบริโภคยาสูบโดยใช้พื้นที่เป็นฐาน โดยใช้แนวทางการดำเนินงานตาม ๗ กลุ่มกิจกรรม ประกอบด้วย 1) การรณรงค์ในทุกระดับ 2) การจัดสภาพแวดล้อมปลอดบุหรี่ 3) กติกาหรือมาตรการทางสังคม 4) มาตรการขององค์กร กลุ่มทางสังคม หน่วยงาน 5) การบังคับใช้กฎหมาย 6) การเสริมทักษะบุคคล ครอบครัว 7) การบำบัดและฟื้นฟู (เอกสารแนบท้ายหมายเลข ๓ และ ๔)

๑.๖ ศูนย์สนับสนุนวิชาการเพื่อการควบคุมการบริโภคยาสูบ (ศวฉ.ยาสูบ) มีบทบาทหน้าที่ในการสนับสนุนทางวิชาการและกำกับติดตามการดำเนินงานให้เป็นไปตามแผนปฏิบัติการและตามเป้าหมายที่ได้กำหนดร่วมกับเทศบาลตำบลมะรือโบตก และสำนักสนับสนุนสุขภาวะชุมชน (สำนัก ๓)

๑.๗ ศูนย์สนับสนุนวิชาการเพื่อการจัดการเครือข่าย พื้นที่ภาคใต้ตอนล่าง (ศวภ.ใต้ตอนล่าง) มีบทบาทหน้าที่ในการสนับสนุนและอำนวยความสะดวกในการพัฒนาด้านวิชาการและการบริหารจัดการ ให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเครือข่าย รวมถึงมีบทบาทสำคัญในการอำนวยการให้ขบวนการขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะเพื่อสุขภาพที่เป็นข้อตกลงร่วมกันของเครือข่ายร่วมสร้างชุมชนท้องถิ่นน่าอยู่ได้มีการนำสู่การปฏิบัติในพื้นที่และส่งผลต่อความเข้มแข็งของชุมชนท้องถิ่น

 

ส่วนที่ ๒ ตัวชี้วัดการควบคุมการบริโภคยาสูบ

๒.๑ เกิดบุคคลต้นแบบจากผู้ที่ไม่สูบบุหรี่ หรือผู้ที่เลิกบุหรี่ เช่น ผู้นำชุมชนไม่สูบบุหรี่มาเป็นแกนนำในการสร้างแรงจูงใจในการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการสูบบุหรี่

๒.๒ มีการพัฒนากลไกการทำงานร่วมกัน เพื่อป้องกันนักสูบหน้าใหม่และควบคุมการบริโภคยาสูบ ให้ครอบคลุมทุกเป้าหมาย

๒.๓ มีครอบครัวต้นแบบในการ ลด ละ เลิก การบริโภคยาสูบ เป็นแกนนำในการสร้างแรงจูงใจในการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการสูบบุหรี่ ให้ครัวเรือนอื่นจนพัฒนาเป็นเครือข่ายครอบครัวไร้ควัน อย่างน้อยร้อยละ ๕ ของจำนวนครัวเรือนแต่ละหมู่บ้าน

๒.๔ มีกิจกรรมรณรงค์ในการควบคุมการบริโภคยาสูบนะระดับพื้นที่ อย่างน้อย ๒ ครั้ง

๒.๕ ผู้บริโภคยาสูบในพื้นที่ ประกอบด้วย นักสูบหน้าใหม่,นักสูบหน้าเดิม เข้าสู่กระบวนการ ลด ละ เลิก อย่างน้อย ร้อยละ ๓๐ ของจำนวนผู้สูบบุหรี่

๒.๖ กำหนดเขตปลอดบุหรี่ตามกฏหมาย เช่น โรงพยาบาล วัด โรงเรียน สถานที่ทำงาน ที่สาธารณะ ร้านอาหาร ร้านค้า ลานกิจกรรม

๒.๗ เกิดกติกาและมาตรการทางสังคมในการควบคุมการบริโภคยาสูบ

๒.๘ เกิดการพัฒนาการบริการในพื้นที่ ให้หนุนเสริมกระบวนการพัฒนาการควบคุมการบริโภคยาสูบในพื้นที่

๒.๙ เกิดนวัตกรรมที่เป็นรูปธรรมด้านการควบคุมการบริโภคยาสูบ อย่างน้อยละ ๒ เรื่อง

 

ส่วนที่ ๓ แนวทางการดำเนินงาน

สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) โดยสำนักสนับสนุนสุขภาวะชุมชน (สำนัก 3) สนับสนุนงบประมาณสนับสนุนงบประมาณผ่าน เทศบาลตำบลมะรือโบตก ในบทบาทของ“ศูนย์ประสานงานเครือข่ายเฉพาะประเด็น” ในการดำเนินการควบคุมการบริโภคยาสูบ โดยน้อมนำศาสตร์พระราชาเพื่อความเข้มแข็งของชุมชนท้องถิ่น (เอกสารแนบท้ายหมายเลข ๓ และ ๔ ) เพื่อดำเนินการดังนี้

๓.๑ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ทั้ง ๑2 แห่ง มีการแต่งตั้งคณะทำงานหรือคณะกรรมการเพื่อการควบคุมการบริโภคยาสูบโดยใช้พื้นที่เป็นฐาน เพื่อดำเนินการให้เป็นไปตามข้อตกลงความร่วมมือนี้ โดยจัดทำแผนปฏิบัติการซึ่งมีระยะเวลา 1 ปี ในการขับเคลื่อนการดำเนินการ

๓.๒ เทศบาลตำบลมะรือโบตก และผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทั้ง ๑๒ แห่ง มีการประชุมร่วมกันอย่างสม่ำเสมออย่างน้อย ๓ เดือนครั้ง เพื่อติดตาม หนุนเสริมการดำเนินงานด้วยการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์การดำเนินงานของแต่ละพื้นที่ในการควบคุมการบริโภคยาสูบ

๓.๓ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทั้ง ๑2 แห่ง ดำเนินกิจกรรมใน ๗ ชุดกิจกรรม เพื่อการควบคุมการบริโภคยาสูบโดยใช้พื้นที่เป็นตัวตั้ง ดังนี้ ๑) การรณรงค์ในทุกระดับ ๒) การจัดสภาพแวดล้อมปลอดบุหรี่             ๓) กติกาหรือมาตรการทางสังคม ๔) มาตรการขององค์กร กลุ่มทางสังคม หน่วยงาน ๕) การบังคับใช้กฎหมาย        ๖) การเสริมทักษะบุคคล ครอบครัว และ ๗) การบำบัดและฟื้นฟู

๓.๔ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทั้ง ๑2 แห่ง ดำเนินการถอดบทเรียน แลกเปลี่ยนเรียนรู้กิจกรรมเด่น นวัตกรรมการควบคุมการบริโภคยาสูบในพื้นที่

๓.๕ กิจกรรมอื่นที่มีการประกาศเป็นข้อตกลงร่วมกันของเครือข่ายร่วมสร้างชุมชนท้องถิ่นน่าอยู่

บันทึกข้อตกลงความร่วมมือนี้ ได้จัดทำขึ้นเป็นจำนวน ๔ ฉบับ มีข้อความถูกต้องตรงกัน ทุกฝ่ายได้อ่านและเข้าใจข้อความในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือนี้โดยตลอดแล้ว จึงลงลายมือชื่อไว้เป็นหลักฐานในข้อตกลงความร่วมมือครั้งนี้ และแต่ละฝ่ายต่างถือไว้ฝ่ายละฉบับ

 

ลงชื่อ ………………………………………………………..

(นายอาห์มัด สาเมาะ)

นายกเทศมนตรีตำบลมะรือโบตก

อำเภอระแงะ จังหวัดนราธิวาส

ลงชื่อ ………………………………………………………..

(นายฆอยรินทร์  บินสะมะแอล)

นายกองค์การบริหารส่วนตำบลบาโงสะโต

อำเภอระแงะ จังหวัดนราธิวาส

ลงชื่อ ………………………………………………………..

(นายจริเดช  ซามาเละ)

นายกองค์การบริหารส่วนตำบลลูโบะบือซา

อำเภอยี่งอ  จังหวัดนราธิวาส

 

ลงชื่อ ………………………………………………………..

(นายวิรัต  แซ่ตัน)

นายกองค์การบริหารส่วนตำบลตะเนาะแมเราะ

อำเภอเบตง  จังหวัดยะลา

ลงชื่อ ………………………………………………………..

(นายสูดิง  เจ๊ะโซ๊ะ)

นายกองค์การบริหารส่วนตำบลมะรือโบตก

อำเภอระแงะ  จังหวัดนราธิวาส

ลงชื่อ ………………………………………………………..

(นายรุสลัน  อารง)

นายกองค์การบริหารส่วนตำบลโคกเคียน

อำเภอเมือง  จังหวัดนราธิวาส

ลงชื่อ ………………………………………………………..

(นายมหามะยูฮารี  ลาเต๊ะนือริง)

นายกองค์การบริหารส่วนตำบลจวบ

อำเภอเจาะไอร้อง  จังหวัดนราธิวาส

 

 

ลงชื่อ ………………………………………………………..

(นายอับดุลกอเดร์  อาบูซาแล)

นายกองค์การบริหารส่วนตำบลซากอ

อำเภอศรีสาคร  จังหวัดนราธิวาส

ลงชื่อ ………………………………………………………..

(นายพิมาน ยูโซ๊ะ)

นายกองค์การบริหารส่วนตำบลตันหยงมัส

อำเภอระแงะ  จังหวัดนราธิวาส

ลงชื่อ ………………………………………………………..

(นายอาหะมะฟารี  โละมะ)

นายกองค์การบริหารส่วนตำบลสามัคคี

อำเภอรือเสาะ  จังหวัดนราธิวาส

ลงชื่อ ………………………………………………………..

(นายอับดุลอาซิ เจะเต๊ะ)

นายกองค์การบริหารส่วนตำบลยี่งอ

อำเภอยี่งอ จังหวัดนราธิวาส

ลงชื่อ ………………………………………………………..

(นายสมปอง  มั่นคง)

ปลัดเทศบาลเมือง ปฏิบัติหน้าที่แทน

นายกเทศมนตรีเมืองตะลุบัน

อำเภอสายบุรี  จังหวัดนราธิวาส

ลงชื่อ ………………………………………………………..

(นายพงศ์ศักดิ์  หมานละงู)

ปลัดองค์การบริหารส่วนตำบล ปฏิบัติหน้าที่แทน

นายกองค์การบริหารส่วนตำบลลาโละ

อำเภอรือเสาะ  จังหวัดนราธิวาส

ลงชื่อ …………………………………………………………….

(นางสาวดวงพร เฮงบุณยพันธ์)

ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะชุมชน

สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)

ลงชื่อ …………………………………………………………

(นายนัสรอน  บินเจ๊ะเลาะ)

ผู้จัดการศูนย์สนับสนุนวิชาการเพื่อการจัดการเครือข่ายภาคใต้ตอนล่าง (ศวภ.ใต้ตอนล่าง)

ลงชื่อ ……………………………………………………..(พยาน)

(นายสมพร ใช้บางยาง)

ประธานเครือข่ายร่วมสร้างชุมชนท้องถิ่นน่าอยู่

สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)

ลงชื่อ ……………………………………………(พยาน)

(นายปวัน พรหมตัน)

ผู้จัดการศูนย์ศูนย์สนับสนุนวิชาการ

เพื่อการควบคุมการบริโภคยาสูบ (ศวฉ.ยาสูบ)