ท้องถิ่นขนาดกลางไม่เล็กไม่ใหญ่ ดูแลประชาชนในพื้นที่ประมาณ 7,000 คนครอบคลุม 9 หมู่บ้าน อย่าง อบต.นาทอน อ.ทุ่งหว้า จ.สตูล นับว่าเป็นท้องถิ่น “มากฝีมือ” ที่ทำให้ชาวบ้านมีคุณภาพชีวิตที่ดี มีส่วนร่วมกับทุกๆ กิจกรรม
ในพื้นที่ อบต.นาทอน มีปัญหาเหมือนกับที่อื่นๆ ทั่วไป โดยเฉพาะเรื่องสุขภาพ ชาวบ้านเป็น เบาหวาน ความดันโลหิตสูง แต่ที่ อบต.นาทอน มักจะเน้นการให้ความรู้แก่ประชาชน ให้ทุกคนมีความเข้าใจในระบบสุขภาพที่ทุกคนสามารถมีส่วนร่วมในการสร้างระบบสุขภาพของเขาเอง โดยผ่านการเขียนโครงการเพื่อของบประมาณสนับสนุนเพื่อการดำเนินงาน เพื่อให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ที่เขียนไว้
“นี่คือรูปแบบหนึ่งของการสร้างการมีส่วนร่วม” สมยศ ฤทธิ์ธรรมนาถ นายก อบต.นาทอน อำเภอทุ่งหว้า จังหวัดสตูล บอกและย้ำว่า “ผมเปิดโอกาสให้ประชาชนในพื้นที่ อบต.นาทอน สามารถเขียนโครงการที่เกี่ยวกับการพัฒนาสุขภาพของคนในพื้นที่ได้ เพราะผมเชื่อว่า คนในพื้นที่จะเข้าใจวิถีชีวิต และรู้ปัญหาได้ดีกว่าคนนอกพื้นที่”
ถ้าจะให้สรุปแนวทางการสร้างการมีส่วนร่วมของชาวนาทอน นายกฯสมยศ บอกว่า เรื่องแรกต้องสร้างความรู้สึกความเป็นเจ้าของร่วมกัน ตำบลนี้ไม่ได้เป็นของคนใดคนหนึ่ง โดยใช้กลไก 5 เสาร่วมหรือ 4 เสาหลัก ประกอบด้วยท้องที่ ท้องถิ่น องค์กรศาสนา องค์กรภาคประชาชน ภาครัฐ หรือเอกชนในพื้นที่ เมื่อมีความรู้สึกถึงความเป็นเจ้าของตำบลแล้ว ชาวบ้านจะมีความรู้สึกหวงแหน อยากดูแลพื้นที่ของตน เกิดการตื่นตัว อยากมีส่วนร่วมกับการทำกิจกรรมต่าง ๆ ของตำบล
“คือเราต้องเชื่อว่าทุกคนนั้นมีศักยภาพ มีความดีงาม มีความโดดเด่นที่อาจจะแตกต่างกันออกไป และนำความดีงามความโดดเด่นของแต่ละคนมาร้อยเรียงเกี่ยวพันกันเป็นสรรพกำลัง” นายกอบต.นาทอน บอก
กลไกหรือเครื่องมือที่นำมาใช้สร้างความมีส่วนร่วม ก็ไม่ได้มีอะไรซับซ้อน ซึ่งนายกฯสมยศ ชี้ว่า ในระดับตำบลนั้นใช้ธรรมนูญชุมชนจะเห็นผลชัดกว่าและง่ายกว่า โดยใช้ 4 เสาหลักเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อน
ส่วนคำว่า “ธรรมนูญ” นั้น เป็นการค้นหาประเด็นร่วมและสร้างความเป็นเจ้าของต่อประเด็น เช่น เรื่องของการจัดการขยะ ถ้าสามารถทำให้คนในชุมชนรู้สึกว่าการจัดการขยะเป็นความร่วมมือของทุกคนในชุมชนก็จะเป็นเรื่องที่ดี เริ่มจากครอบครัว คือจะต้องมีการพูดคุยว่าจะคัดแยกขยะทั้งพ่อ แม่ ลูก หลาน ทุกคนในบ้าน สิ่งนี้นายกฯสมยศ มองว่า เป็นการสร้างประเด็นการมีส่วนร่วม สร้างความเป็นเจ้าของประเด็น โดยให้มีการเปิดพื้นที่กลางเพื่อถกเถียงพูดคุยกัน เพื่อหาฉันทามติ
ในการเปิดเวทีพูดคุยประเด็นที่เป็นสาธารณะ จะต้องให้ทุกคนมีความรู้สึกเป็นเจ้าของต่อประเด็นนั้น 100% หรือเกือบ 100% ที่จะต้องเห็นชอบ ถ้ายังไม่เข้าใจก็ต้องอธิบายซ้ำเพื่อให้เข้าใจ มีความเป็นเจ้าของต่อประเด็น ไม่ได้อาศัยการโหวตเสียงข้างมาก
“ระบบเสียงข้างมากมันจะไม่เหมือนกับการตกผลึกแบบฉันทามตินะครับ การใช้เสียงข้างมากคือระบบสภา แพ้ชนะกันแค่คะแนนเดียว ก็จะต้องไปทำในประเด็นนั้น พอไปทำคนที่เห็นด้วยก็ทำไป คนที่ไม่เห็นด้วยก็เอาเท้าราน้ำ แต่ระบบธรรมนูญเป็นกระบวนการนโยบายสาธารณะแบบการมีส่วนร่วม ต้องเปิดพื้นที่กลางพูดคุยเพื่อที่จะดึงประเด็นร่วมที่ทุกคนเป็นเจ้าของออกมาจัดการว่าจะทำหรือไม่ทำในเรื่องนั้น ๆ เมื่อทุกคนมีความเป็นเจ้าของต่อประเด็นเราก็ไม่ต้องบังคับ เขาทำเพราะเขามีความรัก มีความหวงแหน มีการป้องกัน มีการคัดค้านอะไรก็ว่ากันไป” นายกฯสมยศ อธิบายชัดเจน
ดังนั้นตำบลนาทอนจึงมีบรรยากาศประชาธิปไตย แบบ “ประชาธิปไตยยกกำลังสอง” คือไม่ใช้ระบบเสียงข้างมากอย่างเดียว เพราะบางครั้งเสียงข้างมากคือประชาธิปไตยระบบตัวแทน ซึ่งบางครั้งตัวแทนก็ไม่ได้สอบถามว่าความจริงแล้วชุมชนต้องการอะไร อย่างไรก็ตามตำบลนาทอนก็ไม่ได้ทิ้งกลไกของรัฐ อย่างกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน สมาชิกอบต. ที่ผ่านการเลือกตั้งมา แต่ใช้ประชาธิปไตยอีกรูปแบบหนึ่ง คือประชาธิปไตยทางตรง หมายถึงธรรมนูญ หมายถึงสมัชชา การเปิดพื้นที่กลางเพื่อถกแถลงโดยเชื่อว่าทุกคนมีศักยภาพ ไม่ได้เก่งอยู่คนเดียว เชื่อในคนอื่น ให้เกียรติคนอื่น
“แล้วเราก็เอาประชาธิปไตยสองรูปแบบนี้มาเคลื่อนไปพร้อมกัน แบบนี้เป็นการใช้ประชาธิปไตยยกกำลังสอง” นายก อบต. นาทอน ย้ำและว่า ธรรมนูญชุมชนมีความจำเป็น แต่กว่าจะได้มา ต้องสร้างความเข้าใจให้คนในชุมชน สร้างกระบวนการประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วม และต้องทำให้ชุมชนเชื่อในศักยภาพของตนเองและคนอื่น แล้วชวนมาร่วมกันคิดร่วมกันทำ
นายกฯสมยศ แนะนำด้วยว่า ปัญหาของประเทศไทยปัจจุบันนี้ เกิดเพราะใช้ประชาธิปไตยตัวแทนเพียงอย่างเดียว เลือกคนเข้าไปทำหน้าที่ในสภาฯ และแบ่งเป็นฝ่ายรัฐกับฝ่ายค้าน เมื่อถึงคราวประชุมสภาฯ ฝ่ายค้านก็บอกว่าสิ่งที่รัฐบาลทำนั้น ไม่มีประโยชน์ ทั้งๆ ที่บางเรื่องก่อนที่รัฐบาลจะนำมาเสนอก็ต้องมีกระทรวง มีนักวิชาการเฉพาะทางคิดมาแล้ว พอรัฐบาลเอามาคุยในสภาฯ ปรากฏฝ่ายค้านบอกว่าสิ่งที่ท่านคิดมานั้น ล้มเหลว เขาจึงอยากเสนอว่าเปลี่ยนชื่อฝ่ายค้านเป็นฝ่ายตรวจสอบและหนุนเสริม เพื่อเติมเต็มกันและกัน