ประมวลปฏิบัติการชุมชนท้องถิ่นสู่เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน
ข้อที่ 1
กระบวนการเรียนรู้โดยใช้ปฏิบัติการของชุมชนท้องถิ่นที่คัดสรร ในช่วง ๒ วันที่ผ่านมาเปรียบเสมือน ยอดภูเขาน้ำแข็ง ของการพัฒนาในระดับชุมชนท้องถิ่น หากเทียบเคียงกับการดำเนินการให้ตอบสนองต่อเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ที่ประเทศไทยและหลายประเทศทั่วโลกกำลังให้ความสำคัญ จะเห็นว่ามีความทับซ้อนและสอดคล้องกัน เนื่องจากมีจุดหมายเดียวกันคือ พัฒนาและยกระดับคุณภาพชีวิตประชาชน ซึ่งกระบวนการเสริมความเข้มแข็งของชุมชนท้องถิ่น เป็นกระบวนการที่ใช้พื้นที่เป็นฐานการพัฒนา คือ การใช้ศักยภาพและทุนทางสังคมที่มีอยู่ในการขับเคลื่อนงานพัฒนาทั้งมวล
ข้อที่ 2
การวิเคราะห์ปฏิบัติการของชุมชนท้องถิ่นที่มีส่วนตอบสนองเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนในเครือข่ายร่วมสร้างชุมชนท้องถิ่นน่าอยู่ สำหรับการเรียนรู้ในครั้งนี้ อาศัยหลาย ขั้นตอน คือ
2.1)การทำความเข้าใจเชิงทฤษฎี ระหว่างเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน และ การเสริมสร้างชุมชนท้องถิ่นเข้มแข็งโดยเฉพาะที่เป็นองค์ความรู้ที่เกิดขึ้นในทศวรรษที่ผ่านมาเพื่อสังเคราะห์ชุดปฏิบัติการ ที่เปรียบเสมือนตัวชี้วัดในการขับเคลื่อนสู่เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ในระดับชุมชนท้องถิ่น
2.2)การสำรวจตนเองของชุมชนท้องถิ่น รวมทั้งการสรุปประสบการณ์และบทเรียนในการพัฒนาในพื้นที่ อันแสดงให้เห็นว่าแต่ละปฏิบัติการก่อให้เกิดผลกระทบที่ตอบสนองเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนอย่างไร ใครเป็นผู้กระทำ ด้วยกระบวนการวิธีการใดบ้าง และมีความเหมือนและความต่างกับปฏิบัติการอื่นอย่างไร
2.3)การวิเคราะห์จัดกลุ่มงาน กิจกรรม บริการที่อาจเทียบเคียงให้เห็นความทับซ้อนและการบูรณาการ จนเห็นสถานการณ์ “ทำหนึ่งอย่าง กระทบหลายอย่าง ทำหนึ่งอย่างทะลุหลายเป้าหมาย” และ
ข้อที่ 3
การคัดสรรปฏิบัติการของชุมชนท้องถิ่นเพื่อการเรียนรู้นี้ ใช้กระบวนการ คัดเลือกปฏิบัติการทั้งที่เกิดขึ้นได้ในระยะปกติ และ เมื่อเกิดพิบัติภัย และ ส่วนที่เป็นนวัตกรรมและการวิจัย ทั้งนี้เพื่อแสดงว่า ชุมชนท้องถิ่น “มีการรื้อสร้างการพัฒนาอย่างต่อเนื่องและ ก้าวกระโดด” โดยภาพรวม ชุมชนท้องถิ่นส่วนใหญ่มีปฏิบัติการ ที่สามารถตอบสนองแต่ละเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ได้ มากกว่าร้อยละ 80
ข้อที่ 4
กลุ่มที่ 1 เน้นปฏิบัติการที่สร้างผลกระทบให้เกิด การปกปักรักษาระบบนิเวศของชุมชน เพื่อการมีน้ำดื่มน้ำใช้ที่ถูกสุขอนามัย มีการผลิตและการบริโภคที่ยั่งยืน ส่งผลต่อการลดโลกร้อน มีการอนุรักษ์และใช้ทรัพยากรทางทะเลอย่างยั่งยืน มีการปกป้องและฟื้นฟูระบบนิเวศ รวมถึงการยุติการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ ด้วย ซึ่งปฏิบัติการเด่นในกลุ่มนี้ได้แก่
- การจัดหาน้ำเพื่อการอุปโภค บริโภคและบำบัดน้ำเสีย
- การส่งเสริมให้เกิดกลุ่มเกษตรกร ทำเกษตรอินทรีย์ และปลูกผักเลี้ยงสัตว์กินเอง
- การฝึกอบรมอาสาสมัครจัดการภัยพิบัติ
- การสนับสนุนการมีส่วนร่วมของชุมชน ในการรณรงค์รักษาสิ่งแวดล้อม และทรัพยากรทางน้ำ
- การสนับสนุนให้ชุมชนจัดกิจกรรมปลูกป่าในวันสำคัญต่างๆ เพื่อเพิ่มพื้นที่ป่าไม้ให้ได้ร้อยละ ๔๐ ของพื้นที่ เป็นต้น
ปฏิบัติการกลุ่มนี้ส่วนใหญ่เป็นการบูรณาการ จากการจัดการทรัพยากรธรรมชาติ การจัดการน้ำ ไปสู่ การพัฒนาการเกษตรและการสร้างความมั่นคงทางอาหาร การบริโภคอย่างยั่งยืน การสร้างความเท่าเทียมในการใช้ทรัพยากร รวมทั้งการสร้างเศรษฐกิจด้วย
ข้อที่ 5
กลุ่มที่ 2 เป็นปฏิบัติการที่สร้างผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจแบบพอเพียง และความมั่นคงของชุมชน เพื่อ การเข้าถึงบริการทางพลังงาน การขยายตัวทางเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน การประกอบอุตสาหกรรมอย่างยั่งยืน การลดความไม่เท่าเทียมกันภายในและระหว่างประเทศ การพัฒนาชุมชนเมืองที่ยั่งยืน ปฏิบัติการเด่น ได้แก่ ปฏิบัติการที่
- สนับสนุนการจัดทำข้อมูลการใช้ไฟฟ้า และความครอบคลุมของการเข้าถึงไฟฟ้าของประชากรทุกครัวเรือน
- ส่งเสริมให้เกษตรกรได้รับการฝึกอบรมการทำและใช้ปุ๋ยอินทรีย์และสารป้องกันแมลงศัตรูพืชแบบชีวภาพเพื่อความยั่งยืน
- ส่งเสริมกองทุนและการออมเพื่อประกอบกิจการ ได้แก่ เกษตรอินทรีย์ วิสาหกิจชุมชน
- จัดเก็บและปรับปรุงข้อมูลพื้นฐาน เช่น คนยากจน ด้อยโอกาส หนี้สิน
- สนับสนุนให้ครัวเรือนได้รับการอำนวยความสะดวก ปลอดภัยและเข้าถึง สาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน เช่น กติกาชุมชน ข้อตกลงการรักษาป่า น้ำ ดิน
โดยกลุ่มปฏิบัติการนี้เป็นการเสริมความเข้มแข็งให้กับการสร้างอาชีพ ลดรายจ่าย และเศรษฐกิจชุมชน และความปลอดภัยในการดำเนินชีวิต อันเป็นผลจากการจัดการทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมที่มีในพื้นที่ และการอยู่ร่วมกันของคนในชุมชน ด้วย
ข้อที่ 6
กลุ่มที่ ๓ เป็นปฏิบัติการที่สามารถสร้างความเท่าเทียม ทั่วถึง และเกื้อกูลในชุมชน ในการขจัดความยากจน ขจัดความหิวโหย รวมทั้งสร้างความมั่นคงทางอาหาร ให้ทุกคนได้รับโภชนาการที่เพียงพอ การส่งเสริมการเกษตรที่ยั่งยืน การมีสุขภาพที่ดีในทุกช่วง เพิ่มโอกาสการเรียนรู้ตลอดชีวิต การเสริมสร้างศักยภาพของสตรีและความเท่าเทียมทางเพศ และการสร้างสันติภาพให้เกิดขึ้น ปฏิบัติการ เน้นการจัดการให้บริการสาธารณะที่จำเป็นในการดำเนินชีวิต ครอบคลุมทุกกลุ่มประชากร ทุกเพศ ทุกวัย โดยเฉพาะคนทุกข์ยาก สตรี เด็ก ผู้สูงอายุ ปฏิบัติการเด่นได้แก่
- การสนับสนุนกลุ่มอาชีพ และส่งเสริมการลดรายจ่าย
- การสนับสนุนการค้นหากลุ่มเป้าหมายและส่งเสริมครอบครัวพึ่งตนเองด้านอาหาร
- การสนับสนุนให้อาสาสมัครดูแลช่วยเหลือด้านสุขภาพและเฝ้าระวังความเสี่ยง
- การปรับสภาพชุมชนให้ส่งเสริมการเรียนรู้
- การส่งเสริมการมีส่วนร่วมกลุ่มองค์กรในการพัฒนาศักยภาพเพื่อเฝ้าระวังและแก้ปัญหาความรุนแรงในเด็กและสตรี
- การสนับสนุนแผนและงานของกลุ่ม องค์กรชุมชน ในการเฝ้าระวังความเสี่ยงและแก้ปัญหาความรุนแรง ข้อขัดแย้ง และจัดการภัยพิบัติ เป็นต้น
ข้อที่ 7
ข้อค้นพบจากการสังเคราะห์นี้แสดงข้อความรู้ใหม่ที่นำไปสู่
8 ชุดปฏิบัติการชุมชนท้องถิ่นสู่เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนได้ ได้แก่
- การจัดการอาหารชุมชน
- การส่งเสริมอาชีพและเศรษฐกิจชุมชน
- การดูแลและการบริการสุขภาพ
- การจัดสวัสดิการสังคม
- การจัดการศึกษาและการเรียนรู้ตลอดชีวิต
- การจัดการดิน น้ำ ป่า และ สภาพแวดล้อม
- การใช้พลังงานทดแทน
- การจัดการขยะและมลพิษ
ซึ่งแต่ละชุดปฏิบัติการขับเคลื่อน ผ่าน ๙ กระบวนการสำคัญในการพัฒนา คือ
- การจัดการข้อมูล
- การสร้างการเรียนรู้จากข้อมูลและประสบการณ์
- การสร้างการมีส่วนร่วม
- การเสริมความเข้มแข็งให้กระบวนการเจรจาและสื่อสาร
- การรณรงค์เพื่อสร้างการรับรู้ร่วม
- การพัฒนาผู้นำทุกรุ่น
- การจัดการทรัพยากร ทุน และ เงิน
- การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ทั้งทางกายภาพและ ทางสังคมและ
- การพัฒนากติการ ข้อตกลง ของชุมชน
โดย ใช้กลไกต่างๆในระดับชุมชนมาเป็นหน่วยขับเคลื่อนการพัฒนา ดังตัวอย่าง
- การเสริมความเข้มแข็งให้กลุ่มอนุรักษ์และอาสาสมัครพิทักษ์ป่า คณะกรรมการจัดการน้ำ กองทุนพิทักษ์ป่าและอนุรักษ์พันธุ์สัตว์ กลุ่มผู้ใช้น้ำ กลุ่มโฮมสเตย์เพื่อการท่องเที่ยวชุมชน เป็นต้น มาสร้างชุดปฏิบัติการจัดการดิน น้ำ ป่า และสิ่งแวดล้อม
- โรงเรียน วัด ศาสนสถาน ศูนย์เรียนรู้ หลักสูตรชุมชนท้องถิ่น ศูนย์ ICT มาส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิต ซึ่งอาจกระทบอาชีพและเศรษฐกิจชุมชน อาหารชุมชน สวัสดิการสังคม การใช้บริการสาธารณะและประโยชน์จากทรัพยากรและแหล่งประโยชน์ การดูแลสุขภาพ เป็นต้น
- สถาบันการเงินชุมชน ศูนย์พัฒนาครอบครัว ศูนย์คุณธรรม ศูนย์พึ่งได้ ศูนย์ OSCC กองทุนสวัสดิการ มาสร้างชุดปฏิบัติการเพื่อจัดสวัสดิการสังคมโดยชุมชนทุกด้าน ตั้งแต่เกิด จนเสียชีวิต
- กลุ่มเกษตรกร ธนาคารพันธุกรรม ศูนย์บริการและถ่ายทอดเทคโนโลยีการเกษตร ครัวเรือนต้นแบบเศรษฐกิจพอเพียง กองทุนเพื่อการเกษตร ศูนย์สาธิตการเกษตร คณะกรรมการจัดการน้ำเพื่อการเกษตร สร้างชุดปฏิบัติการ การจัดการอาหารชุมชน ที่อาจกระทบเศรษฐกิจ การดูแลสุขภาพ การอนุรักษ์ทรัพยากรดิน น้ำ ป่า และ การจัดการขยะและมลพิษ เป็นต้น
- กลุ่มผู้ผลิต กลุ่มอาชีพ กลุ่มแปรรูป ศูนย์เรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียง กองทุนส่งเสริมอาชีพ ตลาด สถาบันการเงินชุมชน สร้างชุดปฏิบัติการส่งเสริมอาชีพและเศรษฐกิจพอเพียง โดยในทางกลับกันก็อาจกระทบชุดปฏิบัติการอื่นๆด้วยทุกปฏิบัติการ
- ธนาคารขยะ หมู่บ้านต้นแบบจัดการขยะ ศูนย์เรียนรู้การคัดแยกและจัดการขยะ อาสาสมัครจัดการขยะ คณะกรรมการจัดการขยะและมลพิษตำบล กลุ่มปุ๋ยอินทรีย์ สร้างชุดปฏิบัติการการจัดการขยะและมลพิษ ซึ่งอาจกระทบหรือสัมพันธ์กับชุดปฏิบัติการอื่นๆ เช่น การจัดการอาหารชุมชน การส่งเสริมอาชีพและเศรษฐกิจพอเพียง การอนุรักษ์ทรัพยากรดิน น้ำ ป่า การจัดการเรียนรู้ตลอดชีวิต เป็นต้น
- กลุ่มอาสาสมัคร รพสต. ศูนย์กายอุปกรณ์ ศูนย์ฟื้นฟูสุขภาพ ศูนย์บริการและฟื้นฟูสุขภาพผู้สูงอายุและคนพิการ กองทุนสุขภาพชุมชน มาร่วมสร้างชุดปฏิบัติการการดูแลและบริการสุขภาพ ซึ่งอาจกระทบหรือสัมพันธ์กับชุดปฏิบัติการอื่นๆ เช่น การจัดการอาหารชุมชน การจัดการขยะและมลพิษ การส่งเสริมอาชีพและเศรษฐกิจพอเพียง เป็นต้น
- ครัวเรือนต้นแบบการใช้พลังงานทดแทน ศูนย์เรียนรู้การใช้พลังงานทดแทน ศูนย์บริการและถ่ายทอดเทคโนโลยีการเกษตร กลุ่มแปรรูปผลิตภัณฑ์อาหารและการเกษตร มาร่วมสร้างชุดปฏิบัติการ การใช้พลังงานทดแทน ซึ่งอาจกระทบหรือสัมพันธ์กับชุดปฏิบัติการอื่นๆ เช่น การจัดการขยะและมลพิษ การลดค่าใช้จ่ายและเศรษฐกิจพอเพียง การอนุรักษ์ทรัพยากรดิน น้ำ ป่า เป็นต้น
ซึ่ง 8 ชุดปฏิบัติการชุมชนท้องถิ่น นี้ ครอบคลุม เกือ้หนุน และบูรณาการ ทั้ง 17 เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนในระดับสากล ได้ ถือเป็นการ ทำปฏิบัติการเดียว ทะลุหลายเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ซึ่ง 4 องค์กรหลักในพื้นที่ ต้องดำเนินการโดยใช้ 4 หลักการพื้นฐาน คือ
- หลักการสร้างความเท่าเทียม
- หลักการกระจายให้ทั่วถึงทุกกลุ่มประชากร
- หลักการสร้างความเป็นธรรมในทุกกรณี ทั้งความขัดแย้ง และการกระจายประโยชน์
- หลักการให้เกิดการช่วยเหลือ ดูแล และ เกื้อกูลกัน