ฝุ่นพิษ pm 2.5 ทำอายุสั้น หนุนชุมชนรู้รับปรับตัวสู้ภัย

สถานการณ์ฝุ่นควันในภาคเหนือรุนแรงมากขึ้นทุกขณะ ในจังหวัดเชียงใหม่ เชียงราย แม่ฮ่องสอน ลำปาง พะเยา มีค่าฝุ่นละอองขนาดเล็ก pm 2.5 สูงกว่า 150 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตรมาแล้วหลายวัน ทำให้ประชาชนเจ็บป่วยเป็นจำนวนมาก

            อย่างที่จังหวัดเชียงใหม่ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดเชียงใหม่ รายงานว่า มลพิษทางอากาศจังหวัดเชียงใหม่ เป็นสาเหตุให้มีผู้ป่วยเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลของรัฐแล้ว 31,788 คน ที่เชียงรายป่วยแล้ว 29,275 คน ที่พะเยา มีอัตราป่วยอันเนื่องจากฝุ่นพิษ 675.43 คนต่อประชากรแสนคน

            ขณะที่องค์การอนามัยโลก ระบุว่าค่า pm 2.5 รายวันไม่ควรเกิน 25 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร แต่สำหรับประเทศไทยแล้วเกือบ 80 เปอร์เซ็นต์ของพื้นที่ได้รับผลกระทบจากค่าฝุ่น pm 2.5 เกินค่ามาตรฐานอย่างน้อย 5 เดือนต่อปี กระทบหนักกับคนทุกกลุ่มวัย ไล่ตั้งแต่ทารกในครรภ์มารดาที่สูดเอา pm 2.5 ผ่านลมหายใจของแม่ ผ่านสายสะดือ ไหลเข้าสู่เส้นเลือดของทารก ทำให้สมองของเด็กไม่พัฒนาอย่างที่ควรจะเป็น

            จากการเก็บข้อมูลค่าฝุ่น pm 2.5 ในจังหวัดเชียงใหม่ของ ศ.นพ.ชายชาญ โพธิรัตน์ จากหน่วยวิชาโรคระบบหายใจ เวชบำบัดวิกฤตและภูมิแพ้ ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ พบว่า การเพิ่มขึ้นของค่าฝุ่น pm 2.5 ทุก ๆ 10 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตรทำให้มีผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้น 1.6 เปอร์เซ็นต์

            เมื่อศึกษาวิจัยลึกซึ้งยิ่งขึ้น ศ.นพ.ชายชาญ พบว่า ฝุ่น pm 2.5 เกี่ยวข้องกับโรคร้ายที่ทำให้คนไทยตายมากที่สุด อย่าง มะเร็งปอด ที่ภาคเหนือมีคนเป็นมะเร็งปอดมากขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะในคนที่ไม่สูบบุหรี่ ก็มีสาเหตุมาจาก pm 2.5 ส่วนอีก 4 โรคร้าย ไล่ตั้งแต่ เส้นเลือดในสมองตีบ, ปอดอักเสบ, กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด และเบาหวาน ล้วนมีสาเหตุมาจาก pm 2.5 ทั้งสิ้น แม้จะไม่ใช่ฆาตกรเดี่ยว แต่ก็เป็นสาเหตุการตายของทั้ง 5 โรคนี้ประมาณ 50-60 เปอร์เซ็นต์

            ส่วนผลกระทบระยะยาวนั้น ศ.นพ.ชายชาญ ระบุว่า คนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ที่มีค่าฝุ่น pm 2.5 รายปีเพิ่มขึ้นทุก ๆ 10 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตรจะมีช่วงอายุขัยสั้นลง 0.98 ปี หรือ 1 ปี แต่สำหรับนักวิจัยบางคนก็ออกมาแย้งว่าอาจไม่ใช่หนึ่งปี แต่อาจจะสั้นลง 2.3 ปี โดยเฉพาะในประเทศกำลังพัฒนา

            จากผลกระทบอันเนื่องมาจากฝุ่น pm 2.5 ที่รุนแรงเช่นนี้ แผนสุขภาวะชุมชน สน.3 สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ซึ่งมีจุดเน้นสำคัญในการสานพลังเครือข่ายร่วมสร้างชุมชนท้องถิ่นน่าอยู่ในการรับมือกับสถานการณ์วิกฤตที่มีผลกระทบต่อวิถีชีวิต สังคม และเศรษฐกิจ จึงร่วมกับศูนย์ภูมิภาคเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศภาคเหนือ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ โดย ดร.พลภัทร เหมวรรณ ดำเนินโครงการ “การเสริมสร้างศักยภาพชุมชนในการรู้รับปรับตัว (resilience) จากภัยฝุ่นละอองขนาดเล็ก”

            โครงการฯดังกล่าว มุ่งหวังในการพัฒนาเครื่องมือ โดยใช้เทคโนโลยีดิจิทัล และแนวทางในการพัฒนาระบบการจัดการปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็กในพื้นที่แหล่งกําเนิดฝุ่นควัน (พื้นที่ต้นทาง) และพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบ เพื่อให้ชุมชนท้องถิ่นมีความสามารถในการปรับตัวหรือตั้งรับต่อผลกระทบจากสถานการณ์ (community resilience) อันจะนำไปสู่ความรอบรู้ด้านสุขภาพ

            ดร.พลภัทร ผู้ดำเนินโครงการ กล่าวว่า กรอบการดําเนินโครงการ ได้อาศัยแนวคิดการจัดการความเสี่ยง (Disaster Risk Management: DRM) 2 แนวคิดย่อย คือ 1.การลดความเสี่ยงภัยพิบัติ (Disaster Risk Reduction: DRR) เป็นการจัดการในระยะก่อนเกิดภัย (pre-disaster) ทั้งการเตรียมความพร้อมของชุมชน การให้ความรู้ที่ถูกต้อง การเข้าถึงระบบเตือนภัยและติดตามสถานการณ์ฝุ่นละอองขนาดเล็ก การประเมินพื้นที่และกลุ่มเปราะบางในชุมชน

            และ 2.การจัดการภัยพิบัติ (Disaster Management: DM) ครอบคลุมการจัดการในระยะระหว่างเกิดภัย (during-disaster) และระยะหลังเกิดภัย (post-disaster) เน้นเข้าถึงระบบการรายงานสถานการณ์ฝุ่นละอองขนาดเล็ก การค้นหากลุ่มเปราะบาง การช่วยเหลือผู้ประสบภัย โดยเฉพาะกลุ่มเด็ก ผู้สูงอายุ หญิงตั้งครรภ์ และผู้ป่วยด้วยโรคระบบทางเดินหายใจ

          แนวทางการจัดการเหล่านี้ ก็เพื่อป้องกันตนเองและประเมินผลกระทบ เพื่อนําไปสู่การวางแผนรับมือในอนาคตอย่างยั่งยืนต่อไป

#ชุมชนท้องถิ่นรู้รับปรับตัว

#เครือข่ายร่วมสร้างชุมชนท้องถิ่นน่าอยู่

#ชุมชนเข้มแข็ง

#สสส