พลังเยาวชน “ลำพะยา” ใช้ทักษะไอที ร่วมขับเคลื่อนเศรษฐกิจชุมชน

พลังเยาวชน “ลำพะยา” ใช้ทักษะไอที ร่วมขับเคลื่อนเศรษฐกิจชุมชน

อบต.ลำพะยา ยะลา ขับเคลื่อนเศรษฐกิจชุมชนด้วยพลังเยาวชน หลังเพิ่มทักษะด้านไอที นำมาช่วยกลุ่มอาชีพขายสินค้าในตลาดออนไลน์ ช่วยเพิ่มยอดขายทุกกลุ่มผลิตภัณฑ์ในชุมชน พร้อมกันนั้นกลุ่มเยาวชนไอทียังช่วยสร้างสื่อประชาสัมพันธ์ ให้ความรู้คนชุมชนระวังภัยโควิด-19

         ด้วยเหตุที่ตำบลลำพะยา อ.เมือง จ.ยะลา ตั้งอยู่ตามเทือกเขาสันกาลาคีรี จึงพรั่งพร้อมไปด้วยธรรมชาติที่งดงาม เป็นแหล่งต้นน้ำที่อุดมสมบูรณ์ มีพรรณพืชและสมุนไพรที่หลากหลาย นี่จึงเป็นจุดแข็งที่ทำให้ลำพะยา กลายเป็นชุมชนที่พร้อมต้อนรับนักท่องเที่ยว มีวิถีชีวิตความเป็นชนบท มีอาหารประจำถิ่น และมีผลิตภัณฑ์โอทอป ให้นักท่องเที่ยวได้เลือกซื้อในชุมชน แต่ทว่าลำพะยา ก็ยังไม่เป็นที่รู้จักของคนภายนอกเท่าที่ควร

ทางองค์การบริหารส่วนตำบลลำพะยา จึงเริ่มต้นทำ โครงการ TYC เด็กไทยมีดี ใช้ไอทีเพื่อชุมชน โดยเชิญชวนเด็กและเยาวชน เข้าร่วมอบรมพัฒนาศักยภาพด้านไอที เพื่อสร้างสื่อประชาสัมพันธ์ชุมชนให้คนภายนอกได้รู้จัก ได้เห็นลำพะยามากยิ่งขึ้น มาตั้งแต่ปี พ.ศ.2558 จนถึงปัจจุบัน

เอกพงศ์   วิชิตนันทน์ หรือ “เอก” นักจัดการงานทั่วไปชำนาญการ กองสวัสดิการสังคม อบต.ลำพะยา เล่าว่า กลุ่มเป้าหมายที่ชวนมาร่วมโครงการ คือกลุ่มเด็กและเยาวชนในพื้นที่ ทั้งในระบบและนอกระบบที่มีความสนใจอยากจะพัฒนาทักษะด้านไอทีของตนเอง โดยมีนักเรียนเข้ามาร่วมโครงการในปีแรกจำนวน 20 คน และเกิดการต่อยอดมีรุ่นพี่ส่งต่อรุ่นน้องอย่างต่อเนื่อง จนเกิดการเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้นทั้งต่อชุมชนและเยาวชนที่เข้าร่วมกิจกรรม

“เราเชื่อว่าเด็กมัธยมถนัดใช้เทคโนโลยี สามารถจะพัฒนาได้ เราจึงจัดอบรมให้ความรู้ ทั้งการคิด content รูปแบบการนำเสนอ การถ่ายภาพ การถ่ายทำและตัดต่อคลิปวิดีโอ การสร้างเพจ และเว็บไซต์ ซึ่งงานเหล่านี้สามารถต่อยอดทำคลิปประชาสัมพันธ์ พร้อมทั้งขยายตลาดให้กับการจัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์ของชุมชนในช่องทางออนไลน์ได้” เอกพงศ์ บอก

ด้าน ธีรเดช อินทร์ชื่น หรือ “เคน” เยาวชนรุ่นบุกเบิกของโครงการ ปัจจุบันเคนกลายเป็นแกนนำคนสำคัญของกลุ่ม TYC และควบตำแหน่งประธานสภาเด็กและเยาวชนตำบลลำพะยา บอกเล่าถึงเหตุผลสำคัญที่เข้าร่วมกิจกรรมอย่างยาวนานว่า เป็นเพราะเขาสามารถใช้ทักษะด้านไอที มาช่วยพัฒนาชุมชนได้

“ในตำบลมีอะไรหลายๆ อย่างที่คนภายนอกยังไม่รู้จักว่า ตำบลเรามีอะไรที่น่าสนใจ ผมคุยกับเพื่อนว่า ถ้าเราเข้าร่วมโครงการนี้ อย่างน้อยได้ประชาสัมพันธ์และทำสื่อให้คนข้างนอกเห็นว่าลำพะยามีทั้งที่เที่ยวของกิน โอทอป หลังจากทำมา 4-5 รุ่น ก็เห็นการเปลี่ยนแปลง เราได้ทำสื่อ คนรู้จักเรามากขึ้น ส่วนตัวเราก็ได้พัฒนาตัวเอง อีกทั้งมีน้องที่เคยเข้าร่วมกิจกรรม จากคนที่ไม่กล้าแสดงออก ไม่พูด เก็บตัว บางคนติดยา สูบบุหรี่ เขาเปลี่ยนแปลงมาก จากเป็นคนที่ไม่เข้าร่วมกิจกรรมทางสังคมก็จะเข้าหาคนในชุมชนได้ดี”

         เพจ TYC ชุมชนลำพะยา จังหวัดยะลา คือ พื้นที่หลักที่กลุ่มเยาวชนใช้เป็นที่ปล่อยของ โชว์ทักษะการประชาสัมพันธ์การท่องเที่ยว วัฒนธรรมประเพณีท้องถิ่น วิถีชีวิต และจำหน่ายผลิตภัณฑ์ของชุมชน ปัจจุบันมีผู้ติดตามกว่า 6,000 คน ซึ่ง โครงการ TYC เด็กไทยมีดี ใช้ไอทีเพื่อชุมชน นอกจากจะพัฒนาทักษะความสามารถของเด็กและเยาวชนเพื่อมาใช้พัฒนาชุมชนแล้ว ยังช่วยลดปัญหายาเสพติด ลดปัญหาการมั่วสุมของเยาวชนในชุมชนอีกด้วย

“เวลามีกิจกรรมสมาชิกจะไปชวนเด็กที่อยู่นอกระบบ ที่ไม่มีเคยร่วมทำกิจกรรมกับชุมชน หรืออาจยุ่งเกี่ยวกับยาเสพติด พอเด็กได้ใช้เวลาว่างมาช่วยทำกิจกรรม มันช่วยลดปัญหาเด็กมั่วสุมได้ในระดับหนึ่ง ขณะที่เดียวกันเราก็เห็นวิทยากรรุ่นใหม่ในรูปแบบรุ่นพี่สอนรุ่นน้องเกิดขึ้นมาเรื่อยๆ นับว่าเป็นโครงการที่ดี และยิ่งทำให้เชื่อว่า เด็กสามารถขับเคลื่อนชุมชนได้ เพราะเด็กเข้าถึงชุมชน เข้าถึงอาชีพ ได้ง่ายกว่าผู้ใหญ่ ที่สำคัญเด็กใช้เทคโนโลยีทันสมัย รวมไปถึงมีแนวคิดใหม่ๆ อีกด้วย” เอกพงศ์ จากกองสวัสดิการสังคม อบต.ลำพะยา ย้ำถึงผลสำเร็จที่เกิดขึ้นจากการทำงานมาตลอด 5 ปี

นอกจากนี้ เอกพงศ์ ยังกล่าวถึงปัจจัยสำคัญที่ช่วยทำให้การพัฒนาเด็กและเยาวชนในพื้นที่เกิดความต่อเนื่องและเกิดผลสำเร็จได้ มาจากการร่วมมือของ 4 องค์การหลักในพื้นที่ เข้ามาสนับสนุนทั้งงบประมาณ ความรู้ และข้อมูลต่างๆ ทำหน้าที่เป็นกองหนุนให้กับกลุ่มเยาวชนอยู่เสมอ

อย่างไรก็ตาม แม้ว่า โครงการ TYC เด็กไทยมีดี ใช้ไอทีเพื่อชุมชน จะตั้งขึ้นมาเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวและขายผลิตภัณฑ์ของชุมชนเป็นหลัก แต่เมื่อเกิดการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 เพจ TYC ชุมชนลำพะยา จังหวัดยะลา ก็เปลี่ยนมาทำสื่อประชาสัมพันธ์ รณรงค์แนวทางป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ทั้งในรูปแบบคลิปวิดีโอ โปสเตอร์ แบนเนอร์  ขณะเดียวกันก็ช่วยขยายตลาดการขายผลิตภัณฑ์ในชุมชนให้กว้างขึ้น สามารถช่วยคนในชุมชนให้ยังคงมีรายได้แม้จะเผชิญกับปัญหาการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19

“เด็กๆ เขามาร่วมกันคิดว่าในช่วงการการแพร่ระบาดของโควิด ควรเปลี่ยนมาทำสื่อรณรงค์ สื่อประชาสัมพันธ์ให้ความรู้กับคนในชุมชนและผู้ติดตามเพจแทน” เอกพงศ์ บอกและเล่าเพิ่มเติมว่า การปรับเปลี่ยนนี้ยังช่วยเพิ่มช่องทางการจำหน่ายสินค้าทางออนไลน์ให้กับกลุ่มส่งเสริมอาชีพด้วย ทั้งนี้ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา ก็นำกำไรจากการขายสินค้ามาเป็นทุนการศึกษาให้กับเยาวชนในพื้นที่ทุกปีด้วย

จากการทำกิจกรรมร่วมกันของเด็กและเยาวชนในพื้นที่ตำบลลำพะยาต่อเนื่องมาถึง 5 ปี ทำให้เห็นการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในหลายๆ ด้าน ไม่เพียงทำให้ลำพะยากลายเป็นที่รู้จัก แต่ช่วยดึงศักยภาพเด็กและเยาวชนมาพัฒนาขับเคลื่อนชุมชนที่พวกเขารักและหวงแหนต่อไปได้ ภายใต้การสนับสนุนของผู้ใหญ่ของ 4 องค์กรหลักในพื้นที่ ซึ่งจะกลายเป็นรากฐานให้ชุมชนมีความเข้มแข็ง พึ่งพาตนเองได้อย่างแท้จริง

ยืนยันได้จาก เคน ธีรเดช อินทร์ชื่น ประธานสภาเด็กและเยาวชนตำบลลำพะยา ผู้ที่ได้เรียนรู้และลงมือปฏิบัติจริงมาตลอดระยะเวลาที่เขาเข้าร่วมโครงการ

         “เราเป็นแค่เด็กมัธยมที่มาทำกิจกรรม แล้วสามารถช่วยทำให้คนภายนอกได้รู้จักชุมชน ผมดีใจและภูมิใจที่ทำให้ตำบลมาถึงจุดนี้ และสามารถเปลี่ยนแปลงเด็กและเยาวชนในชุมชนให้หันมาทำกิจกรรมที่เป็นประโยชน์ได้”

#ชุมชนท้องถิ่น รู้รับ ปรับตัว