อปท.ในจังหวัดภาคใต้ตอนล่าง ประกอบด้วย อบต.โละจูด อ.แว้ง จ.นราธิวาส, อบต.ละงู อ.ละงู จ.สตูล และ อบต.สะเอะ อ.กรงปินัง จ.ยะลา ได้ร่วมเสวนาออนไลน์เวที “ชุมชนท้องถิ่น รู้รับ ปรับตัว สู้ภัยโควิด-19” โดยสำนักสนับสนุนสุขภาวะชุมชน (สำนัก 3) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ สสส. เพื่อแลกเปลี่ยนประสบการณ์ระหว่างกันในการรับมือกับการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในพื้นที่ ซึ่งทุกพื้นที่ได้ผนึกกำลังทำงานร่วมกับสี่องค์กรหลักและผู้นำศาสนา สร้างความรู้ความเข้าใจกับชุมชน โดยเน้นประชาสัมพันธ์ในทุกช่องทางการสื่อสาร รวมทั้งใช้มาตรการเข้มทุกพื้นที่ ทั้งไม้อ่อนไม้แข็งเพื่อให้ชุมชนปลอดภัย
อย่างที่ตำบลละงู อ.ละงู จ.สตูล มีประชากรมากกว่า 6,000 คน แต่ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา ไม่พบผู้ติดเชื้อโควิด-19 แม้แต่คนเดียว นั่นเป็นเพราะความร่วมมือของทุกภาคส่วนในพื้นที่
นายจำรัส ฮ่องสาย นายกองค์การบริหารส่วนตำบลละงู อ.ละงู จ.สตูล กล่าวว่า แม้ในพื้นที่ อบต.ละงู ไม่มีผู้ป่วยเลยตั้งแต่เริ่มระบาดเมื่อต้นปี 2563 แต่ได้มีมาตรการป้องกันการระบาดอย่างเป็นระบบ โดยมี 4 องค์กรหลักเข้ามาร่วมกันทำงานมีการตั้งศูนย์โควิด-19 ประจำตำบล โดยนายก อบต.ละงู เป็นประธาน มีกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน อสม. รพ.สต. เข้ามาร่วมกันทำงาน ทั้งนี้อบต.เป็นผู้สนับสนุนงบประมาณในการทำงาน
สำหรับการทำงานด้านการป้องกันโรคระบาด จะเน้นการประชาสัมพันธ์ ทั้งให้ความรู้ และแจ้งให้ทราบถึงมาตรการต่างๆ ในการปฏิบัติตัว เมื่ออยู่ในช่วงการแพร่ระบาด อาทิ เมื่อมีกลุ่มเสี่ยงเข้ามาในพื้นที่ ก็ต้องรายงานตัวต่อผู้ใหญ่บ้าน ผู้ใหญ่บ้านแจ้งก็ให้อสม.เข้าไปตรวจวัดไข้ ติดตามการกักตัว ซึ่งที่ผ่านมาก็ได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดี
“เราเตรียมพร้อมมาตลอดตั้งแต่ปีที่แล้ว เราพยายามที่จะไม่มีผู้ติดเชื้อในตำบลละงู ฉะนั้นในการระบาดครั้งที่ 3 พวกเรามีความรู้ มีความพร้อม พวกเรามีประสบการณ์มากยิ่งขึ้น แม้มันจะน่ากลัวขึ้น เราก็พยายามป้องกันอย่างเต็มกำลัง โดยเฉพาะการเร่งประชาสัมพันธ์ให้ความรู้ รวมถึงการปฏิบัติตามมาตรการต่างๆ ให้กับประชา ชนในพื้นที่ ทั้งการใช้เสียงตามสาย รถแห่ประชาสัมพันธ์ สื่อวิทยุของอบต. และที่สำคัญคือการขอความร่วมมือกับโต๊ะอิหม่าม หรือผู้นำศาสนา เป็นผู้ให้ความรู้และสื่อสารกับพี่น้องมุสลิมที่มาปฏิบัติศาสนกิจที่มัสยิดทั้ง22แห่ง ในตำบลอีกด้วย โดยอบต.จะคอยสนับสนุนงบประมาณ พร้อมทั้งเครื่องมือ อุปกรณ์ต่างๆ เช่น ที่เจลแอลกอฮอล์ เครื่องวัดอุณหภูมิ ให้กับมัสยิด และชุมชนทุกชุมชนในพื้นที่ ” นายก อบต.ละงู กล่าว
ส่วนปัจจัยที่ทำให้สามารถป้องกันโควิด19 ได้อย่างมีประสิทธิภาพในพื้นที่ นายกฯจำรัส บอกว่า คือการขอความร่วมมือกับทุกชุมชนให้ช่วยกันปฏิบัติตามมาตรการอย่างเข้มงวด จนสามารถป้องกันการระบาดของเชื้อโควิด 19 ที่อาจเข้ามาในพื้นที่ได้ และการทำงานร่วมกับ 4 องค์กรหลักในพื้นที่เป็นส่วนสำคัญในการรับมือการระบาด เพราะนอกจากการสร้างความเข้าใจกับคนภายในชุมชนแล้ว การให้เกิดความร่วมมือในการปฏิบัติตัวที่ถูกต้อง เพื่อลดปัจจัยเสี่ยงในการแพร่ระบาดที่ผ่านมาจึงเป็นเรื่องทำแล้วได้ผลอย่างยั่งยืน อีกทั้งยังทำให้ไม่มีการคัดค้านหากมีการถูกกักตัวของคนที่เป็นกลุ่มเสี่ยง หรือเดินทางจากพื้นที่เสี่ยง
ที่ อบต.โละจูด อ.แว้ง จ.นราธิวาส ซึ่งรับผิดชอบพื้นที่ที่มีแนวชายแดนติดกับประเทศมาเลเซีย ทำให้มีพี่น้องประชาชนผ่านเข้าออกเป็นประจำ และมีผู้ติดเชื้อเข้ามายังพื้นที่หลายรายด้วยกัน ทำให้ อบต.โละจูด ต้องมีสถานที่สำหรับกักตัวของผู้ที่เดินทางมาจากสถานที่เสี่ยงถึง 2 แห่งด้วยกัน ซึ่งปัจจุบันลดเหลือ 1 แห่ง คือ ศาลาในพื้นที่หมู่ 5 ขณะนี้มีกลุ่มเสี่ยงมากักตัวอยู่ 30 คน ซึ่งเต็มอัตราที่รับได้แล้ว
นายซูลกีฟรี เจ๊ะมามะ นายกอบต.โละจูด เล่าว่า ช่วงที่มีการระบาดในครั้งแรก อบต.ทำงานยากมาก เพราะชุมชนไม่เข้าใจ ยังไม่ตระหนักถึงการป้องกันการระบาดของโรค จึงต้องสื่อสารประชาสัมพันธ์ให้ความรู้ เช่น ถ้ามีคนป่วยหนึ่งคนในพื้นที่ คนหลายคนก็จะเดือดร้อน ดังนั้นทุกฝ่ายต้องร่วมมือกัน แต่พอพ้นการระบาดครั้งที่ 1 และ 2 มาสู่การระบาดครั้งที่ 3 อบต.ก็ทำงานง่ายขึ้น การปฏิบัติตามมาตรการต่างๆ ได้รับความร่วมมือจากทุกฝ่ายเป็นอย่างดี
“ก่อนที่จะมีศูนย์กักกัน เราก็ต้องปรับความเข้าใจกับชุมชนก่อน เพราะว่าชุมชนต้องการหรือไม่ ทางผู้นำก็มีหน้าที่ไปคุยกับโต๊ะอิหม่ามให้เข้าใจ ว่าเราไม่ได้เอาคนที่ติดโรคมา แต่เป็นการป้องคนในพื้นที่ ตอนนี้ก็มีคนจากหลายพื้นที่ มีมาจากมาเลเซียบ้าง ศูนย์กักกันนี้จะรับเฉพาะผู้หญิง ซึ่งถูกส่งมาจากสุไหงโกลก ตอนนี้อำเภอเป็นผู้ดูแลศูนย์ แต่ก็พื้นที่เป็นของอบต. ซึ่งหากเขาขอความอนุเคราะห์อะไรมา อบต. ก็ต้องคอยสนับสนุน ขณะนี้อบต.ใช้งบของเราเองไปจำนวน 3 ล้านบาทแล้ว” นายก อบต.โละจูด กล่าว
สำหรับขั้นตอนในการปฏิบัติของกลุ่มเสี่ยงหากจะเข้าพื้นที่โละจูด คือต้องไปรายงานตัวที่สาธารณสุขอำเภอก่อนเพื่อที่จะได้ประเมินว่าจะให้กลับบ้านหรือให้ไปกักตัวที่ศูนย์เพื่อรอดูอาการ ส่วนคนที่กลับที่บ้าน ก็มีก็จะอสม.เข้าไป ตรวจวัดไข้และติดตามการกักตัว รวมไปถึงแจกหน้ากากอนามัย เจลแอกอฮอล์ล้างมือ ให้กับคนทุกกลุ่มในชุมชน และประชาสัมพันธ์การปฏิบัติตัวป้องการการติดเชื้อโควิด 19 อย่างต่อเนื่อง
“หากมีการฝ่าฝืน ถ้าเราเจอก็จับและตรวจที่หน้าด่านเลย โดยมีทีมเคลื่อนที่เร็วของโรงพยาบาลแว้งเป็นผู้ตรวจ หากพบเชื้อก็จะถูกส่งตัวไปรักษา แต่หากไม่พบก็จะส่งไปยังศูนย์กักกัน ส่วนที่คนเข้ามาทางช่องทางธรรมชาติหรือช่องทางไม่ปกติ ถ้าจับได้ก็จะถูกส่งตัวไปที่สุไหงโกลก เพื่อดำเนินการตามขั้นตอนต่อไป” นายกฯซุลกีฟรี กล่าว
ส่วนอีกพื้นที่หนึ่ง คือตำบลสะเอะ อ.กรงปินัง จ.ยะลา ก็มีแผนรับมือกับการแพร่ระบาดของโควิด-19 เช่นกัน แม้ตลอด 1 ปีที่ผ่านมาในพื้นที่ตำบลสะเอะ ยังไม่พบผู้ป่วยโควิด-19 แต่ก็มีกลุ่มเสี่ยงเข้ามากักตัวที่สถานที่กักตัวของตำบลสะเอะ ที่รองรับได้ประมาณ 30คน ซึ่งส่วนมากเป็นผู้ที่เดินทางกลับมาจากประเทศมาเลเซีย
นายอาซัน สือนิล นายกองค์การบริหารส่วนตำบลสะเอะ กล่าวว่า พื้นที่ตำบลสะเอะไม่มีชายแดนติดกับประเทศมาเลเซีย แต่ก็มีการเฝ้าระวังตลอดเวลา โดยตนได้ประชุมกับกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน อสม. ประชาสัมพันธ์ให้คนในชุมชนช่วยเป็นหูเป็นตา หากพบคนแปลกหน้าเข้ามาในพื้นที่ต้องรีบแจ้งให้ทางการทราบในทันที
สำหรับมาตรการในการรับมือและป้องกันการระบาดของเชื้อโควิด-19 ในพื้นที่นั้น นายก อบต.สะเอะ ชี้แจงว่า จะเน้นการประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้ให้กับคนในชุมชนเป็นหลัก ไม่ว่าจะใช้รถแห่ประชาสัมพันธ์ โปสเตอร์ให้ความรู้ไปติดตามสถานที่ที่มีการรวมตัวกัน โดยเฉพาะมัสยิด ซึ่งถือเป็นพื้นที่เสี่ยงที่อาจทำให้เกิดการระบาดได้อย่างรวดเร็ว
“การระบาดช่วงแรก ทำงานค่อนข้างลำบาก เพราะต้องสร้างความเข้าใจให้กับคนในชุมชุน เนื่องจากรอบแรกระบาดใกล้กับช่วงรอมฏอน คนเข้ามัสยิดจำนวนมาก เมื่อมีมาตรการให้เว้นระยะห่าง ซึ่งขัดกับวิถีของการละหมาดของมุสลิมที่ไหล่ต้องอยู่ชิดกัน หลายคนไม่เข้าใจ จึงต้องสร้างความเข้าใจ ใช้วิธีการขอความร่วมมือแทนการบังคับ สร้างความตระหนักถึงผลกระทบที่อาจเกิดขึ้น เช่น ถ้าบ้านเราติดไปคนหนึ่ง ก็จะสร้างความลำบากทั้งหมู่บ้าน ปิดหมู่บ้าน มีการเดินทางลำบาก การทำมาหากินก็จะลำบาก” นายกฯอาซัน เล่า
ส่วนอีกหนึ่งมาตรการที่นำมาใช้ในการลดการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด- 19 ในช่วงรอมฏอนว่า ได้เข้าไปขอความร่วมมือกับโต๊ะอิหม่าม เพื่อให้งดการเลี้ยงสังสรรค์หลังพิธีละศีลอด ซึ่งปกติจะจัดทุกครั้งหลังถือศีลอด ซึ่งทางมัสยิดก็พร้อมให้ความร่วมมือ ซึ่งความร่วมมือกันของทุกฝ่ายในชุมชนนับเป้นปัจจัยความสำเร็จที่สามารถรับมือกับการระบาดของเชื้อโควิด 19 ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
“ปัจจัยความสำเร็จคือ การให้ความร่วมมือของทุกคน ให้ตระหนักถึงผลกระทบจากโควิด-19 สร้างความเข้าใจกับโต๊ะอิหม่าม หรือผู้นำศาสนา ชี้ให้เห็นว่า หากมีผู้ติดเชื้อเพียงหนึ่งคน ก็ต้องปิดมัสยิด ปิดทั้งตำบล ซึ่งแน่นอนว่าไม่มีใครต้องการให้เกิดขึ้นอยู่แล้ว การใส่หน้ากากอนามัย ล้างมือ เว้นระยะห่าง จึงกลายเป็นวิถีของชุมชน ซึ่งผมจะเน้นขอความร่วมมือจะไม่ใช้การบังคับ” นายกอบต.สะเอะ กล่าวทิ้งท้าย
#ชุมชนท้องถิ่น รู้รับ ปรับตัว