ร่วมกันปกป้องเด็กเยาวชน ลดช่องทางการเข้าถึง และห่วงใยการทำการตลาดที่ไม่รับผิดชอบ!

ร่วมกันปกป้องเด็กเยาวชน ลดช่องทางการเข้าถึง และห่วงใยการทำการตลาดที่ไม่รับผิดชอบ!

องค์กรระดับโลกวิงวอนบริษัทและผู้ผลิตเหล้าให้ขายอย่างรับผิดชอบ
ไม่นำเบียร์สดมาขายในร้านสะดวกซื้อ

ที่ประชุมนโยบายแอลกอฮอล์โลก(Global Alcohol Policy Conference 2017) ที่จัดขึ้น กรุงเมลเบริ์น ประเทศออสเตรเลีย ในระหว่างวันที่ 4-6 ตุลาคม 2560 โดยเครือข่ายแอลกอฮอล์ระดับโลก (Global Alcohol Policy Alliance : GAPA) ภายใต้หัวข้อการระดมพลังทางสังคมเพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงในนโยบายแอลกอฮอล์และหลักฐานเชิงประจักษ์สู่ปฏิบัติการ(Mobilising for Change-Alcohol policy and the evidence for action) โดยมีตัวแทนจากองค์การอนามัยโลก นักวิชาการ ตัวแทนภาคประชาสังคม ภาครัฐ นักรณรงค์และสื่อมวลชนเข้าร่วมประชุมกว่า 331 คน จาก 40 ประเทศ อาทิ สหรัฐอเมริกา สวีเดน อังกฤษ สก๊อตแลนด์ นอร์เวย์ ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ ไทย อินเดีย ศรีลังกา กัมพูชา เป็นต้น เข้าร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นโดยมีเป้าหมายร่วมกันที่จะผนึกกำลังในการขับเคลื่อนเพื่อหยุดยั้งอันตรายที่มีสาเหตุมาจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์พร้อมกันทั่วโลก

ซึ่งเป็นที่ทราบกันดีว่าการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้พลเมืองโลกกว่า 3.3 ล้านคนต้องเสียชีวิตต่อปี และยังเป็นสาเหตุของโรคต่างๆ การบาดเจ็บจากอุบัติเหตุจราจรและปัญหาสังคมต่างๆ มากมาย ถึงเวลาแล้วที่ภาคประชาสังคมทั่วโลกจะต้องร่วมกันดำเนินการอย่างจริงจังในเรื่องดังกล่าวนี้ อีกทั้งองค์กรอนามัยโลก(WHO) ก็กำลังขับเคลื่อนเรื่องการพัฒนาที่ยั่งยืน(SDGs) ซึ่งหนึ่งในนั้นก็คือเรื่องการควบคุมเรื่องโรคติดต่อไม่เรื้อรัง(NCDs) ซึ่งประเด็นแอลกอฮอล์เข้าไปเกี่ยวโดยตรงต่อเรื่องดังกล่าวและมีข้อเสนอเรียกร้องให้มีวันงดดื่มแอลกอฮอล์โลก  นอกจากนี้ที่ประชุมมีความกังวลและห่วงใยต่อผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นจากการทำการตลาดที่ไม่รับผิดชอบของธุรกิจแอลกอฮอล์ที่มีแนวโน้มขยายตัวมากขึ้นทั้งในสื่อสังคมออนไลน์(Social Media) การทำ CSR และการส่งเสริมการขายในรูปแบบช่องทางใหม่ๆ โดยเฉพาะในประเทศแถบอาฟริกาและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่ซึ่งมีการขยายตัวเพิ่มขึ้นของจำนวนนักดื่มหน้าใหม่อย่างต่อเนื่อง 

โดย ศาสตราจารย์แซลลี คาสเวล (Sally Casswell) ประธานกรรมการเครือข่ายแอลกอฮอล์ระดับโลก  Global Alcohol Policy Alliance(GAPA) กล่าวภายหลังปิดการประชุมนโยบายแอลกอฮอล์โลกว่า สำหรับกรณีที่เป็นข่าวในประเทศไทยที่มีการนำเบียร์สดเข้ามาจำหน่ายในร้านสะดวกซื้อ จะทำให้ผู้คนเข้าถึงแอลกอฮอล์ได้โดยง่ายและจะก่อให้เกิดปัญหาอื่นๆตามมา โดยเฉพาะเบียร์สดถึงแม้จะเป็นเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่ดีกรีต่ำแต่ก็เป็นเครื่องดื่มที่เด็กและเยาวชนนิยมดื่มและเป็นอันดับต้นๆในขณะนี้ ซึ่งดื่มได้โดยง่ายและหากนำมาขายในร้านสะดวกซื้อแล้วก็ยิ่งจะก่อให้เกิดปัญหามากมายตามมาอีก

ขณะที่ นางสาวคริสตินา สเปอร์โควา ประธานองค์กร International Organization Good Tampa(IOGT) กล่าวว่า ​IOGT เป็นองค์กรทำงานรณรงค์แก้ปัญหายาเสพติดและเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ มาเป็นเวลานาน เรามีความห่วงใยเป็นอย่างมากที่มีการนำเบียร์สดมาจำหน่ายในร้านสะดวกซื้อ ซึ่งจะทำให้เข้าถึงได้โดยง่าย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มเด็กและเยาวชน ซึ่งเป็นกลุ่มที่น่าห่วงใย เพราะหากพวกเขาเริ่มต้นดื่มแล้วก็จะกลายเป็นปัญหาตามมาในอนาคต รัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในประเทศไทยควรตระหนักและมีนโยบายหรือแนวทางในการจัดการ การจำหน่ายแอลกอฮอล์ประเภทพร้อมดื่มในลักษณะดังกล่าวนี้ในสถานที่ที่จัดไว้สำหรับจำหน่ายและดื่มเป็นการเฉพาะ และขอฝากไปยังเจ้าของธุรกิจที่เกี่ยวข้องว่าท่านไม่ควรนำสินค้าดังกล่าวมาจำหน่ายในร้านสะดวกซื้อ

ศาสตราจารย์โรบิน รูม (Prof. Robin Room)  ที่ปรึกษาอาวุโส The Centre for Alcohol Policy Research (CAPR) (ศูนย์วิจัยนโยบายแอลกอฮอล์) มหาวิทยาลัยลาโทรป ประเทศออสเตรเลีย กล่าวถึงประเด็นดังกล่าวนี้ว่า ผมมีความห่วงใยในเรื่องที่เกิดขึ้นที่ประเทศไทยในขณะนี้เป็นอย่างมาก การจำหน่ายในลักษณะนี้จะทำให้แยกไม่ได้ระหว่างการจำหน่ายในร้านที่อนุญาติให้มีการนั่งดื่มเช่นร้านอาหารทั่วไปกับร้านสะดวกซื้อ ซึ่งร้านสะดวกซื้อจะเป็นสถานที่ที่ผู้คนในทุกประเภทเข้าไปใช้บริการทั้งซื้อหนังสือ สินค้า ของกินของใช้และบริการต่างๆมากมาย ซึ่งเด็กและเยาวชนก็สามารถเข้าไปใช้บริการได้ การจำหน่ายเบียร์สดในลักษณะดังกล่าวนี้เป็นกิจกรรมส่งเสริมการตลาดที่น่าเป็นกังวลเป็นอย่างยิ่ง รัฐบาลไทยควรเอาใจใส่และให้ความสนใจในเรื่องนี้เป็นพิเศษ

ดร.เดวิด เจเนเกน(Dr.David Jernigan) ผู้อำนวยการ มหาวิทยาลัยจอห์นฮอบกินส์ ระบุถึงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ว่าถูกยกให้เป็นฆาตรกรอันดับหนึ่ง นำมาซึ่งความสูญเสียมหาศาลไปทั่วทั้งโลกเครื่องดื่มแอลกอฮอล์จึงเป็นสินค้าที่ไม่ควรทำให้กลายเป็นสินค้าที่สะดวกซื้อ ที่เด็กเยาวชนเข้าถึงได้ง่าย การนำเบียร์สดเข้าไปจำหน่ายในร้านสะดวกซื้อในประเทศไทยในขณะนี้ว่า ถือเป็นแนวคิดที่แย่มากๆ

ศาสตราจารย์โมนิก้า สวอน(Prof.Monica Swahn) นักระบาดวิทยาด้านแอลกอฮอล์ มหาวิทยาลัยแห่งรัฐจอร์เจีย สหรัฐอเมริกา กล่าวว่า ดิฉันเองก็เพิ่งจะเคยได้ยินเรื่องการนำเบียร์สดมาจำหน่ายในร้านสะดวกซื้อในประเทศไทยนี่แหละค่ะ ในฐานะที่เป็นทั้งนักวิจัยและผู้กำหนดนโยบายเพื่อควบคุมปัญหาอันเกิดจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในกลุ่มเด็กและเยาวชน ดิฉันมีความห่วงใยและรู้สึกเป็นกังวลเป็นอย่างยิ่ง ถึงกลยุทธในการทำการตลาดในรูปแบบใหม่นี้ ดิฉันขอเรียกร้องอย่างจริงจังให้ภาคธุรกิจในประเทศไทยใคร่ครวญถึงกิจกรรมส่งเสริมการขายในลักษณะนี้

นายจอห์นสัน อีดายารันมูลา(Mr.Johnson Edayaranmula) Alcohol and Drug Information Centre (ADIC) ประเทศอินเดีย การกระทำของภาคธุรกิจที่พยายามส่งสริมการขายในรูปแบบดังกล่าวนี้เป็นเรื่องที่โหดร้ายกับลูกหลานเราเป็นอย่างมาก ถือเป็นเรื่องที่สิ้นคิดเป็นอย่างมาก สังคมทั้งหมดควรจะต้องส่งเสียงคัดค้านไม่ยอมรับต่อเรื่องดังกล่าวในฐานะพลเมืองโลกในการที่จะร่วมกันปกป้องเด็กเยาวชนและสตรีและเพื่อชุมชนของเรา 

นายฟูบูดู สุมานะสิขารา (Pubudu Sumanasekara) ผู้อำนวยการอาวุโส Alcohol and Drug Information Centre (ADIC) ประเทศศรีลังกา เห็นว่าเป็นเรื่องที่น่าเสียใจมากที่ร้านสะดวกซื้อในประเทศไทยใช้เครื่องกดเบียร์สดเพื่อขายเพราะว่าเป็นเรื่องที่อันตรายมากๆสำหรับลูกหลาน ซึ่งหลายประเทศมีการควบคุมเครื่องจำหน่ายในลักษณะดังกล่าวนี้ พวกเราหวังว่าเป็นอย่างยิ่งว่าปัญหาดังกล่าวนี้จะยุติลงโดยเร็ว