ลงนามความร่วมมือ10 ม.ราชภัฏ องค์กรส่วนท้องถิ่น 420 แห่ง ขับเคลื่อนพัฒนาชุมชน

สสส. ลงนามความร่วมมือ 10 ม.ราชภัฏ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น 420 แห่ง ขับเคลื่อน ความรู้ สู่งานวิจัย พัฒนาชุมชนท้องถิ่นน่าอยู่ ตีโจทย์แก้ปัญหาชุมชน ช่วยพึ่งพิงตนเองได้อย่างยั่งยืน

วันนี้ (19 ธ.ค. 59) ที่ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จัดการประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อการจัดการข้อมูลสู่การวิจัยและการพัฒนาชุมชนท้องถิ่นน่าอยู่ และพิธีลงนามความร่วมมือระหว่าง สสส. สถาบันวิชาการ และ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.)

นายธวัชชัย ฟักอังกูร ประธานกรรมการบริหารแผน คณะที่ 3 สสส. กล่าวว่า เป้าหมายการสร้างเครือข่ายความร่วมมือครั้งนี้ เพื่อเสริมสร้างสมรรถนะนักวิจัยเชิงพื้นที่ สร้างเครือข่ายความร่วมมือ และร่วมขับเคลื่อนงานวิจัยและพัฒนาชุมชนท้องถิ่นน่าอยู่โดยใช้พื้นที่เป็นตัวตั้ง โดยมีวิธีการทำงานแบบไตรพลัง คือ สสส. สถาบันวิชาการ และ อปท. เครือข่ายเพื่อร่วมสร้างสุขภาวะ โดยแผนสุขภาวะชุมชน สสส. จะเข้าไปสนับสนุนและส่งเสริมให้สถาบันวิชาการดำเนินการวิจัยร่วมกับชุมชนท้องถิ่นในการแก้ไขปัญหาเฉพาะและพัฒนาแนวทางใหม่ๆ ในการจัดการสุขภาวะชุมชน รวมถึงการนำความรู้จากการวิจัยไปประยุกต์ใช้ได้ในพื้นที่อื่นๆ โดยดึงเครือข่ายมหาวิทยาลัยราชภัฏ ทำงานร่วมกันเพื่อให้เกิดความร่วมมือกันของนักวิชาการจากสถาบันวิชาการกับศูนย์จัดการเครือข่ายสุขภาวะชุมชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเครือข่าย และกลไกการจัดการจังหวัดน่าอยู่ ด้วยการถอดบทเรียนปฏิบัติการจริง การวิจัยและพัฒนากระบวนการทำงานของพื้นที่และเครือข่ายในการเพิ่มศักยภาพระบบการจัดการสุขภาวะชุมชนของพื้นที่ การตอบสนองปัญหาและความจำเป็นของพื้นที่ ผลลัพธ์การจัดการตนเองของพื้นที่สู่การเพิ่มขีดความสามารถการพัฒนาสุขภาวะของชุมชนท้องถิ่น เพื่อนำใช้ในการถ่ายทอดให้เกิดการขับเคลื่อนการพัฒนาพื้นที่และเครือข่ายเป็นระยะเวลา 2 ปี ครึ่ง

ด้าน ผศ.ดร.เรืองเดช วงศ์หล้า อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏอุตรดิตถ์ กล่าวว่า การดำเนินโครงการนี้ มีเป้าหมายเดียวกัน คือ การจัดการความรู้เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดสู่การจัดการตนเองของชุมชนท้องถิ่นอย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล โดยมีความร่วมมือเครือข่ายมหาวิทยาลัยราชภัฏรวม 10 แห่ง ได้แก่ มรภ.อุตรดิตถ์, มรภ.พิบูลสงคราม, มรภ.บุรีรัมย์, มรภ.นครปฐม, มรภ.สุราษฎร์ธานี, มรภ.ลำปาง, มรภ.เลย, มรภ.มหาสารคาม, มรภ.เพชรบุรี และ มรภ.วไลยอลงกรณ์ ในพระบรมราชูปภัมภ์ และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น 420 แห่ง

โดยทำงานเน้นเรื่องการพัฒนาระบบและกลไกการสนับสนุนวิจัยเชิงพื้นที่ นำข้อมูลประเด็นปัญหาและโจทย์ในพื้นที่ เช่น ปัญหาขยะชุมชน การจัดการการท่องเที่ยวชุมชน การจัดการสุขภาพชุมชน คุณภาพชีวิตผู้สูงอายุ นำไปสู่การจัดการแก้ไขปัญหาโดยสามารถพึ่งพิงตนเองอย่างยั่งยืน ซึ่งการทำงานร่วมกันระหว่าง มรภ. และ อปท. ครั้งนี้จะเป็นต้นแบบให้กับ มรภ. อีก 38 ทั่วประเทศ

ที่มา : ผู้จัดการออนไลน์