“ลงแขกลงคลอง” เป็นกิจกรรมทำความสะอาด กำจัดขยะ และวัชพืชในลำคลอง ซึ่งถือเป็นกิจกรรมที่สำคัญของคนบางคนที จังหวัดสมุทรสงคราม โดยแต่ละครั้งจะมีจิตอาสามาช่วยกันเป็นจำนวนมาก เพื่อให้ลำคลองในชุมชนสะอาด สวยงาม และยังเป็นการสร้างความรักสามัคคีของคนในชุมชน
กิจกรรมสำคัญนี้เองที่ เรณู เล็กนิมิตร นายก อบต.บางคนที อ.บางคนที จ.สมุทรสงคราม ใช้เป็นกิจกรรมนำร่อง ในการสร้างความร่วมมือให้เกิดขึ้นในชุมชน เพื่อความเป็นปึกแผ่น และเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน
นายกฯ เรณู เล่าว่า การทำงานเพื่อสร้างเสริมความร่วมมือในชุมชนของเธอนั้น มาจากการที่ต้องรับผิดชอบ 2 ตำบลควบรวมกัน คือ ตำบลบางคนทีและตำบลยายแทง ทำให้ความสามัคคีระหว่าง 2 ตำบลอาจจะน้อย เธอจึงใช้กิจกรรมสาธารณประโยชน์เป็นตัวนำในการสร้างการมีส่วนร่วมแก่ชุมชน นั่นคือ “กิจกรรมลงแขกลงคลอง” ซึ่งทำกันทุกเดือน โดยการชวนผู้นำแต่ละชุมชนมาร่วมกิจกรรม เพราะเธอเชื่อว่าความแตกแยกต่างๆ ในชุมชน ส่วนใหญ่เริ่มมาจากผู้นำเป็นคนก่อหวอด เมื่อชวนผู้นำมาทำกิจกรรมดีๆ ให้กับชุมชนก็จะช่วยแก้ปัญหานี้ได้
“วิธีการที่เราใช้อีกวิธี คือ การประชาคม เราจะพยายามชี้ให้เห็นว่าถ้าคุณไม่มาประชาคม บางครั้งสิทธิของคุณถูกกระทบขึ้นมา คุณไม่รู้ตัวนะ เพราะคุณไม่ได้อยู่ในเวทีประชาคม หรือคุณอยากได้อะไร ถ้าคุณไม่ใส่เอาไว้ในเวทีประชาคมเราไม่สามารถที่จะดำเนินการแก้ไขให้คุณได้ เราพยายามทำให้เค้าเห็นความสำคัญของการประชาคม โดยการแสดงความคิดเห็น แล้วเขาจะค่อยๆ ชินกับการเข้ามามีส่วนร่วมต่างๆ” นายกฯ เรณู กล่าว
กลไกหรือเครื่องมือที่สำคัญอีกชิ้นหนึ่งที่นายกฯ เรณูใช้ คือ เครื่องมือของ สสส. ได้แก่ RECAP และ TCNAP ซึ่งทำให้ท้องถิ่นเห็นทุนและศักยภาพของตนเอง เช่น TCNAP ทำให้รู้ข้อมูลต่างๆ ในชุมชน ไม่ว่าจะเป็นข้อมูลผู้พิการ ที่มีอยู่ 155 คน ในจำนวนนี้ช่วยตัวเองได้ประมาณ 60-70% ที่เหลืออีกประมาณ 30-40% จะจัดการอย่างไร หรือบางทียังมีซ้ำซ้อนอีก ก็คือนอกจากพิการแล้วยังมีโรคเรื้อรังอื่นด้วย ส่วนเครื่องมือ RECAP ทำให้เห็นศักยภาพของคนในชุมชน อย่างในชุมชนมีผู้สูงอายุที่สามารถทำของไปส่งขายตามสถานที่ท่องเที่ยวกี่คน สามารถถ่ายทอดความรู้หรือเป็นวิทยากรได้กี่คน หรือมาเป็นปราชญ์ชาวบ้านได้กี่คน
“เราไม่ได้หวังอะไรมากมาย เราแค่อยากให้เขาพึ่งพาตนเองได้ และอยู่อย่างมีความสุข โดยที่เราใช้เครื่องมือในการค้นหาและใช้กิจกรรมนำ” นายกฯ เรณู กล่าว โดยยกตัวอย่างกรณีกลุ่มคนพิการและกลุ่มที่ดูแลคนพิการในชุมชน ทางอบต.บางคนที ได้กระตุ้นให้เกิดการเปลี่ยนแปลงจากการเป็นผู้รับไปเป็นผู้ให้ โดยให้กลุ่มผู้พิการแบ่งสรรเงินวันละ 8 บาท ไปช่วยเพื่อน ทำเรื่องผักปันสุขให้คนในชุมชน และจากที่เคยบอกว่าเป็นคนที่เข้าสังคมยาก มาวันนี้ก็กลายเป็นผู้ให้ ส่งผลให้ชุมชนก็มีความสุข
ส่วนเรื่องบรรยากาศประชาธิปไตยในชุมชนนั้น นายกฯ เรณู บอกว่า ทุกคนมีสิทธิที่จะแสดงความคิดเห็น รับฟังความคิดเห็นซึ่งกันและกัน ไม่มีการชี้นำ ทาง อบต.บางคนที พยายามสร้างให้ทุกคนมีสิทธิเท่าเทียมกันในการออกเสียง คือการประชาคม รับฟังความคิดเห็น และถ้าหากทะเลาะกันจะต้องเป็นกรรมการไม่ให้เกิดเรื่องบานปลาย
“ในบ้านก็เหมือนกัน เราพยายามให้คนในครอบครัวมาทำกิจกรรมร่วมกัน โดยการจัดกิจกรรมครอบครัวหรรษา เพื่อให้กิจกรรมนำพาไปสู่การสร้างความสัมพันธ์ สนิทสนมกัน พูดคุยแลกเปลี่ยนกัน เราพยายามเริ่มต้นจากครอบครัวก่อน เพราะถ้าครอบครัวอบอุ่น แล้วรับฟังความคิดเห็นกันและกันก็เป็นจุดเริ่มต้นที่ดี”
สำหรับเรื่องธรรมนูญชุมชนนั้น นายกฯ เรณู มองว่าควรจะมาจากการปฏิบัติของคนในชุมชนจนเป็นธรรมเนียมก่อน แล้วนำมาสร้างเป็นธรรมนูญได้ อย่างกิจกรรมลงแขกลงคลองนี้เป็นหนึ่งในธรรมนูญชุมชนแน่นอน แม้ไม่ได้เขียน แต่มีวิธีปฏิบัติชัดเจน ซึ่งชุมชนบางคนทีถือว่าปฏิบัติให้ได้ก่อน จึงจะเขียนได้ว่าเป็นธรรมนูญชุมชน
“หากถามว่าธรรมนูญชุมชนจำเป็นต้องมีไหม? ก็คงเหมือนหยิบสมุดขึ้นมา 1 เล่ม แล้วบอกว่าอันนี้เป็นข้อตกลงร่วมในเรื่องของธรรมนูญชุมชน แต่เมื่อถึงเวลาบางคนไม่มาอ่าน ไม่มาปฏิบัติ ไม่ได้อยากจะเข้ามาอยู่ในธรรมนูญชุมชน เขาไม่จำเป็นต้องทำก็ได้ ถามว่าเมื่อเป็นเช่นนี้ ทุกคนมีธรรมนูญชุมชนเป็นเล่มๆ แต่มีผู้ปฏิบัติได้กี่เปอร์เซ็นต์? ขณะเดียวกันถ้าชุมชนปฏิบัติแล้ว และนำไปคุยกัน ค่อยๆ เติมเข้าไปให้เป็นธรรมนูญของชุมชนแบบนี้ น่าจะได้ผลดีกว่า”
“ดิฉันมองว่าพื้นที่ต่างกัน บริบทก็ต่างกัน สภาพแวดล้อมต่างกัน รายได้ต่างกัน ดังนั้นคุณจะมาใช้เหมือนกันในทุกพื้นที่ไม่ได้ ควรจะมีธรรมนูญชุมชนเฉพาะพื้นที่ของตน จึงอยากให้เป็นการปฏิบัติแล้วถึงจะไปสู่ขั้นตอนลายลักษณ์อักษรเพื่อให้คนในชุมชนปฏิบัติจากใจที่อยากจะทำ อยากให้เขามาร่วมแสดงความคิดเห็นว่าอยากให้ธรรมนูญชุมชนพูดถึงประเด็นนี้และค่อยๆ ทำกันไป ให้มีความภาคภูมิใจในส่วนที่เกิดขึ้นจากการทำจริงๆ แล้วจึงมาเขียนธรรมนูญชุมชน แบบนี้จะได้ผลดีกว่า” นายกฯ เรณู ย้ำ