วาปีปทุมโมเดล ต่อยอดวิกฤตโควิด63 สู่ระบบป้องกัน-ครอบคลุมโรคติดต่อในชุมชน

ประเทศไทยกำลังเผชิญสถานการณ์วิกฤตการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 อีกระลอกใหญ่โดยไม่รู้ว่าจะจบเมื่อไหร่หรือต้องสูญเสียชีวิตประชาชนอีกมากน้อยแค่ไหน ขณะทีภาครัฐเองต้องระดมสรรพกำลังทั้งหมดเพื่อต่อสู้กับสถานการณ์ที่นับวันจะแย่ลงเรื่อยๆ โดยเฉพาะการทำงานหลักของบุคลากรสาธารณสุข ต้องเผชิญกับความท้าทายทีหนักหนาในครั้งนี้

อย่างไรก็ตามในชุมชนเองจากบทเรียนการแพร่ระบาดระลอกเมื่อปี 63 กลไกทำงานหลักอย่างท้องถิ่นซึ่งมีบทบาทเป็นอย่างมากในรอบแรกก็ยังทำงานอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะบางพื้นที่ที่เคยเป็นต้นแบบการเรียนรู้ก็ผลักตัวเองไปสู่การสร้างระบบเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโรคติดต่อได้นอกเหนือจากโควิด-19 อย่างเช่นพื้นทีเทศบาลวาปีปทุม พื้นที่โมเดลต่อสู้ภัยโรคระบาดของ จ.มหาสารคม ก็ได้ยกระดับการขับเคลื่อนการทำงานจากการเผชิญปัญหาเมื่อปีทีแล้ว มาต่อยอดปฎิบัติการได้อย่างน่าสนใจ

โดยนางอรอนงค์ รังวิเศษ  ปลัดเทศบาลตำบลวาปีปทุม จ.มหาสารคาม ได้เริ่มต้นอธิบายสถานการณ์ ถึงมาตรการการลดความเสี่ยงในชุมชนการแพร่ระบาดโควิด-19 ล่าสุดในช่วงเทศกาลสงกรานต์ที่ผ่านมา ว่าได้มีการดำเนินมาตรการป้องกันอย่างเคร่งครัด ทั้งนี้ตำบลวาปีปทุมถือเป็นชุมชนเมือง โดยมีจุดเสี่ยงในพื้นที่ที่สำคัญ 2 จุดคือ ตลาดสดเทศบาล และสถานีรถขนส่งบขส.วาปีปทุม ได้มีการมอบนโยบายในมาตรการเฝ้าระวัง 7 วันอันตราย และมีการตั้งจุดคัดกรอง 2 จุด ซึ่งประกอบด้วยเจ้าหน้าที่อสม.และเจ้าหน้าที่เทศบาล  ทั้งในวันจันทร์ พุธ ศุกร์ จะมีการนำน้ำยาฆ่าเชื้อมาพ่นล้าง นอกจากนี้ในชุมชนก็จะมีด่านชุมชนเพื่อเป็นการคัดกรอง ซึ่งจะมีเจ้าหน้าที่อพปร. / อสม. / ผู้นำชุมชน

 

“เราเน้นหลัก 2 เรื่องไปควบคู่กันคือ การเฝ้าระวังเรื่องอุบัติเหตุ แลโควิด-19 ทั้งนี้ที่จุดตรวจจะมีอุปกรณ์ครบ เช่น แอลกอฮอล์ หรือหน้ากากอนามัยสำรอง เครื่องวัดอุณภูมิร่างกาย โดยจะมีเจ้าหน้าที่อสม.เป็นกำลังสำคัญในการบริการให้ความช่วยเหลือ ทั้งนี้หลังจาก 7 วันอันตรายซึ่งเราได้มีการถอดบทเรียน โดยหลักๆในเรื่องของอุบัติเหตุคือการไม่ได้สวมหมวกกันน็อคแต่ก็ได้มีการตักเตือนกัน ขณะที่การป้องกันโควิดจากการตั้งด่านตรวจนั้น เราไม่พบว่ามีผู้ติดเชื้อ หรือมีอุณหภูมิเกิน จาก 37.5 องศา  ทั้งนี้แม้เราไม่พบว่ามีปัญหาการติดเชื้อ แต่ก็ถือว่าเป็นการตระหนักร่วมกันในการร่วมด้วยช่วยกันหาวิธีการป้องกันในพื้นที่” นางอรอนงค์ ระบุ

เธอระบุด้วยว่า สำหรับการเฝ้าระวังค้นหากลุ่มเสี่ยงในชุมชนนั้น ทั้ง4 องค์กร ท้องถิ่น ท้องที่ สาธารณสุข และภาคประชาชน ทำงานแบบเคาะประตูบ้าน เข้าไปคัดกรอง ทั้งนี้พื้นที่เทศบาลวาปีปทุม โดยเฉลี่ยมีประมาณ800 ครัวเรือน ประชาชนประมาณหนึ่งพันกว่าคน ซึ่งจะดำเนินการคัดกรองที่บ้าน โดยการทำงานร่วมกันของทั้ง 4 องค์กร ทั้งวัดอุณหภูมิ พูดคุยสอบถาม โดยเฉพาะใน 7 วันอันตรายจะไปรายวัน ขณะเดียวกันทีมงานหลักคือ อสม.จะไปทุกวัน โดยมีการแบ่งสายรับผิดชอบชุมชนโดยจะมีอสม.10 คน ต่อ1 ชุมชน ในพื้นที่มี 7 ชุมชนนั้นคือมีอสม.ปฎิบัติหน้าที่ 70 คน

 

“ทั้งนี้จะมีการายงานผลส่งมายังเทศบาล หลังจากนั้น เทศบาลก็จะส่งข้อมูลไปยัง สาธารณสุขอำเภอ(สสอ.) ซึ่งจะมีศูนย์โดวิดระดับอำเภอ ทั้งนี้สิ่งที่เรานำมาเป็นแนวทางการในการทำงานต่อยอดต่อเนื่องคือ บทเรียนจากที่เราเคยประสบปัญหาสถานการณ์โควิดมาแล้วในปี 63  ซึ่งถือว่าโชคดีทีเราได้เรียนรู้การทำงานจาก สสส.มาเป็นแนวทางในการทำงานเชิงรุก และนำมาสู่การสร้างให้พื้นที่วาปีปทุมของเราเป็นโมเดลการทำงานเชิงรุกในจังหวัดมหาสารคามเป็นต้นแบบในการทำงานแบบที่เราเรียกว่าเคาะประตูบ้าน ที่เป็นทำงานร่วมกันของ 4 องค์หลัก” นางอรอนงค์ ระบุ

เธอระบุว่าด้วยว่า ในส่วนของการพัฒนาบุคลากรโดยเฉพาะข้อมูล ความรู้ เพื่อให้เท่าทันกับการรับมือกับสถานการณ์ในพื้นที่นั้น ในฐานะหน่วยงานหลักในพื้นที่เทศบาลวาปีปทุมได้ทำงานโดยยึดหลักกับการมีส่วนร่วมกับชุมชนมาโดยตลอด รวมทั้งองค์กรต่างๆ โดยเฉพาะเรามีแนวทางที่ชัดเจนให้พนักงานเทศบาลของเรา ต้องลงพื้นที่เพื่อทำงานเชิงรุก

เธอระบุว่า ขณะเดียวกันเมื่อเราลงไปปฎิบัติงานในพื้นที่อย่างแท้จริง คนที่ปฎิบัติงานในสนามก็จะเห็นความเคลื่อนไหวต่างๆ เช่น ชุมชนเขามีกฎกติกากันอย่างไร และตรงไหนที่เราควรจะเข้าไปหนุนเสริม เพิ่มเติมให้เขา ทำงานควบคู่กันไปเรียนรู้กันไปทั้งเจ้าหน้าที่ของเราและคนในชุมชน โดยเฉพาะในช่วงสถานการณ์โควิด เราพบว่า คนในชุมชนเขาจะช่วยกันดูแล สอดส่องคนเข้าคนออก แล้วเขาจะมารายงานโดยตรงกับ อสม.ซึ่งถือเป็นเสาหลัก ด่านแรกในชุมชน ใครมาใครไป อสม.จะรู้ข้อมูลหมด แล้วแจ้งตรงมายังเทศบาล

 

ทั้งหมดนี้คือ การได้วางระบบไว้ตั้งแต่เราเผชิญวิกฤตโควิดรอบแรกในปี 63 แล้วมีการสรุปบทเรียนการทำงานในพื้นที่ จนเป็นแนวทางทำงานที่ชัดเจน และเราประสบการณ์การทำงานตรงนั้นมาต่อยอดดำเนินการ เตรียมพร้อม และทำงานเชิงรุก ซึ่งนำมาระบบการดูแลปัญหาโรคติดต่อ ซึ่งครอบคลุมโรคติดต่ออื่นๆด้วยไม่ใช่โควิด-19 เช่น การระบาดโรคพยาธิใบไม้ตับ   ซึ่งเราทำงานภายใต้ชุดข้อมูลความรู้ ของเจ้าหน้าที่ปฎิบัติงาน และ อสม. ทั้งนี้พนักงานเทศบาลของเรานั้น มีแนวทางนโยบายที่ชัดเจนที่พัฒนาบุคคลากร เพื่อนำความรู้ไปสู่ชุมชน ที่ได้ผ่านการอบรมให้ความรู้จากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เข้าไปปฎิบัติงานและนำมาสู่การวางระบบในพื้นที่เพื่อควบคุม ป้องกันการแพร่ระบาดของโรคติดต่อต่างๆ” นางอรอนงค์ ระบุ

ปลัดเทศบาลตำบลวาปีปทุม ระบุด้วยว่า เจ้าหน้าที่ของเรา ที่ลงไปปฎิบัติงานต้องเท่าทันสถานการณ์ โดยเฉพาะ อสม.ของเราซึ่งถือเป็นด่านหน้าในการทำหน้าที่ เราจะทำควบคู่ไปกับการถอดบทเรียน สรุปบทเรียน ทำงานไปแก้ปัญหากันไป สร้างการเรียนรู้ พร้อมให้ความรู้ ซึ่งจะมีการเวร์คช็อปต่อเนื่อง โดยทีมสาธารณสุข สสอ.เข้ามาดำเนินการอบรม ซึ่งโดยปกติคือประมาณวันที่ 5 ของแต่ละเดือน และจะมีการทำรายงานความคืบหน้าปัญหา อุปสรรค การแก้ไข เป็นรายงานมา” นางอรอนงค์ ระบุ

ปลัดเทศบาลวาปีปทุมที่ทำงานจนนำไปสู่พื้นที่ต้นแบบต่อสู้ภัยโรคระบาด ระบุด้วยว่า กลยุทธิ์ที่สำคัญในการทำงานเชิงรุก คือ การประชาสัมพันธ์ข้อมูล ความรู้ เพื่อปลุกให้คนตื่น และตระหนักรู้ปัญหา เธอระบุที่นี้ใช้ทุกช่องทางในการสื่อสาร ไม่ว่าจะเป็นเสียงตามสาย ทั้งของเทศบาล ของชุมชน การใช้หอกระจายข่าว การทำงแผ่นพับ รณรงค์ การใช้โซเชียลมีเดีย ทุกแพลตฟอร์ม การใช้ไลน์กลุ่มของกลุ่มที่ปฎิบัติ งานทั้งเจ้าหน้าที่เทศบาล อสม.หรือ กลุ่ม4 องค์กรหัวเรือหลัก เพื่อสื่อสารข้อมูล แจ้งเพื่อทราบ ส่งต่อ อัพเดทสถานการณ์ โดยเน้นฉับไว ถูกต้อง รวดเร็ว ตื่นตัว  ซึ่งเราคิดว่าปฎิบัติการสื่อสาร เป็นสิ่งสำคัญมากๆในการทำงาน ทั้งการนำมาเป็นแนวทางในนโยบายหรือมาตรการ จากรัฐบาล จังหวัด มาสู่พื้นที่ที่ต้องนำมาปฎิบัติ สานต่อเพื่อให้เกิดรูปธรรมการปฎิบัติที่ชัดเจน

เธอชี้แจงรูปแบบการทำงานของความร่วมมือ 4   องค์กรหลักในพื้นที่ด้วยว่า เทศบาลถือเป็นเจ้าภาพหลัก โดยเมื่อมีนโยบายมาจากอำเภอ เทศบาลก็จะรับนโยบาย มีการประชุมกับทั้ง 4 องค์กรหลัก 1 ครั้งต่อเดือน เพื่อขับเคลื่อนการทำงาน รวมทั้งรับทราบปัญหา หาแนวทางการแก้ไข และดำเนินการ มีอุปสรรค ปัญหา หรือ เกิดผลอย่างไร ก็ต้องนำมาเป็นบทเรียน เรียนรู้กันไป เพื่อทำงานต่อไปข้างหน้าแบบการมีส่วนร่วมในการทำงานร่วมกับชุมชน

ขณะเดียวกัน นางอรอนงค์ ยังได้อธิบายการทำงานในเรื่องของการฟื้นฟูเศรษฐกิจชุมชน ในระหว่างการเผชิญปัญหาการแพร่ระบาดโควิด-19 ซึ่งได้เริ่มดำเนินการมาตั้งแต่การรับมือปัญหารอบแรกในปี 63 โดยเธอระบุว่า ได้มีการดำเนินช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบในพื้นที่ ผ่านศูนย์ช่วยเหลือประชาชน ซึ่งจะมีข้อมูลจำนวนคนว่างงาน คนตกงาน ที่สำรวจโดยคณะกรรมการชุดดังกล่าว เมื่อได้ตัวเลขข้อมูล ก็จะมาวางแผนการช่วยเหลือ เช่น ฝึกอาชีพ ตามความต้องการ ถนัด หรือส่งเสริมให้ข้อมูลเป็นทางเลือก รวมทั้งเปราะบางในชุมชนซึ่งเราก็ไม่ได้ทอดทิ้งปล่อยใครไว้ข้างหลัง

“ทั้งนี้เมื่อเกิดวิกฤตระลอกใหม่ เราก็มีการอัพเดทจำนวนผู้ที่ได้รับผลกระทบ และต่อยอดจากของเดิมที่เราเคยวางระบบความช่วยเหลือไว้แล้ว ที่ผ่านมาก็มีการช่วยเหลือที่ เกิดรูปธรรมกลุ่มอาชีพต่างๆ ในชุมชน ทั้งสินค้าโอท็อป อาหารมั่นคง พืชผัก ปลอดสารพิษ ซึ่งเมื่อเขาได้อบรมส่งเสริมความรู้ ก็นำมาปฎิบัติการที่บ้าน บางคนเมื่อปลูกผักเหลือกิน เหลือแจก ก็นำมาวางจำหน่ายในตลาดสร้างรายได้เพิ่มให้กับครอบครัว” นางอรอนงค์ ระบุ

เธอระบุถึง การช่วยเหลือในเรื่องเงินทุนการดำเนินการเพื่อให้ชาวบ้านสร้างอาชีพด้วยว่า เทศบาลจะทำหน้าที่เป็นตัวประสาน แหล่งเงินทุนต่างๆที่จะสามารถนำมาบริการประชาชน เช่น ธนาคาร ธกส. ธนาคารออมสิน ซึ่งเขาจะมีโครงการต่างๆออกมาช่วยเหลือประชาชนส่วนหนึ่งอยู่แล้วด้วย ทั้งนี้เทศบาลจะเป็นคนอำนวยความสะดวก เพื่อให้ประชาชนเข้าถึงแหล่งเงินเหล่านั้น เช่น การทำหนังสือรับรองให้ หรือ โครงการช่วยเหลือพ่อค้าแม่ค้า เราก็จะดูรายละเอียดในการนำไปสู่การช่วยเหลือพวกเขา

“จากเหตุการณ์ หรือสถานการณ์ที่เราต้องรับมือกันมาในรอบที่แล้วปี 63 วันนี้เรามีบทเรียน มีการถอดความรู้ มีการวางระบบเพื่อรับมือ เป็นการเตรียมความพร้อมในพื้นที่ระดับหนึ่งอยู่แล้ว โดยเฉพาะเรื่องอาหารมั่นคง ที่เราถือว่าเป็นหัวใจสำคัญ ทุกครอบครัวจะต้องมีอาหารไม่ว่าจะต้องเผชิญสถานการณ์ยากลำบากขนาดไหน เมื่อเราเผชิญเหตุการณ์ระลอกแรก เรานำบทเรียนมาต่อยอดให้ความรู้ชาวบ้าน ส่งเสริมสนับสนุนเมล็ดพันธุ์ เพื่อให้เขานำไปปฎิบัติการที่บ้าน ตัวชาวบ้านเองบทเรียนที่เขาประสบมาเขาก็ได้บทเรียนของเขา ให้ได้คิดให้ได้เตรียมการ ล่าสุดนี้มีการปิดตลาดเพราะผลกระทบการแพร่ระบาดรอบใหม่ที่ไม่มีใครสามารถประเมินอันตรายได้ว่าจะร้ายแรงที่ไหน แต่ชาวบ้านที่นี้ถึงอย่างไรก็มีอาหาร ตลาดปิดก็ไม่ได้ส่งผลกระทบกับเขามากนัก เพราะเขามีอาหารที่ปลูกไว้รอบบ้าน สามารถดูแลกันเองในครอบครัว แถมเผื่อแผ่แลกเปลี่ยนกันได้ด้วย” นางอรอนงค์ ระบุ

เธอระบุทิ้งท้ายว่า การทำงานรับมือกับสถานการณ์แพร่ระบาดโควิดรอบใหม่นี้ แน่นอนว่าตั้งอยู่บนความไม่ประมาท ซึ่งการทำงานของเทศบาลขณะนี้คือติดตามต่อยอด ติดตามผล จากสิ่งที่เราเคยได้ทำไปแล้ว หรือวางระบบไว้แล้วในปี 63 และนำมาหนุนเสริมต่อยอด สิ่งที่ขาดไป หรือ ปัญหาอุปสรรค นำมาแก้ไขปรับปรุง เช่น เรื่องความมั่นคงทางอาหาร เราเปิดเป็นศูนย์เรียนรู้เกษตร,ศูนย์พอเพียง มีการถอดบทเรียน ปัญหา อุปสรรค จากการปฎิบัติจริงในพื้นที่ มีชาวบ้านมาร่วมแลกเปลี่ยน เรียนรู้ร่วมกัน อบรมเป็นวาระ นำไปต่อยอดปฎิบัติการที่บ้าน

“แน่นอนว่านี้คือการสร้างความมั่นใจให้กับครอบครัวว่า พวกเขาจะสามารถอยุ่รอดได้ไม่ว่าจะต้องเผชิญสถานการณ์เลวร้ายการแพร่ระบาดของโควิดขนาดไหน เพราะมีอู่ข้าวอู่น้ำเป็นของตัวเองเรียบร้อยแล้ว” ปลัดเทศบาลตำบลวาปีปทุม จ.มหาสารคาม ระบุ

 

#ชุมชนท้องถิ่น รู้รับ ปรับตัว