ศูนย์ฝึกอบรมองค์การบริหารส่วนตำบลบางคนที ร่วมกับศูนย์สนับสนุนวิชาการเพื่อการจัดการเครือข่าย (ศวภ.) ภาคกลาง ได้จัดการประชุมเชิงปฏิบัติการ “พัฒนาทักษะการวิจัยชุมชนด้วยการวิจัยเชิงชาติพันธุ์วรรณนาแบบเร่งด่วน” (Rapid Ethnographic Community Assessment Process: RECAP) ระหว่างวันที่ 10-14 เดือน มกราคม 2565 ที่ผ่านมา เพื่อสร้างความเข้าใจในแนวคิดและหลักการวิธีการวิจัยชุมชนด้วยการวิจัยเชิงชาติพันธุ์วรรณนาแบบเร่งด่วนให้กับนักวิจัยชุมชน โดยมี ศปง.โรคติดต่อ อบต.วังใหม่ และ อบต.เสม็ดใต้ พร้อมด้วยอปท.เครือข่าย เข้าร่วม 10 แห่ง และ ศจค.ทต.ชากไทย 1 แห่ง, ศจค./ศปง.ที่มาเป็นพี่เลี้ยงอีก 5 แห่ง รวมอปท.เข้าร่วมทั้งหมด 16 แห่ง
เริ่มต้นการอบรม ก็พาทุกคนไปทำความเข้าใจกับแนวคิดและหลักการของ RECAP หรือเครื่องมือในการพัฒนาทักษะด้านการถอดบทเรียนและการเขียนสรุปข้อมูลทุนและศักยภาพของกลุ่มหรือแหล่งปฏิบัติการในพื้นที่ ซึ่งนักวิจัยชุมชนทุกคนจะต้องยึดแนวทางนี้ โดยเน้นให้เข้าใจเป้าหมาย แนวคิด วิธีการ กระบวนการวิเคราะห์ และแนวทางการนำไปใช้
ก่อนการอบรมต้องวอร์มร่างกายกันเสียก่อน เพราะตลอดระยะเวลาการเวิร์คช็อป นักวิจัยชุมชนต้องพร้อม มีสมาธิและมุ่งมั่นกับการเรียนรู้ เมื่อกลับสู่พื้นที่ตนเองจะได้นำความรู้สู่การปฏิบัติจริง ทั้งนี้เนื่องจากทุกขั้นตอนทุกกระบวนการของการวิจัยชุมชน นักวิจัยและผู้เกี่ยวข้องต้องค้นหาศักยภาพของชุมชนท้องถิ่นของตน ทั้งในระดับบุคคล กลุ่ม องค์กรชุมชน หมู่บ้าน หรือหน่วยงาน และข้อมูลเหล่านี้ต้องครอบคลุมถึงทุนทางสังคมในชุมชน เงินหรือกองทุน ทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม เพื่อแก้ปัญหาและตอบสนองความต้องการของประชาชนในพื้นที่
การลงพื้นที่ของนักวิจัยชุมชน ก็เพื่อค้นหาทุนทางสังคม 4 ระดับ ได้แก่ ระดับบุคคล ระดับกลุ่ม องค์กร ระดับหน่วยงาน และระดับหมู่บ้าน อย่างการอบรมคราวนี้ทางองค์การบริหารส่วนตำบลบางคนที ได้นำผู้เข้าอบรมไปฝึกปฏิบัติเก็บข้อมูลจากศูนย์พัฒนาคุณภาพชีวิตและส่งเสริมอาชีพผู้สูงอายุของตำบล
กระบวนการเก็บข้อมูลมีส่วนสำคัญอย่างยิ่ง นักวิจัยชุมชนต้องเข้าถึงแหล่งข้อมูลให้ตรงกับสิ่งที่ต้องการ โดยเข้าไปพูดคุยกับผู้ให้ข้อมูล ได้แก่ ผู้นำชุมชน ปราชญ์ เจ้าหน้าที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เจ้าหน้าที่ หน่วยบริการสุขภาพ ประชาชนทั่วไป แกนนำกลุ่ม องค์กร หน่วยงาน และหมู่บ้าน (ชุมชน) จัดการตนเอง ซึ่งผลที่ได้รับ อาจจะค้นพบบุคคลที่เป็นคนเก่ง คนดีคนสำคัญ หรือข้อมูลโครงสร้างพื้นฐานทางกายภาพและโครงสร้างทางสังคมที่มีส่วนร่วมในการพัฒนา แก้ไขปัญหา หรือยกระดับภาวะสุขภาพของคนในชุมชน
หลังจากเก็บข้อมูลมาแล้ว ก็จะรวบรวมและรายงานผล เพื่อค้นหาศักยภาพของชุมชน ซึ่งองค์ประกอบสำคัญของศักยภาพของชุมชนท้องถิ่นที่พบในพื้นที่อาจได้แก่ 1) ข้อมูล 2) เงินหรือกองทุน 3) ทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม และ 4) คนที่มีความพร้อมทั้งความรู้ความเชี่ยวชาญ ความตั้งใจ ประสบการณ์วิธีการทำงาน การช่วยเหลือกัน การรวมกลุ่ม เป็นต้นและเครือข่ายความสัมพันธ์
ข้อมูลที่ดีนำมาถึงแผนปฏิบัติการที่ดี ที่สำคัญต้องมาจากนักวิจัยชุมชนที่มีทักษะด้านการถอดบทเรียนและการเขียนสรุปข้อมูลทุนและศักยภาพของกลุ่มหรือแหล่งปฏิบัติการในพื้นที่ด้วย
ในการประชุมเชิงปฏิบัติการ “พัฒนาทักษะการวิจัยชุมชนด้วยการวิจัยเชิงชาติพันธุ์วรรณนาแบบเร่งด่วน” (Rapid Ethnographic Community Assessment Process: RECAP) ครั้งนี้ ผสมผสานระบบออนไลน์ด้วย