ศึกษาเรียนรู้แหล่งอาหารผ่านคนสองวัย รู้จักต้นไม้และการใช้ประโยชน์จาก “ป่าน้ำกุ่ม”

เมื่อเราเปิด Google Map แล้วค้นหาจุดที่ตั้ง จะพบว่าตำบลน้ำกุ่ม อ.นครไทย จ.พิษณุโลก ตั้งอยู่ในหุบเขา ปิดล้อมด้วยภูเขาสูงและป่าไม้ทุกด้าน หากใครจะไปเยือนต้องผ่านเส้นทางสูงชันและคดเคี้ยว ซึ่งเป็นทางเดียวที่เข้าสู่ชุมชน แม้จะเข้าถึงยากดั่งแดนลับแล แต่ไม่น่าเชื่อว่าชุมชนแห่งนี้ มีประวัติมายาวนานแล้ว

               ชุมชนตำบลน้ำกุ่มแต่เดิมนั้น ขึ้นอยู่กับตำบลนครชุม ของอำเภอนครไทย โดยตำบลน้ำกุ่มอยู่ทางทิศเหนือ และตำบลนครชุม อยู่ทิศใต้ ผู้คนทั้งสองตำบลสันนิษฐานว่าเป็นชาวลาวอพยพลงมาเพื่อแสวงหาที่อยู่ที่ทำกินช่วงประมาณปี พ.ศ.1736-1738

               ยุคสมัยนั้นตำบลนครชุม มีชื่อเรียกขานอย่างไรไม่ปรากฏ แต่หลังจากมีผู้คนอพยพเข้ามาอยู่ ชาวพื้นเมืองเดิมซึ่งไม่เคยเห็นคนจำนวนมากเช่นนั้นมาก่อน จึงเรียกว่า “เมืองคนชุม” ซึ่งผู้นำสำคัญในการอพยพครั้งนั้นมี 2 คน เป็นพี่น้องกัน ผู้พี่ชื่อ ขุนกังหาว ส่วนน้องชื่อ ขุนหาญห้าว ได้มายึดหลักปักมั่นอยู่บ้านนาลานข้าว และบ้านนาเมือง ต่อมาได้สถาปนาตัวเองขึ้นเป็นเจ้าเมืองและสร้างที่ประทับสำหรับเจ้าเมืองขึ้น (ซากอิฐยังปรากฏอยู่บ้านนาลานข้าวในปัจจุบัน) 

               อีกตำนานเล่าว่า เมื่อ 700 ปีก่อน เป็นแหล่งซ่องสุมกำลังไพร่พล เพื่อการสู้รบของพ่อขุนบางกลางท่าว เจ้าเมืองบางยาง (นครไทย) เพื่อไปตีเอาเมืองศรีสัชนาลัยและสุโขทัยกลับคืนมาจากขอม โดยในครั้งนั้นได้ร่วมกับพ่อขุนผาเมือง เจ้าเมืองลาด (เพชรบูรณ์) ในการตีคืนบ้านเมือง เมื่อได้ชัยชนะจึงปราบดาภิเษกเป็นพระมหากษัตริย์แห่งอาณาจักรสุโขทัย พระนามว่า “พ่อขุนศรีอินทราทิตย์”

               ต่อมาเห็นว่า เมืองคนชุมนี้ ชื่อยังไม่เหมาะสมกับเมือง จึงเปลี่ยนชื่อใหม่ ว่า “นครชุม” จนถึงปัจจุบัน แต่เนื่องจากจำนวนหมู่บ้านมากขึ้นทำให้การปกครองไม่ทั่วถึง จึงได้แบ่งแยกออกจากตำบลนครชุมเมื่อปี พ.ศ. 2517 และใช้ชื่อว่า “ตำบลน้ำกุ่ม” ซึ่งมาจากลำน้ำกุ่ม แหล่งต้นน้ำสำคัญของแม่น้ำแควน้อย โดยมีทั้งหมด 7 หมู่บ้านด้วยกัน

อนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติของคนสองวัย

               ด้วยเหตุพื้นที่ตำบลน้ำกุ่ม มีเทือกเขาและป่าไม้ปิดล้อมทุกด้าน จึงมีพื้นที่บางส่วนอยู่ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูขัด และอุทยานแห่งชาติน้ำตกชาติตระการ ทำให้มีป่าไม้และแหล่งน้ำอุดมสมบูรณ์ ผู้คนชุมชนตำบลน้ำกุ่มเอง ก็รู้จักกิน รู้จักใช้ประโยชน์จากป่ามาเนิ่นนาน ใช้ชีวิตอย่างพอเพียงจนแทบจะไม่ต้องพึ่งพาทรัพยากรเพื่อการดำรงชีวิตจากภายนอกเลย นอกจากนี้พื้นที่ภูเขาสูง สวยงาม อากาศบริสุทธิ์ คือ “ทุน” อย่างดีของชุมชนที่รอการพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยวในอนาคต จึงมีความจำเป็นที่จะต้องให้ความสำคัญกับการปลูกฝัง สร้างจิตสำนึก ความเอาใจใส่ดูแลทรัพยากรป่าไม้ หรือแม้กระทั่งการส่งเสริมการปลูกป่าการอนุรักษ์แหล่งต้นน้ำ เป็นต้น

               เมื่อมีความตระหนักถึงความสำคัญของผืนป่าและแหล่งน้ำ ทางองค์การบริหารส่วนตำบลน้ำกุ่ม (อบต.น้ำกุ่ม) จึงได้จัดการให้ความรู้เรื่องการอนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้มให้กับกลุ่มเด็กและเยาวชนในตำบลผ่านโครงการเยาวชนดวงใจสีเขียวเมื่อปี 2561 และดำเนินการมาอย่างต่อเนื่องจนมีเยาวชนในพื้นที่เข้าร่วมโครงการแล้วเกือบ 200 คน

               สำหรับ กิจกรรมศึกษาเรียนรู้แหล่งอาหารผ่านคนสองวัย : รู้จักต้นไม้และการใช้ประโยชน์จากป่า นับเป็นการส่งต่อประสบการณ์จากคนรุ่นก่อนสู่คนรุ่นหลัง โดยมีกลุ่มผู้สูงอายุที่เคยเข้าป่า หาอาหาร หาสมุนไพร มาใช้ในชีวิตประจำวัน เป็นผู้นำทางให้กับเยาวชนเข้าไปในป่า บอกเล่าเรื่องราว แนะนำ ชี้แนะ เกี่ยวกับป่าให้กลุ่มเยาวชนได้รู้จัก

               ในป่าน้ำกุ่มไม่ได้มีเฉพาะอาหาร จำพวกหน่อไม้ และเห็ดนานาชนิดเท่านั้น แต่ยังเป็นแหล่งวัตถุดิบสำคัญที่ช่วยสร้างอาชีพและรายได้ให้กับชาวบ้านด้วย นั่นคือ หญ้าไม้กวาด ซึ่งขึ้นอยู่ตามที่โล่งเชิงเขา ในช่วงเดือนตุลาคม-ธันวาคม ชาวบ้านจะขึ้นไปตัดดอก เพื่อนำมาทำไม้กวาดดอกหญ้า สร้างรายได้ โดยทางอบต.น้ำกุ่มได้สนับสนุนชาวบ้านตั้งเป็นกลุ่มวิสาหกิจชุมชนไม้กวาดดอกหญ้า มีจำนวนสมาชิก 46 คน

               ปัจจุบันตำบลบลน้ำกุ่มมีประกรทั้งหมด 2,412 คน 779 ครัวเรือน มีผู้สูงอายุจำนวน 606 คน คิดเป็นร้อยละ 27.06 ถือเป็นสังคมผู้สูงอายุอย่างสมบูรณ์ ขณะที่มีอัตราเด็กเกิดใหม่ลดลง โดยมีเด็กปฐมวัย (0-5 ปี) จำนวน 47 คน คิดเป็นร้อยละ 2.09 สำหรับครัวเรือนที่มีรายได้ต่ำกว่าเส้นความยากจนของประเทศจำนวน 21 คน คิดเป็นร้อยละ 0.93 

               กิจกรรมศึกษาเรียนรู้แหล่งอาหารผ่านคนสองวัย จะนำการศึกษาโดยปราชญ์ชาวบ้านน้ำกุ่มที่คุ้นเคยกับป่าเป็นอย่างดิ อาทิ ทองเหรียญ บุญคำกุล รองนายกอบต.น้ำกุ่ม, ทวี ฝั้นบ้านไร่ รองนายกอบต.น้ำกุ่ม, จำลอง ตาแสนแก้ว ส.อบต.น้ำกุ่ม, วุฒิชัย จันทะวงสิงห์ ส.อบต.น้ำกุ่ม และ นิยม ฝั้นบ้านไร่ พร้อมกับกลุ่มเยาวชนดวงใจสีเขียวอีกจำนวนหนึ่ง

ศักยภาพชุมชนใช้ประโยชน์จากทรัพยากรอย่างสมดุล

               องค์การบริหารส่วนตำบลน้ำกุ่ม มีการดำเนินงานและการบริหารจัดการด้านจัดการทรัพยากรธรรมชาติ โดยมีเป้าหมานในการใช้ประโยชน์อย่างสมดุล ซึ่งตำบลน้ำกุ่มมีการจัดการป่า การจัดการดิน การจัดการน้ำ และการจัดการขยะ โดยเฉพาะการจัดการขยะนั้น มีการคัดแยกขยะ 539 ครัวเรือนจากทั้งหมด 595 ครัวเรือน หรือคิดเป็นร้อยละ 90.59 ทีเดียว

               นับว่าการมีส่วนร่วมของชาวบ้านนั้น ถือว่าสูงมาก ทุกๆ กิจกรรมจึงมีผู้เข้าร่วมจำนวนมาก อย่างกิจกรรมเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม ชุมชนจะเข้าร่วมกิจกรรมสม่ำเสมอ ทั้งการปลูกป่า ทำแนวป้องกันไฟป่า สร้างฝายชะลอน้ำ ปลูกหญ้าแฝก ส่วนการจัดการภัยพิบัติ มีครัวเรือนที่ได้รับผลกระทบจากภัยพิบัติ จำนวน 156 ครัวเรือน คิดเป็นร้อยละ 26.22 มีการจัดการภัยพิบัติในพื้นที่ โดยมีร่วมประชุมวางแผนป้องกันหรือแก้ไขปัญหาร่วมกัน จนกระทั่งมีการร่วมกันเฝ้าระวังและเตือนภัยในช่วงที่อยู่ในภาวะเสี่ยงด้วย

               ในพื้นที่ยังมีกลไกในการจัดการทรัพยากรร่วมกันประกอบด้วยตัวแทนในระดับหมู่บ้าน อาสาสมัครในชุมชน เช่น อาสาสมัครท้องถิ่นรักษ์โลก (อถล.) กลุ่มเยาวชนดวงใจสีเขียว ร่วมกับผู้นำท้องที่ ท้องถิ่น เจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติน้ำตกชาติตระการ โดยมุ่งเน้นในการพัฒนากลไกในระดับเครือข่ายเพื่อจัดการทรัพยากรสิ่งแวดล้อมร่วมกัน และการใช้ประโยชน์จากการจัดการร่วมกัน มีการสร้างเครือข่ายในการจัดการทรัพยากรในพื้นที่ต้นน้ำลุ่มน้ำแควน้อย โดยแยกมิติในการจัดการออกเป็น 5 ด้าน ประกอบด้วย

               3.1 ด้านการจัดการพื้นที่ป่า โดยเน้นในการจัดการตั้งแต่พื้นที่ต้นน้ำ ในการอนุรักษ์พื้นที่ป่าต้นน้ำ สร้างกลไกในการจัดการและการเพิ่มพื้นที่ป่าต้นน้ำ ในพื้นที่กลางน้ำ การจัดการและใช้ประโยชน์ร่วมกัน ในการกระจายให้เข้าถึงน้ำอุปโภค บริโภค และน้ำเพื่อการเกษตร และพื้นที่ปลายน้ำ การบริหารจัดการน้ำโดยเพื่อการกักเก็บน้ำ ที่เชื่อมไปถึงระบบการบริหารจัดการน้ำภายใต้กลไกการจัดการน้ำในระดับหมู่บ้าน และระดับตำบล การพัฒนาข้อตกลงร่วมกันในการจัดการพื้นที่ป่า โดยมีข้อตกลงในระดับหมู่บ้าน และระดับตำบล และการใช้ประโยชน์จากพื้นที่ป่าในการสร้างอาหาร การใช้สมุนไพร การเข้าถึงอาหารของคนในชุมชนอย่างครอบคลุม

                3.2 ด้านการจัดการน้ำ การขับเคลื่อนโดยกลไกคณะกรรมการประกอบด้วย การอนุรักษ์ ฟื้นฟู บริหารจัดการ และการกำหนดกติการ่วมกัน ในไปสู่การพัฒนากติกาชุมชนการสร้างเงื่อนไข ข้อตกลงร่วมกันในการจัดการน้ำของชุมชน โดยประกอบด้วย การจัดการน้ำเพื่อการเกษตรการจัดการน้ำในครัวเรือน และการจัดการน้ำเพื่ออุปโภคและบริโภค โดยมีระบบน้ำบริโภคที่ชุมชนเข้าถึงประกอบด้วย น้ำในระบบตู้กดในชุมชน จุดบริการประปาในหมู่บ้าน ซึ่งปลายทางช่วยลดค่าใช้จ่ายในครัวเรือนและคนในชุมชนเข้าถึงการบริโภคน้ำที่สะอาดถูกหลักอนามัย

               3.3 ด้านการจัดการดิน โดยแบ่งประเภทในการจัดการเป็น 3 มิติ ประกอบด้วย 1) การจัดการพื้นที่เสี่ยงในการเกิดดินโคลนถล่ม การสำรวจพื้นที่เสี่ยงภัย เพื่อจัดการแผนรับมือ เฝ้าระวัง และพัฒนาอาสาสมัครในการจัดการพื้นที่ 2) การจัดการที่ดินเพื่อการเกษตรกรรมเน้นการปลูกพืชหมุนเวียน ไม่ทำเกษตรเชิงเดี่ยวในพื้นที่ สร้างมาตรการลดการเผา และการไถกลบในพื้นที่เกษตรกรรม และ 3) การจัดการดิน เพื่อสร้างความสมดุลให้กับพื้นที่ป่า โดยกำหนดกลไกในการจัดการระดับพื้นที่ในการสร้างมาตรการลดการเผาให้ครอบคลุมทั้งพื้นที่ การส่งเสริมการใช้ปุ๋ยอินทรีย์ในภาคเกษตรกรรมและจัดทำแผนในการรับมือภัยพิบัติทั้ง 3 ระยะในพื้นที่ ประกอบด้วย ระยะที่ 1 แผนรับมือก่อนเกิดเหตุ ระยะที่ 2 แผนการรับมือระหว่างเผชิญเหตุ ระยะที่ 3 แผนฟื้นฟูหลังเกิดเหตุ

               3.4 ด้านการจัดการไฟป่า การสร้างกลไกอาสาสมัครในการจัดการไฟป่าในพื้นที่ โดยจัดการใน 2 รูปแบบ คือ 1) การจัดการในภาวะปกติ การจัดทำแผนเพื่อการจัดการ และเผชิญเหตุ การจัดการเชื้อเพลิง และด้านการฟื้นฟูหลังเกิดเหตุในพื้นที่ 2) การจัดการในภาวะวิกฤติ (ช่วงเดือนพฤศจิกายน – เมษายน) การสร้างกลไกโดยเครือข่ายอาสาสมัครในการควบคุมในระดับพื้นที่และระดับเครือข่าย โดยมีกำหนดกติกาในการควบคุมการเกิดเหตุ เช่น หยุดสาเหตุในการเกิดไฟป่าจากการทำไร่เลื่อนลอย การลดการเผาในพื้นที่เกษตรกรรมที่มีพื้นที่ติดกับพื้นที่ป่าสาธารณะ โดยการบูรณาการร่วมระหว่างชุมชน หน่วยงาน ภาคีที่เกี่ยวข้องในการจัดการควบคุมไฟป่าพื้นที่ การเฝ้าระวังในการป้องกันไฟป่า ประกอบด้วย การดูแลพื้นที่ริมแนวชายป่า การสร้างแนวกันไฟล้อมรอบพื้นที่ เพิ่มความระมัดระวังในการจุดไฟป่าเป็นพิเศษ และหลีกเลี่ยงการประกอบกิจกรรมที่เป็นสาเหตุให้เกิดไฟป่า ทั้งนี้ให้การจัดการไฟป่าอย่างยั่งยืนจึงจำเป็นต้องมีเครือข่ายอาสาสมัครทั้งในระดับพื้นที่ขององค์การบริหารส่วนตำบลน้ำกุ่ม และในพื้นที่ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเครือข่ายที่อยู่ในพื้นที่ป่าลุ่มน้ำเดียวกัน

               3.5 ด้านการจัดการขยะ มุ่งเน้นการจัดการขยะในครัวเรือน (การจัดการขยะต้นทาง) โดยจัดการขยะ 3 ประเภท ประกอบด้วย 1) การจัดการขยะแห้ง ขยะย่อยสลายได้ หรือขยะอินทรีย์ คือขยะจำพวกเศษใบไม้ เศษวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรที่สามารถผลิตปุ๋ยได้ โดยการฝังกลบ 2) การจัดการขยะเปียก โดยมีเป้าหมายในการจัดการขยะเปียกในครัวเรือนแบบ 100% และ 3) การจัดการขยะรีไซเคิล การจัดตั้งธนาคารขยะในชุมชน และบริหารจัดการโดยชุมชน

#น้ำกุ่ม #ป่าต้นน้ำแควน้อย #นครชุม #การจัดการระบบนิเวศ #น้ำตกชาติตระการ

#เครือข่ายร่วมสร้างชุมชนท้องถิ่นน่าอยู่ #สุขภาวะชุมชน