“ศูนย์การเรียนรู้โจ้โก้” พื้นที่ของเกษตรกรอวดดี เพื่อชีวิตที่ยั่งยืน


หลายครั้งที่เราเห็นข่าวสารของเกษตรกรผู้พ่ายแพ้ต่อชะตากรรม แบกรับหนี้สินมหาศาลและสิโรราบต่อความอัตคัด ส่งผลให้หลายคนท้อแท้และยุติการพัฒนาตนเองไปทันทีทันใด

แต่สำหรับเกษตรกรสมาชิกกลุ่ม ศูนย์การเรียนรู้โจ้โก้ ตำบลเมืองจัง  อำเภอภูเพียง จังหวัดน่านแล้วนั้นเกษตรกรสามารถพิสูจน์คุณค่าของชีวิตได้ง่ายๆ ด้วยการพัฒนาทักษะการเกษตรได้อีกหลายระดับเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงในทุกมิติ ขอเพียงแค่สังคมยอมรับการมีอยู่ของเกษตรกรก็เท่านั้น  พวกเขาก็พร้อมจะโดดเด่นและสร้างสิ่งดีๆ ให้ประเทศ ให้โลกอีกมากมาย ซึ่งสิ่งดีๆ เหล่านั้นเป็นการส่งเสริมการพัฒนาอย่างยั่งยืน (Sustainable Development Goals : SDGs)ที่สอดคล้องกับนโยบายกรอบความร่วมมือสำคัญระดับโลกของรัฐบาลไทยในฐานะประเทศสมาชิกสหประชาชาติ (ยูเอ็น)   ได้ทำข้อตกลงไว้กับนานาประเทศ

สังคมไทยหากเคารพชาวนา ชาวไร่ ก็ต้องให้เราได้มีโอกาสบริหารทรัพยากรที่เกี่ยวข้องและให้โอกาสเราได้คิด ได้ทำได้ถ่ายทอด ได้วิจัยค้นคว้าด้วยตัวเองบ้าง ได้มีบทบาทในทุกอย่างด้วย คือไม่ใช้แค่ผลิตสินค้าเกษตรแล้วจบ แต่ต้องพัฒนาไปพร้อมกันโดยใช้ทั้งภูมิปัญญาชาวบ้านและความรู้สมัยใหม่ที่เป็นสากลด้วย และหากจะพัฒนานวัตกรรมใหม่ๆในประเทศ ก็ต้องไม่อาศัยแค่ความรู้จากห้องแล็บอย่างเดียว   แต่ต้องผสมผสานกันระหว่างความรู้จากนักวิชาการกับชาวบ้าน นั่นแหละจึงจะยั่งยืน”   

สำรวย  ผัดผล นายกองค์การบริหารส่วนตำบลเมืองจัง (อบต.เมืองจัง) และตัวแทนผู้ร่วมก่อตั้งและพัฒนาศูนย์โจ้โก้ สะท้อนความเห็นของการพัฒนาประเทศโดยให้เกษตรกรมีส่วนร่วม

คำว่า “โจ้โก้”เป็นภาษาท้องถิ่นทางภาคเหนือของประเทศไทยแปลว่าหมู่บ้านบนดอยหมู่บ้านบนเขา โดยศูนย์โจ้โก้ ก่อตั้งมานานกว่า 20 ปี โดยเริ่มขึ้นจากการเป็นพื้นที่ศึกษาของกลุ่มเยาวชนที่สนใจเรื่องราวของท้องถิ่นแล้วอาศัยชุมชนเพื่อการทำกิจกรรมต่าง  โดยกลุ่มนักศึกษาจากสถาบันเทคโนโลยีราชมงคลวิทยาเขตน่าน ปัจจุบันคือมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลวิทยาเขตล้านนาตะวันออกน่าน ซึ่งครั้งนั้น “สํารวย” เป็นประธานกลุ่ม และมีสมาชิกกลุ่มที่นำเงินมาบริจาคเพื่อทำกิจกรรม   ต่อมาได้ขยายและตั้งเป็นชมรมอนุรักษ์พรรณพืชพื้นบ้าน จ.น่าน โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่ออนุรักษ์และพัฒนาพันธุ์พืชพื้นบ้านเน้นกระบวนการเรียนรู้อย่างมีส่วนร่วมระหว่างเกษตรกรและนักศึกษา รวมทั้งบุคคลทั่วไปที่สนใจด้านดังกล่าว

ต่อมาทางกลุ่มที่ศึกษาเรียนรู้ได้พบว่า พื้นที่ดังกล่าวมีเกษตรกรเผชิญวิกฤตทางการเกษตรเนื่องจากระบบเกษตรกรรมแบบพันธนาการในจังหวัดน่าน และมีระบบเกษตรเชิงเดี่ยวหรือเน้นการปลูกพืชชนิดเดียวในพื้นที่และปริมาณมากกระแสการผลิตดังกล่าวภายใต้วลีที่ว่า “ผลผลิตสูงและราคาดี”  แต่แล้วเกษตรดังกล่าวก็ไม่ยั่งยืนเพราะท้ายที่สุดชาวนา ชาวไร่ เช่นกรณีข้าวนั้นคือชาวนาทำอยากได้ผลดีก็เร่งยา สุดท้ายค่าเคมีไม่พอ ก็ไปกู้หนี้ ยืมสิน เพราะข้าวพันธุ์ผลผลิตสูงนี่จำเป็นต้องอาศัยปัจจัยหลายอย่าง เกษตรกรจึงต้องแบกรับกับภาระค่าใช้จ่ายมากขึ้น ดังนั้นทางศูนย์จึงต้องทำหน้าที่เป็นโรงเรียนชาวนาให้เกษตรได้เข้ามาเรียนรู้ และเปิดพื้นที่ให้เกษตรกรที่ประสบความสำเร็จได้เป็น ครู ถ่ายทอดวิชาแก่เกษตรกรรายอื่นด้วย

แรกๆก็ศึกษาแค่กรณีพันธุ์ข้าวแต่ระยะหลังก็เน้นพันธุ์พืชชนิดอื่นด้วย เช่น มะเขือ ข้าวโพด ฯลฯ แล้วก็ใช้เป็นศูนย์ศึกษาอย่างนั้นมาเนิ่นนานมาก กระทั่งมามีบทบาทอย่างเต็มตัวในระยะ 10 ปีหลังจนถึงปัจจุบัน กลายเป็นต้นแบบการศึกษาด้านการเกษตรที่ยั่งยืน สำรวยอธิบาย

จากวิกฤติดังกล่าวเกษตรกรบางส่วนได้รวมกลุ่มกัน รวมทั้งนักพัฒนาเอกชนนักวิชาการท้องถิ่นที่ตระหนักกับสภาวะการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวบุคคลเหล่านี้ได้ก่อรูปเป็นหน่วยปฏิบัติการโดยจากเวทีหารือได้ยกประเด็นเรื่องเมล็ดพันธุ์ขึ้นมาเป็นประเด็นขับเคลื่อนหลักโดยมีชมรมอนุรักษ์พรรณพืชพื้นบ้าน จังหวัดน่าน เป็นหน่วยประสานงานโดยปัจจุบันเครือข่ายมุ่งเสริมศักยภาพเกษตรกรและเสริมองค์ ความรู้ด้านเทคนิคเกษตรเพื่อให้เกษตรกรสามารถประยุกต์ใช้ในแปลงของเกษตรกรได้ทั้งนี้อยู่บนหลักการของเกษตรกรรมยั่งยืน

การขับเคลื่อนองค์ความรู้ดังกล่าวเป็นการดำเนินตามรอยพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช (รัชกาลที่ 9)ในด้านการเกษตรที่ทรงเป็นมิ่งขวัญชาวนา โดยทรงให้ความสำคัญต่อการทำนาปลูกข้าว อันเป็นอาชีพหลักและอาหารหลักของคนไทย ขณะเดียวกันก็ทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจทั้งส่งเสริมพัฒนาและแก้ปัญหาด้านการเกษตร โดยเฉพาะอย่างยิ่งการทำนา ก่อให้เกิดโครงการเกี่ยวกับการวิจัยและพัฒนาข้าว ยกระดับคุณภาพชีวิตและรายได้ให้ชาวนาไทยในแหล่งปลูกข้าวหลักทุกภูมิภาคทั่วประเทศ

ทั้งนี้ตลอดเวลาการครองสิริราชสมบัติทรงมีโครงการส่วนพระองค์ สวนจิตรลดา ที่ทรงก่อตั้งขึ้นตั้งแต่ปี 2504 ด้วยทุนทรัพย์ส่วนพระองค์ โดยมุ่งเน้นปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง กับนาข้าวทดลอง สวนจิตรลดา โรงสีข้าวตัวอย่างฯลฯ   จนเป็นที่ประจักษ์แก่สายตาทั่วโลกว่า ทรงเป็น “กษัตริย์เกษตร” และ “พระบิดาแห่งการวิจัยและพัฒนาข้าวไทย” มุ่งมั่นทุ่มเทกำลังพระวรกายพัฒนาเพื่อความมั่นคงด้านอาหาร ทรงให้ความสำคัญต่ออาชีพการทำนาและปัญหาขาดแคลนข้าวในถิ่นทุรกันดารเพื่อให้ปวงชนชาวไทยอยู่ดีกินดี

ซึ่งทางศูนย์ได้น้อมนำพระราชดำรัสของในหลวงรัชกาลที่9 ที่รับสั่งว่า  “ข้าพเจ้ามีโอกาสได้ศึกษาการทดลองและทำนามาบ้าง ทราบดีว่าการทำนานั้นมีความยากลำบากอยู่มิใช่น้อย จำเป็นจะต้องอาศัยพันธุ์ข้าวที่ดี และต้องใช้วิชาการต่าง ๆ ด้วยจึงจะได้ผลเป็นล่ำเป็นสัน ……” (พระราชทานแก่ผู้นำกลุ่มชาวนา เมื่อ พ.ค. 2504 ) ทางศูนย์จึงได้เดินตามรอยพระยุคลบาทและปรับเปลี่ยนแนวคิดมาสู่แนวใหม่ว่า การพัฒนายั่งยืน คือ ใช้ต่อเนือง และเกษตรกรต้องบริหารจัดการด้วยตนเอง ซึ่งโรงเรียนชาวนา โดยศูนย์โจ้โก้ได้ ปรับแนวทางมาเป็น ศูนย์ที่ทำโดยชาวนา ใช้โดยชาวนา เพื่อชุมชนชาวนา

ท่านก็สอนให้ชาวนารู้จักคัดเลือกพันธุ์ข้าวและรักษาพันธุ์ข้าวนั่นแหละ โดยเฉพาะพันธุ์พื้นเมืองถ้าเราไม่เห็นคุณค่ามันก็จะหายไป ดังนั้นศูนย์จึงต้องทำหน้าที่รวบรวมพันธุ์ข้าวไร่ ข้าวนา  และศูนย์ฝึกชาวนาให้เป็นนักคัดเลือก ปรับปรุงพันธุ์ โดยเอาศาสตร์สากลมาบวกกับความรู้ภูมิปัญญาดั้งเดิม และบวกศาสตร์พระราชาที่เน้นการพึ่งตนเองกระทั่งสำเร็จมาเป็นศูนย์ฯ ที่มีคนในประเทศ นอกประเทศมาศึกษาดูงานต่อเนื่อง ทำให้เป็นต้นแบบของสังคมมาจนถึงปัจจุบัน  สำรวยกล่าวถึงการสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณของในหลวงรัชกาลที่9

ปัจจุบันศูนย์โจ้โก้ ได้โดยทุนสนับสนุนหลายส่วน อาทิ ค่าบริการศึกษางานจากบุคคลและหน่วยงานภายนอก  และเงินบริจาคทั่วไปทั้งแบบบุคคลและหน่วยงาน และปัจจุบันได้ร่วมกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) โดยสำนักสนับสนุนสุขภาวะชุมชน  ทำหน้าที่เชื่อมโยงเครือข่ายชุมชนท้องถิ่นน่าอยู่เพื่อขยายแนวคิดกระบวนการโรงเรียนชาวนาและเป็นต้นแบบ การขับเคลื่อนเชิงนโยบายโดยชุมชน เพื่อช่วยหนุนชุมชนในการปรับเปลี่ยนเชิงนโยบายและเชิงสถาบันองค์กรโดยหนุนเสริมชุมชนด้านกระบวนการเรียนรู้และแลกเปลี่ยนประสบการณ์ เพื่อให้เกษตรกรได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างสมาชิกในชุมชนในระบบเกษตรกรรมยั่งยืนและการดํารงชีวิต  อีกทั้งหนุนเสริมศักยภาพเครือข่ายเชื่อมประสานผู้เชี่ยวชาญสถาบันท้องถิ่นเพื่อการอนุรักษ์ พัฒนาและใช้ประโยชน์จากพันธุกรรมพืช  ที่เป็นตัวอย่างแก่สังคมไทยและต่างประเทศ  มีจำนวนกลุ่มที่พัฒนาและอนุรักษ์พันธุ์ข้าวใน จ.น่านมากถึง 12 กลุ่ม  มีตัวแทนจัดจำหน่ายเมล็ดพันธุ์เองมากถึง  3,000 ครัวเรือน และมีพันธุ์ข้าวที่ได้รับการปรับปรุงเพื่อใช้ปลูกมากถึง15 ชนิด

บทบาทของศูนย์โจ้โก้เติบโตขึ้นเรื่อยๆ กระทั่งทำหน้าที่ผลิตเมล็ดพันธุ์พืช และขยายพันธุ์สัตว์อีกหลายชนิด อย่างกรณีของครอบครัว “ สำรวย”  ก็มีการขายพันธุ์สุกรด้วย

สำหรับหน้าที่และการพัฒนาแนวคิดอื่นๆ นั้นศูนย์โจ้โก้ได้พัฒนาแนวทางบริหารจัดการน้ำอย่างบูรณาการ โดยสำเร็จในส่วนของระบบน้ำบนดินไปแล้ว อาทิ การสร้างอ่างเก็บน้ำ ฝายเก็บน้ำ   การเร่งฟืนฟูป่าต้นน้ำ  และทำระบบชลประทานน้ำ อีกทั้งมีแผนในอนาคต คือ การสร้าง “ธนาคารน้ำใต้ดิน”   ซึ่งอยู่ระหว่างจัดทำแต่ยังไม่สำเร็จสมบูรณ์ โดยแผนคือ  ในเนื้อที่การเกษตร 5 หมื่นไร่ แล้วสร้างบ่อน้ำ ขนาด 20 x 40 เมตร  ความลึก 7-9 เมตร เป็นรูปตัว V  โดยจัดทำ20 บ่อ เพื่อรองรับน้ำในฤดูฝนให้เป็นการเติมน้ำแล้วซับน้ำใต้ดิน คาดว่าน้ำจะอิ่มตัวในรัศมี1,000 –3,000 เมตร แล้วฤดูแล้งก็นำน้ำในบ่อขึ้นมาใช้ ซึ่งทางศูนย์เชื่อว่าการพัฒนาเช่นนี้จะเป็นการทำการเกษตรอย่างครบวงจรและสามารถสร้างความยั่งยืนได้

เมื่อใดก็ตามเกษตรกรบริหารทรัพยากรดิน น้ำ  ป่าได้  รัฐควรจะทำหน้าที่เติมงบประมาณให้เกษตรกรมีความสามารถใหม่ๆ ทัดเทียมอาชีพอื่น ไม่ใช่ปล่อยชุมชนอยู่ลำพัง และยังมาแย่งทรัพยากร พร้อมยัดเยียดให้ยอมรับนโยบายที่ทำร้ายเกษตรกรอีก ไม่ว่าจะเป็นการให้โอกาสบริษัทต่างๆ เข้ามาเสนอสินค้า หรืออะไรก็ตามที่โกยกำไรจากเกษตรกรนั่นเท่ากับว่าทำร้ายเรา การทำเช่นนี้จะไม่เป็นผลดีต่อเกษตรกร ดังนั้นประเทศไทยจะยั่งยืนได้ต้องลดความเหลื่อมล้ำ และให้โอกาสเกษตรกรเข้ามามีบทบาทเพื่อทำเกษตรที่มีประสิทธิภาพ นายกอบต.เมืองจังทิ้งท้ายแนวคิดสำหรับการพัฒนาสังคมไทยอย่างเหมาะสม