ศูนย์ประสานล้านนา ร่วมขับเคลื่อน “กิจกรรมรณรงค์สร้างภูมิ คุ้มนิเวศ” รักษ์ป่า รับมือภาวะโลกร้อน

ศูนย์ประสานล้านนา ร่วมขับเคลื่อน “กิจกรรมรณรงค์สร้างภูมิ คุ้มนิเวศ” รักษ์ป่า รับมือภาวะโลกร้อน
.
ด้วยศูนย์ประสานล้านนา ซึ่งประกอบไปด้วย 2 ตำบล ได้แก่ ทต.หงาว อ.เทิง จ.เชียงราย และ อบต.เมืองจัง อ.ภูเพียง จ.น่าน ได้ร่วมขับเคลื่อนในการจัดกิจกรรมรณรงค์ ‘สร้างภูมิ คุ้มนิเวศ’ พร้อม 6 ตำบลที่จะขยายเครือข่ายโลกร้อน และร่วมกิจกรรมรณรงค์ เพื่อเตรียมรับมือภาวะโลกร้อน ความเปลี่ยนแปลงทางสภาพอากาศ และทรัพยากรธรรมชาติ ซึ่งกิจกรรมรณรงค์นี้ มีความสอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals : SDGs) ในด้านทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อมภายใต้กิจกรรมรณรงค์ที่จัดตั้งขึ้น ดังนี้
.
1. ทต.หงาว อ.เทิง จ.เชียงราย ได้จัดตั้งกิจกรรมรณรงค์ภายใต้ชื่อ “เยาวชนพันธุ์แกร่ง ร่วมแรงลดโลกร้อน” โดยมีอีก 3 ตำบลเข้าร่วมกิจกรรมรณรงค์ด้วย ซึ่งกิจกรรมนี้ ยังสอดคล้องกับรูปแบบของ SDG 2, 6, 12, 13 และ 15 อีกด้วย โดยมีกิจกรรมทั้งหมด 2 กิจกรรม ดังนี้
.
กิจกรรมที่ 1 ‘กิจกรรมคืนพื้นที่สีเขียวให้แก่ป่า’
เพิ่มพื้นที่สีเขียวด้วยการปลูกต้นไม้ 5 สายพันธุ์ จำนวน 1,500 ต้น ในพื้นที่กว่า 2 ไร่ โดยภายใน 5 ปีข้างหน้า พื้นที่สีเขียวเหล่านี้ จะสามารถกักเก็บปริมาณคาร์บอนได้ถึง 31.24 ตันต่อไร่ และจะมีการต่อยอดกิจกรรมเพิ่มพื้นที่สีเขียวในทุก ๆ ปี เพื่อมุ่งเน้นการปลูกขยายจากพื้นที่เดิมให้มากยิ่ง ๆ ขึ้นไป
.
กิจกรรมที่ 2 ‘การสร้างเสวียนลดโลกร้อน’
สร้างเสวียนรอบต้นไม้ในพื้นที่สวนสาธารณะจำนวน 20 อัน เพื่อเป็นที่เก็บขยะอินทรีย์ เพิ่มความเป็นระเบียบให้บริเวณสวนสาธารณะสะอาดน่ามองยิ่งขึ้น อีกทั้งยังสามารถทำปุ๋ยในเสวียน เพื่อนำไปใช้ประโยชน์ในการปลูกพืชผักได้อีกด้วย
.
2. อบต.เมืองจัง อ.ภูเพียง จ.น่าน
จัดตั้งกิจกรรมรณรงค์ “เมืองจังรักษ์โลก” ร่วมกับ 3 ตำบลร่วมกิจกรรมรับมือโลกร้อน ด้วยการปลูกป่า การนำพลังงานหมุนเวียนมาใช้ในด้านเกษตรกรรมให้ครอบคลุมพื้นที่เมืองจังเพื่อยกระดับสู่ ‘เมืองเกษตรสีเขียว’ เพื่อสร้างความตระหนักถึงปัญหาสิ่งแวดล้อม ทำให้ประชาชนเกิดการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในการช่วยลดปริมาณขยะและหันมาให้ความใส่ใจแก่สิ่งแวดล้อมมากยิ่งขึ้น โดยรูปแบบของกิจกรรมจะจัดแบ่งเป็นฐาน ให้ผู้เข้าร่วมกิจกรรมเกิดการเรียนรู้ในแต่ละฐานด้วย ซึ่งทุกฐานล้วนสอดคล้องกับรูปแบบของ SDG 2, 7, 12 และ 13
.
จากผลการดำเนินงานของศูนย์ประสานล้านนาร่วมจัดกิจกรรมรณรงค์ทั้ง 2 กิจกรรมนั้น เป็นที่สนใจของเด็ก เยาวชน ผู้นำท้องที่ ภาคีเครือข่ายและประชาชนทั่วไป ได้ตระหนัก และรับรู้รับทราบ พร้อมที่จะขับเคลื่อนในการจัดการสิ่งแวดล้อมและลดโลกร้อน ด้วยการเพิ่มพื้นที่สีเขียว และลดการเกิดขยะชุมชนต่างพื้นที่สาธารณะต่าง ๆ อีกทั้งยังสนับสนุนการใช้พลังงานหมุนเวียนในด้านเกษตรกรรมในพื้นที่เพาะปลูกอีกด้วย
.
#วันสิ่งแวดล้อมโลก
#เครือข่ายร่วมสร้างชุมชนท้องถิ่นน่าอยู่
#ชุมชนเข้มแข็ง
#สสส