สร้างชุมชนข่วงเปา เป็นประชาธิไตยแบบมีส่วนร่วม

 

 

หัวใจของการสร้างธรรมภิบาลในการบริหารจัดการขององค์กร ไม่ได้อยู่ที่การยึดถือตามตัวบทกฏหมายอย่างเข้มงวดแต่เพียงอย่างเดียวหากยังหมายถึงการสร้างการมีส่วนร่วมและการตรวจสอบความโปร่งใสได้ในทุกระดับ

รุ่งสุริยา เชียงชีระ นายกองค์การบริหารส่วนตำบลข่วงเปา อำเภอจอมทอง จังหวัดเชียงใหม่  ได้ รางวัลเป็นเลิศและโดดเด่นด้านการเสริมสร้างเครือข่าย รัฐ เอกชน และประชาสังคม จากสถาบันพระปกเกล้า  และเป็นศูนย์ประสานงาน ขับเคลื่อนสูงวัยสร้างเมือง โดยสำนักสนับสนุนสุขภาวะชุมชน สสส.  ซึ่งมีหัวใจหลักในการทำงานคือการสร้างการมีส่วนร่วมของชุมชน

“การสร้างการมีส่วนร่วมต้องเกิดขึ้นทุกระดับให้ได้เพราะการมีส่วนร่วมจะเป็นกระบบวนการหนึ่งในการตรวจสอบ แม้องค์การบริหารส่วนตำบลข่วงเปาจะมีหมู่บ้านทั้งหมด 13 แห่ง แต่กลไกการมีส่วนร่วมกลับทั่วถึงทุกหมู่บ้าน”

รุ่งสุริยา บอกว่า องค์การบริหารส่วนตำบลเน้นการทำให้ตรวจสอบได้ทั้งหมด โดยเริ่มจากการดำเนินการตามตัวบทกฏหมาย หรือข้อบังคับของท้องถิ่นอย่างเข้มงวดก่อน ที่จะริเริ่มโครงการใหม่

แต่หลังจากนั้น จะเน้นการสร้างการรับรู้ร่วมกันของชุมชน โดยเมื่อต้องการพัฒนาจะต้องเริ่มจากเวทีประชาคมหมู่บ้านก่อน ทั้ง 13 หมู่บ้านจนครบก่อนที่จะมารพิจารณาในการประชุมองค์การบริหารส่วนตำบล

ดังนั้นไม่ว่าการพัฒนาแบบเกิดขึ้นกับตำบล ชาวบ้านทุกชุมชนจะรับรู้ข้อมูล และได้เสนอปัญหาความกังวลร่วมกันก่อนที่จะดำเนินการ

 

นอกจากนี้ องค์การบริหารส่วนตำบลขวงเปา ยังสร้างการมีส่วนร่วมในการจัดทำแผนการพัฒนาชุมชนของแต่ละหมู่บ้าน ก่อนที่จะกำหนดเป็นแผนพัฒนาระดับตำบล โดยขั้นตอนการวางแผนพัฒนาจะเริ่มจากการให้แต่ละหมู่บ้านสำรวจปัญหา พร้อมข้อเสนอทางออก

หลังจากนั้นจะนำมาจัดทำแผนพัฒนาตำบล โดยจะสรุปปัญหาที่คล้ายคลึงกันของแต่ละหมู่บ้านเข้ามาอยู่ในหมวดหมู่เดียวกัน ก่อนที่จะกำหนดเป็นแผนพัฒนาเพื่อผลักดันให้เกิดการแก้ปัญหา

“แผนที่ผ่านการร่วมกันคิดร่วมกันทำจะได้รับความร่วมมือ จนนำไปสู่การพัฒนาโดยพบว่ากว่าร้อยละ 80 ที่ข้อเสนอในแผนพัฒนาชุมชนได้รับการตอบสนองนำไปดำเนินการ”

รุ่งสุริยาบอกว่า แผนพัฒนาชุมชนที่กำหนดร่วมกันจะทำเป็นระยะ1 ปี 2 ปี โดยในแต่ละปี จะนำกลับมาพิจารณาร่วมกันใหม่เพื่อดูว่าแผนที่กำหนดไปมีอะไรต้องปรับปรุงเพิ่มหรือไม่

นอกจากนี้หากข้อเสนอของแผนพัฒนาชุมชนเกินกำลังองค์การบริหารส่วนตำบลในการดำเนินการจะประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อเข้ามาช่วยสานต่อการทำงาน เช่นที่ผ่านมาแผนพัฒนาชุมชนเรื่องการจัดการน้ำ ซึ่งได้รับรางวัลรองชนะเลิศ การบริหารบ้านเมืองดี ปี2560  ก็ถือเป็นหนึ่งที่ชาวบ้านร่วมกันเสนอแก้ไขปัญหาจนบรรลุเป้าหมาย ทำให้เกิดการแก้ไขจัดการน้ำอย่างเป็นระบบ

การกำหนดแผนการจัดการน้ำอย่างครบวงจรจะเริ่มจาก การหาเจ้าภาพในเรื่องน้ำ ซึ่ง รุ่งสุริยา บอกว่า คือผู้ใช้น้ำนั่นเอง และให้ผู้ใช้น้ำตั้งกลุ่มผู้ใช้น้ำ เพื่อเสนอแนวทางการแก้ไขปัญหาขึ้น กำหนดออกมาเป็นแผนในการดำเนินการ หากแผนฯในการดำเนินการเกินอำนาจของท้องถิ่นก็จะเสนอไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม การประปา

“การทำแผนจัดการน้ำแบบครบวงจรประสบความสำเร็จมาก เพราะว่า ปัญหาที่เสนอไปได้รับการแก้ไขเกือบทั้งหมดทำให้ชุมชนไม่ได้มีปัญหาในเรื่องของความขัดแย้งในการใช้น้ำเลย”

การจัดการขยะก็เป็นอีกโครงการที่ผ่านการมีส่วนร่วมของชุมชนในทุกระดับ โดยรุ่งสุริยาบอกว่า  ปัญหาขยะในชุมชนมีเพิ่มมากขึ้นจึงเริ่มการดำเนินการด้วยโครงการแยกขยะ และจัดให้มีตลาดนัดขยะ ของกลุ่มแม่บ้าน โดยให้ผู้สูงอายุแยกขยะนำมาขายหรือ แลกน้ำยาปรับผ้านุ่ม หรือสิ่งของอื่นๆเพื่อสร้างวินัยในการแยกขยะ

รุ่งสุริย บอกว่า การสร้างการมีส่วนร่วมอย่างเดียวไม่เพียงพอหากยังต้องสร้างกลไกให้การเข้าถึงข้อมูลเพื่อเพิ่มความโปร่งใส  โดยองค์การบริหารส่วนตำบลขวงเปาจัดตั้งศูนย์ข้อมูล เพื่อเปิดใป้ชาวชุมชนเข้าไปตรวจสอบได้ทุกโครงการ  ทุกกิจกรรม

นอกจากนี้ ยังลงทุนสร้างระบบไวไฟเพื่อให้ชาวชุมชนเข้าตรวจสอบและเข้าถึงข้อมูลทางอินเตอร์เนต ผ่านเวบไซด์  , FB , ยูทูป ขององค์การบริหารส่วนตำบลขวงเปา รวมไปถึงการสร้างหอกระจายข่าย ซึ่งมีมากถึง 30จุดในทุกชุมชน เพื่ดให้ทุกโครงการถูกตรวจสอบได้ทั้งหมด

“การสร้างการมีส่วนร่วมและการสร้างความโปร่งใสทำให้ชุมชนตรวจสอบได้ถือเป็นหัวใจในการทำงานของธรรมาภิบาล” รุ่งสุริยา บอก