สสส. จับมือ อปท.พื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ขับเคลื่อนงานพัฒนาระบบเฝ้าระวังโรคติดต่อโดยชุมชนท้องถิ่น

บันทึกข้อตกลงความร่วมมือ
การควบคุมโรคติดต่อโดยชุมชนท้องถิ่น
เครือข่ายร่วมสร้างชุมชนท้องถิ่นน่าอยู่
วันพฤหัสบดีที่ ๑๑ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๖๔
ณ โรงแรมเดอะคอนวีเนียน อำเภอเมือง จังหวัดขอนแก่น

อำนาจหน้าที่ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น วิสัยทัศน์และพันธกิจของกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น กระทรวงมหาดไทย และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) โดยสำนักสนับสนุนสุขภาวะชุมชน (สำนัก ๓) มีเป้าหมายเดียวกันเพื่อเพิ่มขีดความสามารถขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและการเสริมสร้างความเข้มแข็งของชุมชนท้องถิ่น จึงร่วมกันทั้ง ๕ ฝ่ายประกอบด้วย

๑) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)
๒) องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทั้ง ๘ แห่งในฐานะ ศูนย์ประสานงานเครือข่ายเฉพาะประเด็นการควบคุมโรคติดต่อโดยชุมชนท้องถิ่น
๓) องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเครือข่าย ๓๒ แห่ง
๔) ศูนย์สนับสนุนวิชาการเพื่อการจัดการเครือข่ายพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบนและตอนล่าง
๕) ศูนย์วิจัยและพัฒนาระบบสุขภาพชุมชน (ศวช.) คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น

 

จะร่วมกันดำเนินการพัฒนาระบบ เฝ้าระวัง ป้องกัน และควบคุมโรคติดต่อ โดยมีการดำเนินการดังนี้
๑. พัฒนากลไกการทำงานระดับพื้นที่ให้เกิดระบบการเฝ้าระวัง ป้องกัน และควบคุมโรคติดต่อโดยชุมชนท้องถิ่น โดยการบูรณาการเข้าสู่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องในชุมชนท้องถิ่น
๒.ร่วมกันพัฒนาศักยภาพคณะทำงานให้มีขีดความสามารถในการเป็นนักพัฒนาระบบการเฝ้าระวัง ป้องกัน และควบคุมโรคติดต่อ
๓.มีการประชุมเพื่อติดตามสถานการณ์และหนุนเสริมการทำงาร่วมกันออย่างน้อย ๓ เดือนต่อ ๑ ครั้ง
๔.ใช้ข้อมูลมาออกแบบการขับเคลื่อนระบบการเฝ้าระวัง ป้องกันและควบคุมโรคติดต่อตาม ๕ ชุดกิจกรรม
๕.ดำเนินการตามชุดกิจกรรมการเสริมสร้างความเข้มแข็งระบบเฝ้าระวัง ป้องกัน และควบคุมโรคติดต่อโดยชุมชนท้องถิ่นประกอบด้วย ประกอบด้วย ๑) เสริมสร้างความเข้มแข็งของกลไกการเฝ้าระวัง ป้องกัน และควบคุมโรคติดต่อ (ทุกโรคติดต่อ) ๒) สื่อสารและรณรงค์เพื่อป้องกันและควบคุมโรคติดต่อ ๓) ลดปัจจัยเสี่ยงหรือเงื่อนไขที่เสี่ยงทางสุขภาพอันส่งผลต่อความรุนแรงของโรคติดต่อ ๔) จัดการสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการขจัด ควบคุม เฝ้าระวัง และป้องกันโรคติดต่อและ ๕) การจัดการกับผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการระบาดของโรคติดต่อ
๖.นำบทเรียนไปกำหนดนโยบายสาธารณะในการขับเคลื่อนการพัฒนาสุขภาวะของประชาชนในพื้นที่ตน และร่วมกันผลักดันนโยบายสาธารณะระดับเครือข่ายสู่การปฏิบัติการจริงในพื้นที่
๗.จัดกิจกรรมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกันอย่างหลากหลายรูปแบบที่ ตอบสนองต่อกระบวนการพัฒนาตนเองและเครือข่าย และเข้าร่วมกิจกรรมตามข้อตกลงของเครือข่ายร่วมสร้างชุมชนท้องถิ่นน่าอยู่