สสส.ผนึกกำลัง 40 อปท.ภาคกลาง-ใต้ ร่วมขับเคลื่อนเฝ้าระวังโรคติดต่อในท้องถิ่น

สสส.จัดอบรมนักพัฒนาระบบเฝ้าระวังโรคติดต่อโดยชุมชนท้องถิ่น เสริมศักยภาพท้องถิ่นให้พร้อม เฝ้าระวัง ป้องกัน จัดการและควบคุมโรคติดต่อ จับมือเครือข่ายองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น กลาง ใต้ 40 แห่ง ร่วมลงนาม MOU การขับเคลื่อนงานพัฒนาระบบเฝ้าระวังโรคติดต่อโดยชุมชนท้องถิ่น

เมื่อวันที่ 18 มีนาคม 2564 ณ ห้อง ณ ห้องเดอะพอร์ทอล บอลรูม ศูนย์แสดงสินค้าและการประชุมอิมแพคเมืองทองธานี  นายสมพร ใช้บางยาง ประธานเครือข่ายร่วมสร้างชุมชนท้องถิ่นน่าอยู่  นางสาวดวงพร  เฮงบุณยพันธ์ ผู้ช่วยผู้จัดการอาวุโสกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ  และรักษาการผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะชุมชน พร้อมด้วยเครือข่ายองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พื้นที่ภาคกลางและภาคใต้ จำนวน 40 แห่ง ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงการขับเคลื่อนงานพัฒนาระบบเฝ้าระวังโรคติดต่อโดยชุมชนท้องถิ่น

ทั้งนี้ นางสาวดวงพร เฮงบุณยพันธ์ กล่าวถึงเป้าหมายในการขับเคลื่อนงานด้านการควบคุมโรคติดต่อ ของเครือข่ายร่วมสร้างชุมชนท้องถิ่นน่าอยู่ ว่า ชุมชนท้องถิ่นต้องสร้างวัฒนธรรมการทำงานใหม่ โดยให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วมของทุกฝ่ายในพื้นที่และเชื่อมโยงการทำงานระหว่างพื้นที่ไปพร้อมกัน ทั้งการทำความเข้าใจ  กำหนดกติกา จัดทำแผน และจัดสภาพแวดล้อม นอกจากนี้ชุมชนท้องถิ่นมีระบบข้อมูลที่แม่นยำเพื่อนำข้อมูลมาใช้ในการพัฒนาระบบ ตลอดจนสร้างผู้นำชุมชนท้องถิ่น ทีมงาน ที่มีความรอบรู้ด้านการควบคุมโรค และที่สำคัญต้องเชี่ยวชาญในการทำงานร่วมกับหน่วยงานภาครัฐอีกด้วย

พร้อมกันนี้ นายสมพร  ใช้บางยาง ประธานเครือข่ายร่วมสร้างชุมชนท้องถิ่นน่าอยู่ ได้บรรยายพิเศษ ในหัวข้อ พลัง 4 องค์กรหลัก เพื่อควบคุมโรคติดต่อ ว่า การที่ชุมชนท้องถิ่นจะสามารถแก้ไขปัญหาต่างๆในชุมชนให้เกิดผลสำเร็จและยั่งยืน ได้นั้น 4 องค์กรหลัก อันประกอบด้วย หน่วยงานรัฐในพื้นที่ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ท้องที่ และภาคประชาชน ต้องทำงานร่วมกัน เช่น อปท. ต้องดำเนินภารกิจตามกฏหมาย สนับสนุนงบประมาณ จัดทำแผนตำบล พัฒนานโยบายในพื้นที่ ขณะที่ ท้องที่ต้องเชื่อมประสานภาครัฐ ประชาชน เครือข่าย ดูแลทุกข์สุข รวมไปถึงการเชื่อมประสาน การสื่อสารรณรงค์ต่างๆ โดยที่องค์กรชุมชน หรือภาคประชาชน ร่วมกันปฏิบัติการ และร่วมพัฒนานวัตกรรม

4 องค์กรหลักในพื้นที่ต้องเป็นเนื้อเดียวกัน ทำงานร่วมกัน ช่วยกันแก้ไขปัญหา ซึ่งหาก 4 องค์กรหลักมีความเข้มแข็ง ต่อให้มีปัญหาอะไรเข้ามาในชุมชน ชุมชนก็พร้อมที่จะเผชิญและแก้ไขปัญหาได้ทุกเรื่อง อย่างไรก็ตาม การทำงานควบคุมโรคติดต่อ ไม่ใช่แค่การเฝ้าระวัง แต่ต้องคิดถึงการสร้างฐานในชุมชนให้เข้มแข็ง ซึ่งหากฐานมีความเข้มแข็ง เมื่อประเทศเกิดวิกฤติถึงตาจน ชุมชนที่เข้มแข็งจะกลายเป็นธงนำช่วยให้บ้านเมืองอยู่รอดได้”

 

#ชุมชนรู้รับปรับตัว

#เครือข่ายร่วมสร้างชุมชนท้องถิ่นน่าอยู่

#ชุมชนเข้มแข็ง

#สสส