“สะเอะ” จับมือ 10 อปท.เคลื่อนงานสุขภาวะ เน้นลดบุหรี่หลังพบนักสูบในชุมชนเกือบครึ่ง

อบต.สะเอะ ชวน 10 อปท.ในยะลาและปัตตานี ลง MOU ร่วมเครือข่ายสุขภาวะชุมชน มุ่งลดการสูบบุหรี่และสิ่งเสพติดเป็นเรื่องแรก หลังพบจำนวนผู้สูบบุหรี่ในพื้นที่ถึงร้อยละ 48 ย้ำงานแรกของสมาชิกเครือข่ายฯ ต้องเก็บข้อมูลชุมชน เพื่อให้เกิดการเรียนรู้ แบ่งปันและเกื้อกูล

เมื่อวันที่ 7 เมษายน 2564 ที่ห้องประชุมที่ว่าการอำเภอกรงปินัง อ.กรงปินัง จ.ยะลา ได้มีพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือโครงการสานพลังชุมชนท้องถิ่นสร้างสังคมอยู่ดีมีสุขอย่างยั่งยืน ระหว่างองค์การบริหารส่วนตำบลสะเอะ อ.กรงปินัง จ.ยะลา ในฐานะศูนย์จัดการเครือข่ายสุขภาวะชุมชน (ศจค.) กับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในพื้นที่ใกล้เคียงอีก 10 แห่ง เพื่อร่วมกันขับเคลื่อนประเด็นสุขภาวะต่างๆ ในพื้นที่ โดยมีนายสมพร ใช้บางยาง ประธานเครือข่ายร่วมสร้างชุมชนท้องถิ่นน่าอยู่ ร่วมเป็นสักขีพยาน

 

นายอาซัน สือนิล นายกองค์การบริหารส่วนตำบลสะเอะ กล่าวว่า ศูนย์จัดการเครือข่ายสุขภาวะชุมชนที่มีอบต.สะเอะ เป็นแม่ข่ายจะขับเคลื่อนใน 5 ประเด็น หลักประกอบด้วย ประเด็นการส่งเสริมคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุ ประเด็นเฝ้าระวังป้องกันและควบคุมโรคติดต่อ ประเด็นการส่งเสริมการเรียนรู้เด็กและเยาวชน ประเด็นลดอุบัติเหตุจราจร และประเด็นการควบคุมการบริโภคยาสูบและสิ่งเสพติด

ทั้งนี้ศูนย์จัดการเครือข่ายสุขภาวะชุมชนตำบลสะเอะ จะเร่งดำเนินการในประเด็น การควบคุมการบริโภคยาสูบและสิ่งเสพติดเป็นอันดับแรก เนื่องจากในพื้นที่มีจำนวนผู้สูบบุหรี่ถึงร้อยละ 48 ดังนั้นจะดำเนินการเพิ่มพื้นที่ปลอดบุหรี่ สร้างบุคคลต้นแบบ ครอบครัว และหน่วยงานปลอดควันบุหรี่ เพื่อปรับเปลี่ยนพฤติกรรมคนในชุนชน ให้ลด ละ เลิก การสูบบุหรี่ โดยการสร้างแรงจูงให้เกิดการตระหนักถึงปัญหา พร้อมกับให้คำปรึกษา ติดตาม ดูแล และการให้ความรู้แก่ประชาชน สามารถนำกลับไปปฏิบัติได้จริง โดยเฉพาะการป้องกันหรือลดจำนวนนักสูบหน้าใหม่ให้ห่างไกลจากการบริโภคยาสูบและสิ่งเสพติด

ส่วนประเด็นลดอุบัติเหตุและจราจรนั้น นายอาซัน กล่าวว่า อุบัติเหตุในพื้นที่เครือข่าย พบว่ามาจากหลายปัจจัย ทั้งจากการประมาท ไม่สวมหมวกกันน็อค การไม่ปฏิบัติตามกฏจราจร ซึ่งจากนี้ไปผู้นำต้องทำเป็นแบบอย่าง บังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัด ไม่เลือกปฏิบัติ พร้อมทั้งรณรงค์ให้ชาวบ้าน ชุมชนตระหนักถึงการขับขี่ปลอดภัย  และจุดเสี่ยงในการเกิดอุบัติเหตุทางถนน โดยเน้นการดำเนินงานเชิงบูรณาการในพื้นที่ เป็นหลัก

ทางด้าน น.ส.ดวงพร เฮงบุณยพันธ์ ผู้ช่วยผู้จัดการอาวุโสกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ และรักษาการผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะชุมชน (สำนัก 3) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวถึงการสนับสนุนให้องค์การบริการส่วนตำบลสะเอะเป็นศูนย์จัดการเครือข่ายสุขภาวะชุมชน (ศจค.) ว่า เพราะมีความเข้มแข็ง มีระบบจัดการข้อมูลที่ดี มีความชัดเจน ผู้นำเปิดใจกว้างยอมรับการเรียนรู้ใหม่ๆ ที่สำคัญที่อบต.สะเอะเป็นต้นแบบในการจัดการแทบทุกเรื่อง ทั้งเรื่องเศรษฐกิจและสังคม อย่างเช่นการทำทุเรียนเกษตรแปลงใหญ่ ก็สามารถรวมตัวกันได้ดี และเป็นพี่เลี้ยงให้กันและกันได้ ดังนั้นเครือข่ายที่เข้าร่วมจะต้องเรียนรู้ ว่าแม่ข่ายอย่าง อบต.สะเอะจัดการข้อมูลในชุมชนและรวบรวมทุนทางสังคม ต่างๆ ได้อย่างไร

งานแรกที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่เข้าร่วมเครือข่ายฯ คือการจัดเก็บข้อมูลชุมชนด้วยคนในชุมชนเอง ทั้งนี้ น.ส.ดวงพร ให้เหตุผลว่า เพราะต้องการสร้างการมีส่วนร่วมและเกิดการเรียนรู้ ว่าใครอยู่ที่ไหน ลำบากอะไรบ้าง ต้องการความช่วยเหลืออย่างไร เพื่อนำไปสู่สิ่งที่เรียกว่าแบ่งปันและเกื้อกูล ถ้าให้คนนอกชุมชนมาดำเนินการจัดเก็บข้อมูล เมื่อจัดเก็บเสร็จแล้ว ก็จากไป ชาวบ้านหรือชุมชนก็จะไม่ได้รู้ว่าปัญหาอยู่ที่ไหน

 

“ไม่ต้องกังวล เพราะสำนักสุขภาวะชุมชน สำนัก 3 จะเข้ามาช่วยจัดอบรม 5 วัน 4 คืน ถึงกระบวนในการจัดเก็บที่ชัดเจน มีการสอนเชิงเทคนิคเพื่อให้ได้ข้อมูลอย่างที่ต้องการ และเราขอย้ำด้วยว่าในการเก็บข้อมูลต้องมีทีมงานที่มั่นใจได้ ว่าการเก็บข้อมูลเป็นเครื่องมือที่สร้างการมีส่วนร่วมได้จริง เพราะกระบวนการในการจัดเก็บนี้ คนเก็บก็ได้เรียนรู้ คนถูกเก็บก็ได้เรียนรู้ด้วยเช่นกัน”

รักษาการผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะชุมชน (สำนัก 3) กล่าวด้วยว่า ปีนี้ สสส.ให้การสนับสนุนจัดตั้งศูนย์จัดการเครือข่ายสุขภาวะชุมชน (ศจค.) 15 แห่ง แต่ละแห่งจะมีองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นใหม่ๆ เข้าร่วม 15 แห่ง ฉะนั้นอปท.แม่ข่ายจะต้องคอยเป็นพี่เลี้ยงให้กับอปท.ที่เข้าร่วม โดยเฉพาะเรื่องของการจัดเก็บข้อมูล

#เครือข่ายร่วมสร้างชุมชนท้องถิ่นน่าอยู่

#สสส.

#ชุมชนเข้มแข็ง