สื่อสารเรื่องโควิด ด้วยภาษาชนเผ่า

สื่อสารเรื่องโควิด ด้วยภาษาชนเผ่า

การประชาสัมพันธ์ทั่วไปเพื่อให้ผู้คนรับรู้ข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับโรคระบาดอาจไม่ได้ซับซ้อนนักสำหรับพื้นที่อื่น แต่สำหรับตำบลแม่ข่า อำเภอฝาง จังหวัดเชียงใหม่ ทุกอย่างที่ว่ามาต้องปรับเปลี่ยนให้สอดคล้องกับชุมชน เมื่อในพื้นที่มีกลุ่มชาติพันธุ์หลายชนเผ่า ภาษาที่ใช้สื่อสารจึงต้องปรับใหม่ ไม่ใช่แค่เปลี่ยนภาษาหมอให้เป็นภาษาชาวบ้าน แต่เป็นการเปลี่ยนภาษาไทยให้กลายเป็นภาษาของเผ่าต่าง ๆ ด้วย

นายวีระยุทธ เทพนันท์ นักวิเคราะห์นโยบายและแผน เทศบาลตำบลแม่ข่า กล่าวว่า พื้นที่แห่งนี้อยู่ติดชายแดนไทย-เมียนมาร์ มีคนหลายกลุ่มที่มีอัตลักษณ์ มีภาษาเป็นของตัวเอง ไม่ว่าจะเป็นมูเซอ ไทใหญ่ รวมทั้งลาหู่ ฉะนั้นการสื่อสารผ่านเสียงตามสาย ตลอดจนการประชาสัมพันธ์ต่าง ๆ จึงปรับเปลี่ยนให้สอดคล้องกับพื้นที่

นอกจากปรับภาษาเพื่อสื่อสารแล้ว วิธีการทำงานยังปรับมาใช้เทคโนโลยีเข้าช่วย ผู้นำชุมชนทั้ง 13 หมู่บ้าน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทุกภาคส่วนใช้การประชุมผ่าน Video Call ร่วมกัน เพื่อนำไปสู่การแก้ปัญหาอย่างทันท่วงที

“หมู่บ้านไหนมีปัญหาก็จะมีการเปิดประชุม พูดคุยปรึกษาหารือทันกับสถานการณ์ รวมทั้งในกลุ่มจะมีข้อมูลอัพเดท สถานการณ์จากศูนย์เฉพาะกิจเชียงใหม่ รายงานให้ข้อมูลสมาชิกในกลุ่มไลน์โควิดอย่างต่อเนื่อง”

สำหรับตำบลแม่ข่ามีกลุ่มเสี่ยงที่เดินทางกลับมาจากเกาหลีใต้ มาเลเซีย ญี่ปุ่น สิงคโปร์ ไต้หวัน รวมทั้งกรุงเทพฯ แต่ยังไม่พบผู้ติดเชื้อในพื้นที่ อย่างไรก็ตามมีอีกหลายกลุ่มที่ต้องเฝ้าระวัง เพราะบางคนเดินทางมาแล้วไม่ไปแจ้งให้เจ้าหน้าที่ทราบ ด้วยกลัวปัญหาเรื่องไม่มีสัญชาติ และไม่มีบัตรประจำตัวประชาชน เพื่อป้องกันให้ทุกคนปลอดภัยถ้วนหน้า จึงต้องให้ รพ.สต. ประสานกับผู้นำชุมชนออกแบบการทำงานกับคนกลุ่มนี้เป็นพิเศษ

#อยู่บ้านหยุดเชื้อช่วยชาติ
#เครือข่ายร่วมสร้างชุมชนท้องถิ่นน่าอยู่
#ชุมชนเข้มแข็ง
#สสส