อบต.คอรุม เปิด รพ.สนาม รองรับกลุ่มผู้ป่วยสีเขียว

พื้นที่ตำบลคอรุม อ.พิชัย จ.อุตรดิตถ์ เป็นอีกหนึ่งพื้นที่มีการวางระบบรองรับการเดินทางกลับภูมิลำเนา โดยเฉพาะการเปิดจุดกักตัวที่เกิดจากข้อตกลงของแต่ละหมู่บ้านร่วมกัน เพื่อรองรับและป้องกันการแพร่ระบาด   โควิด-19  พร้อมกับอำนวยความสะดวกแก่คนในพื้นที่ที่เดินทางกลับมาให้ได้มากที่สุด

นายผจญ พูลด้วง นายกองค์การบริหารส่วนตำบลคอรุม อ.พิชัย จ.อุตรดิตถ์  กล่าวถึงสถานการณ์ในพื้นที่ว่า ขณะนี้มีผู้แจ้งความประสงค์จะเดินทางกลับมาในพื้นที่เรื่อยๆ โดยส่วนใหญ่เป็นพี่น้องที่ไปใช้แรงงานที่กรุงเทพฯ  โดยได้กำหนดมาตรการให้ผู้ที่จะกลับมาต้องแจ้งล่วงหน้ากับ อบต.หรือ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ในพื้นที่ตัวเองอย่างน้อย 3 วัน  เพื่อการเตรียมความพร้อมและอำนวยความสะดวกในการการดูแล

“ที่สำคัญคือ คนที่มาจากพื้นที่เสี่ยง 13 จังหวัดสีแดง จะต้องกักตัวทุกคน ส่วนคนที่อยู่นอกเหนือจากจังหวัดเหล่านั้น หากประสงค์จะกักตัวที่บ้าน เราจะมีการตรวจสอบดูว่าเขาประกอบอาชีพอะไร มีการตรวจเช็กไทม์ไลน์ของเขาอย่างชัดเจนว่าอยู่ในกลุ่มเสี่ยงสูงหรือไม่    หากอยู่ในกลุ่มเสี่ยงสูง ก็ต้องกักตัวตามมาตรการในการเข้ามาพื้นที่เช่นกัน จะไม่อนุญาตให้กักตัวที่บ้านเด็ดขาด”

นายผจญ กล่าวถึงการเลือกใช้สถานที่กักตัวของชุมชน หรือ Local Quarantine (LQ)  ว่า  ในช่วงแรกให้แต่ละหมู่บ้านดำเนินการเอง แต่เมื่อมีคนเดินทางมากักตัวมากขึ้นทำให้ยากต่อการจัดการ ปัจจุบันจึงเหลือ LQ อยู่ในตำบลคอรุม 5 แห่ง ซึ่งช่วยทุ่นกำลังในการบริหารจัดการ อีกทั้งผู้ที่ต้องกักตัวสามารถเลือกได้ว่าจะไปกักตัวจุดไหนที่สะดวกที่สุด ถือเป็นการอำนวยความสะดวก ให้ทั้งคนในพื้นที่และคนที่เข้ามากักตัว

ทั้งนี้สถานที่กักตัวผู้ที่เดินทางข้ามจังหวัด ในพื้นที่ 5 จุด ประกอบด้วย 1.วัดป่าแต้ว รับประชาชนหมู่ที่ 4 หมู่ที่ 9 จำนวน 10 คน, 2.วัดบางนา หมู่ที่ 12 รับประชาชน หมู่ที่ 7 หมู่ที่ 12 จำนวน 10 คน, 3.วัดคลองกล้วย รับประชาชนหมู่ที่ 8 ,10,11 จำนวน 10 คน , 4.อาคารเอนกประสงค์หมู่ 5 รับประชาชนหมู่ 5 จำนวน 10 คน และจุดที่ 5 . วัดขวางชัยภูมิ รับประชาชน หมู่ 1,2,3,6 จำนวน 10 คน

นายกองค์การบริหารส่วนตำบลคอรุม  ระบุถึงระบบการทำงานในศูนย์ LQ ว่า อบต.จะทำหน้าที่ดูแล เรื่อง ค่าจ้างเหมาทำความสะอาด/ฆ่าเชื้อ LQ กรณีมีผู้กักตัวติดเชื้อ ค่าวัสดุอุปกรณ์ทำความสะอาด LQ ชุดป้องกันต่างๆ เช่น ชุด PPE, รองเท้าบู๊ท, แว่นตา ฯลฯ และค่าอาหารสำหรับผู้กักตัว 3 มื้อ ค่าอาหาร อสม.ที่มาอยู่เวรกลางวันและค่าตอบแทนอปพร.อยู่เวรกลางคืน และมอบถุงยังชีพให้ผู้มากักตัวที่บ้าน HQ ส่วน รพ.สต.และ อสม.แต่ละหมู่บ้าน ก็จะเข้ามาดูแลเรื่องการตรวจวัดไข้ เฝ้าระวัง ขณะที่ ผู้ใหญ่บ้าน กำนัน อปพร.จะเป็นทีมดูแลเฝ้าเวรยาม  นอกจากนี้ อบต.จะมีรถรับส่ง คอยบริการสำหรับผู้กักตัว หากพบว่ามีอาการ ก็จะนำส่งไปยัง รพ.พิชัย ซึ่งที่ผ่านมาส่งผู้ติดเชื้อโควิด 19 ไปรักษาตัวต่อที่โรงพยาบาลประมาณ 10 กว่าราย ส่วนผู้ที่ไม่มีอาการก็จะได้รับการตรวจหาเชื้อ 2 ระยะด้วยกัน คือ ตรวจทุก 7 วัน หากไม่ติดเชื้อก็สามารถกลับบ้านได้

ขณะเดียวกันนายผจญ ได้เปิดเผยถึงการตั้งโรงพยาบาลสนามในพื้นที่ เพื่อรองรับกลุ่มผู้ป่วยสีเขียวว่า    ได้ระดมกำลังทุกภาคส่วนเข้ามาช่วยกันจัดการใน รพ.สนามวัดขวางชัยภูมิ อย่างเต็มที่  โดยเตรียมการร่วมกัน ทั้งเจ้าหน้าที่เจ้าหน้าที่​สาธารณสุข​ และ อสม.ทุกตำบล​ ในอำ​เภอ​พิชัย​ มาช่วยกันทำความสะอาดโรงพยาบาล​สนาม​ ​  รวมทั้ง​ ผอ.กองช่าง​ อบต.คอ​รุม​ นำหินคลุกมาปูที่หน้าวัดขวาง​ชัยภูมิ​ เพื่ออำนว​ย​ความสะดวก​แก่รถรับ ส่ง ผู้ป่วย

“ ล่าสุดได้มีการเตรียมการเปิดโรงพยาบาลสนามอำเภอพิชัย แห่งที่ 4  ตั้งอยู่ ณ วัดขวางชัยภูมิ สามารถรองรับ ได้ 100  เตียง โดยจะรับผู้ป่วยจาก รพ.ที่อาการดีแล้ว มาพักรักษาตัวต่อ ช่วยให้ รพ.จังหวัด มีเตียงคอยรองรับผู้ป่วยที่มีอาการวิกฤต   จุดประสงค์ของเราคือ เมื่อโรงพยาบาล​หลัก​ คนไข้ล้น​ ก็ต้องทำโรงพยาบาล​สนาม​ สำหรับรักษา​คนบ้านเรา​  ซึ่งเราหวังว่าคนพิชัย​ จะมีเตียงรักษาโดยไม่นอนรอเตียงจนตายข้างถนน”

สำหรับการดูแลระบบใน รพ.สนามวัดขวางชัยภูมินั้น  นายผจญ เปิดเผยว่า จะมีแพทย์คอยควบคุม ขณะที่ รพ.สต. อสม.จะทำงานในการดูแลผู้ป่วยภายใต้การดูแลของแพทย์   ส่วน อบต.จะรับผิดชอบในการดูแลสถานที่ ทีมอปพร. กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน มีหน้าที่ดูแลเฝ้าระวัง โดยมีเวรยามที่ชัดเจน

อย่างไรก็ตามนายกองค์การบริหารส่วนตำบลคอรุม ได้ประเมินว่า พื้นที่ยังสามารถรองรับกลุ่มประชาชนที่ประสงค์จะเดินทางกลับเข้ามาได้อย่างต่อเนื่องตามมาตรการที่วางไว้ ซึ่งหมุนเวียนกันไปในวงรอบ14 วัน  ขณะเดียวกัน หัวใจสำคัญในการทำงานต้องสื่อสารข้อมูลถึงกันและกัน  เพื่อกระจายข้อมูลข่าวสาร นโยบาย มาตรการต่างๆ ให้ภาคีเครือข่าย 4 องค์กรหลัก ได้รับรู้ข้อมูลเท่าทันกัน เพื่อนำมาสู่การร่วมกันทำงานดูแลพี่น้องประชาชนให้ไปในทิศทางเดียวกัน .

#เครือข่ายร่วมสร้างชุมชนท้องถิ่นน่าอยู่
#ชุมชนเข้มแข็ง
#สสส
#ชุมชนท้องถิ่น รู้รับ ปรับตัว