อบต.ดวนใหญ่ ศรีสะเกษ เปิดสูตรแยกปลาแยกน้ำ กันโควิดออกจากชุมชน

พื้นที่ตำบลดวนใหญ่ อ.วังหิน จ.ศรีสะเกษ ต้องรับมือโดยตรงกับสถานการณ์แพร่ระบาดโควิด-19 ที่เกิดขึ้นจากคนในพื้นที่ติดเชื้อ และส่งผลให้เกิดการแพร่กระจายเชื้อไปยัง 2 หมู่บ้านในตำบล ทำให้มีกลุ่มเสี่ยงทั้งเด็กเล็ก เด็กนักเรียน และผู้ใหญ่ จำนวนมาก จึงต้องจัดระบบการจัดการปัญหาเพื่อสกัดการแพร่ระบาดให้ทันท่วงที และมีประสิทธิภาพ ซึ่งมาจากการทำงานร่วมกันของเครือข่าย 4 องค์กรหลักในพื้นที่

นายสิทธิชัย วิลัยเลิศ นายกองค์การบริหารส่วนตำบลดวนใหญ่ อ.วังหิน จ.ศรีสะเกษ  ระบุว่า ที่ผ่านมาตำบลดวนใหญ่ต้องเผชิญกับการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในพื้นที่ จนกลายเป็นคลัสเตอร์ จากเคสคนในตำบลเดินทางไปทำงานในจังหวัดศรีสะเกษ  โดยไม่รู้ตัวว่าติดเชื้อโควิด จึงใช้ชีวิตปกติ ทำให้มี 2หมู่บ้านในตำบล ตกอยู่ในสถานการณ์เป็นกลุ่มเสี่ยงสูงเกือบครึ่งตำบล ซึ่งมีทั้งเด็กเล็ก เด็กนักเรียน ผู้ใหญ่ ผู้สูงอายุ แต่สุดท้ายก็สามารถควบคุมสถานการณ์ได้

ด้านการรับมือกับกลุ่มที่เดินทางมาจากพื้นที่เสี่ยงเข้มข้น 10 จังหวัด เข้ามาในตำบลนั้น นายสิทธิชัย เปิดเผยว่า คณะกรรมการควบคุมโรคในพื้นที่        มีมติให้ทั้ง18 หมู่บ้านในตำบล ใช้ศาลาประชาคมหมู่บ้านเป็นสถานที่กักตัวผู้ที่เดินทางเข้ามาทั้งหมด ไม่อนุญาตให้กักตัวที่บ้านของตัวเองเด็ดขาด    แต่หากบ้านไม่มีคนอื่นอาศัยอยู่ด้วยก็จะอนุญาตให้กักตัวที่บ้านได้  ทั้งนี้ในระหว่างกักตัวก็จะตรวจเชื้อโควิด หากมีผลว่าติดเชื้อ ก็เข้าสู่ระบบการรักษาที่โรงพยาบาล  ขณะที่ผู้ป่วยติดเชื้อที่ต้องการกลับมารักษาตัวที่ภูมิลำเนา ก็มีบริการรับกลับมารักษาตัว ซึ่งขณะนี้มี 1 ราย ที่รับกลับมาเป็นที่เรียบร้อยแล้ว

“สำหรับผู้ที่เดินทางเข้ามาจากพื้นที่เสี่ยงสีแดงเข้ม 10 จังหวัดนั้น ต้องตรวจโควิด100% และเพิ่มจากพื้นที่ 24 จังหวัดกลุ่มเสี่ยงด้วย ที่จะต้องกักตัวเข้าดูอาการในสถานที่กักตัว จำนวน 14วัน โดยมีระบบเครือข่ายเข้าไปทำงานของทั้ง 4 องค์กร หากไม่มีเงินหรือตกงาน มติคณะกรรมการควบคุมโรค    ก็จะใช้เงินกองทุนเพื่อช่วยเหลือ โดยจะมีอาหารให้ครบทั้ง 3 มื้อ”

นายกองค์การบริหารส่วนตำบลดวนใหญ่  ระบุด้วยว่า  ในพื้นที่ยังมีศูนย์พักคอยระหว่างรอเตียงที่ รพ. กรณีโรงพยาบาลในจังหวัดเตียงเต็ม โดยใช้ศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก ขณะนี้ดูแลผู้ติดเชื้ออยู่ 3 คน ซึ่งทีม รพ.สต. จะคอยดูแลผู้ป่วย โดยใช้ระบบไลน์ในการให้คำปรึกษา ติดตามอาการ  ส่วนเรื่องอาหารการกิน จะมีเจ้าหน้าที่ อบต. เป็นผู้ดูแล พร้อมทั้งมีเจ้าหน้าที่ อปพร.คอยรักษาความปลอดภัย และมีรถ1669 ไว้รอบริการในกรณีฉุกเฉิน ตลอด 24 ชั่วโมง ซึ่งขณะนี้เราขึ้นทะเบียนขอเตียงไว้เรียบร้อยหมดแล้ว รอแค่มีเตียงว่าง ขณะเดียวกัน เมื่อรักษาจนหายดี  เราก็จะรับกลับมากักตัวอีก 14วันตามระบบ ถึงจะอนุญาตให้กลับบ้านไปหาครอบครัวได้

นายสิทธิชัย กล่าวว่า ระบบการทำงานในพื้นที่ เมื่อมีคนเข้าไปในหมู่บ้าน อสม.จะเป็นผู้รายงานไปยัง  ผอ.รพ.สต.  และส่งต่อไปที่ อบต. และสาธารณสุขอำเภอ อำเภอก็จะมีคำสั่งตรงมา เป็นไปตามระบบ ทำให้กลุ่มเสี่ยงสูงที่เข้ามาในพื้นที่ สามารถเข้าถึงการดูแล และได้รับตรวจโควิด 19 ที่ รพ.วังหิน โดยจะทราบผลภายใน 2 วัน

“แน่นอนว่าบรรยากาศในพื้นที่ชาวบ้านบางส่วนก็มีความหวาดกลัว ต่อต้านบ้าง แต่เราต้องทำความเข้าใจ และเราต้องทำให้เขาเห็นว่า การแก้ปัญหา หรือการป้องกัน เราทำเป็นสัดส่วน ซึ่งเราเรียกว่านโยบายปลาแยกน้ำ  คนที่ติดเชื้อ คนที่เป็นกลุ่มเสี่ยงก็อยู่ในพื้นที่ ที่เราวางระบบมาตรการดูแลไว้อย่างเคร่งครัด ไม่ได้ออกมาปะปน และใช้ชีวิตร่วมกันจนเกิดการแพร่ระบาดควบคุมไม่ได้ ส่วนคนที่ไม่เป็นอะไรก็ได้ใช้ชีวิตปกติ ไปไหนมาไหนได้    แต่ต้องป้องกันตัวเองใส่หน้ากากอนามัย ล้างมือ เว้นระยะห่าง  เมื่อเราวางระบบแบบนี้ทุกคนก็สบายใจ ไม่ต้องมากังวลว่าใครติดหรือไม่ติด หรือ ถ้าติดก็ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที สกัดการแพร่ระบาดเหมือนที่เราทำมาก่อนหน้านี้ได้อย่างปลอดภัย ”

แต่ทั้งนี้แม้ชาวบ้านใช้ชีวิตกันตามปกติ แต่ต้องอยู่ภายใต้การปฏิบัติตัวตามมาตรการอย่างเข้มข้น เพื่อป้องกันการติดเชื้อและแพร่เชื้อ  เช่น ร้านค้า ในพื้นที่ 100% จะต้องปฎิบัติตามมาตรการสาธารณสุข ไม่ว่าจะเป็น การสวมหน้ากากอนามัย มีเจลล้างมือบริการ  ขณะเดียวกัน  อสม. อบต. จะต้องเป็นต้นแบบ  ที่ดี อีกทั้งต้องคอยประชาสัมพันธ์อัปเดทสถานการณ์ให้ชาวบ้านได้เข้าใจ ซึ่งเราทำมาอย่างต่อเนื่อง จนกว่าจะมีวัคซีน หรือมีการสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ในพื้นที่ของเรา ซึ่งถือว่าเราวางระบบงานตามหน้าที่ความรับผิดชอบของแต่ละฝ่าย ในการบริการช่วยเหลือประชาชน

อย่างไรก็ตาม ท่ามกลางสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อโควิด ชาวตำบลดวนใหญ่มีความโชคดีในด้านความมั่นคงทางอาหาร เนื่องจาก มีอาหารการกิน มีพืชผักปลอดสารพิษ เพราะได้มีการเตรียมการมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่เกิดการแพร่ระบาดเมื่อ 2 ปีที่แล้ว  เหลือกินก็สามารถนำมาเปิดตลาดขายออนไลน์กันได้ ซึ่งอบต.ดวนใหญ่ ทำหน้าที่สนับสนุน จนเกิดการหมุนเวียนเศรษฐกิจในพื้นที่ กลายเป็นรูปแบบการค้าขายทางเลือกเพื่อพัฒนา      ต่อยอดสร้างเศรษฐกิจในชุมชน รอดพ้นวิกฤติโควิด 19

 

#เครือข่ายร่วมสร้างชุมชนท้องถิ่นน่าอยู่
#ชุมชนเข้มแข็ง
#สสส
#ชุมชนท้องถิ่น รู้รับ ปรับตัว