อบต.ยางขี้นก เปิดต้นแบบโมเดลทำงานในพื้นที่รับมือวิกฤตโควิด หลังเจองานเข้าคลัสเตอร์ใหญ่นายช่าง

อบต.ยางขี้นก  เปิดต้นแบบโมเดลทำงานในพื้นที่รับมือวิกฤตโควิด  หลังเจองานเข้าคลัสเตอร์ใหญ่นายช่าง ส่งผลอบต.ต้องหยุดทำการ 14วัน กวาดเจ้าหน้าที่กักตัวเรียบ ลามหนักถึงขั้นผู้ว่าฯสั่งปิดตำบล  พร้อมเผชิญกลุ่มเสี่ยงสูงระนาว ชี้หัวใจสำคัญคือการทำงานแบบมีส่วนร่วม สร้างระบบในพื้นที่ให้ชาวบ้านวางใจ ยกสสส.’เป็นพระเอกในระดับท้องถิ่นหนุนเสริมสนับสนุนปูทางให้รับมือสถานการณ์ได้ทันท่วงที 

นายเทียน แผลงฤทธิ์ นายกองค์การบริหารส่วนตำบลยางขี้นก อำเภอเขื่องใน จังหวัดอุบลราชธานี กล่าวถึงกรณีนายช่างโยธาขององค์การบริหารส่วนตำบลยางขี้นกเสียชีวิตและตรวจพบเชื้อโควิด-19  ว่า ทราบผลตรวจว่าผู้เสียชีวิตติดเชื้อ ในช่วงเวลาประมาณ ตี 3 จึงมีมาตรการด่วนให้เจ้าหน้าที่ในอบต.ทุกคนกักตัว พร้อมทั้งสั่งปิดอบต.เป็นระยะเวลา 14 วัน และให้ห้องช่างทุกคนเข้าตรวจหาเชื้อโควิดโดยด่วน ผลปรากฏว่าตรวจ 8 คน ติดเชื้อไป 6 คน และอีก 2 คน ถือเป็นกลุ่มเสี่ยงสูง 

หลังจากที่เราดำเนินการจัดการในส่วนของเจ้าหน้าที่ ใน อบต. เรียบร้อย เราก็ดำเนินการในส่วนพื้นที่ข้างนอก นั่นคือลงไปที่ชุมชน โดยมีการดำเนินการดังนี้คือ   1. ตั้งด่านชุมชน เฝ้าระวังคนเข้าออก โดยทีม อสม.อปพร. ผู้ใหญ่บ้าน กำนัน  อาสมัคร จิตอาสา 2. ลงตรวจเชิงรุกในชุมชน เพื่อค้นหากลุ่มเสี่ยง ปรากฎว่า ครอบครัวของนายช่างที่เสียชีวิต ตรวจพบติดเชื้ออีก 6 คน รวมทั้งคนข้างบ้าน และตรวจต่อไปอีกในแต่ละชุมชนที่ทีมช่างที่ติดโควิดพักอาศัย ปรากฎว่าพบผู้ติดเชื้อเพิ่มอีก จนตอนนี้กลายเป็นคลัสเตอร์ใหญ่ในพื้นที่ อ.เขื่องใน ซึ่งมีทั้งคลัสเตอร์รพ.เขื่องใน และคลัสเตอร์ช่าง อบต. โดยรวมแล้วทั้งตำบลของเรามีความเสี่ยงสูงประมาณ 145 คน  จนขณะนี้ผู้ว่าฯ ได้มีคือมีคำสั่งให้ปิดตำบล ให้เป็นพื้นทีสีแดง เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดโควิดแล้ว

นอกจากนี้ นายกอบต.ยางขี้นก ยังกล่าวถึงการรับมือกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นว่า นับว่าโชคดีที่ท้องถิ่นของเราได้ทำงานร่วมกับ  สสส.ที่เข้ามาช่วยสร้างระบบการทำงานขับเคลื่อนร่วมกันของ 4 องค์กรหลักในพื้นที่  โดยเฉพาะหลักการการมีส่วนร่วมซึ่งเป็นหัวใจสำคัญในการทำงานทำให้เรารับมือกับสถานการณ์ได้ทันท่วงทีเช่นการดำเนินการผลักดันให้เรามีศูนย์พักคอยที่เปิดมาใช้งานได้อย่างทันท่วงที

ก่อนเกิดเหตุการณ์ดังกล่าว ทางอบต.ยางขี้นก ได้เตรียมศูนย์พักคอย โดยการสนับสนุนของ สสส. ซึ่งเป็นการทำงานภายใต้ ศูนย์ปฎิบัติการควบคุมและป้องกัน โรคติดต่อไวรัสโคโรน่า (covid -19 ) เพื่อเป็นสถานที่สำหรับพักคอยรอการส่งต่อผู้ป่วยโควิดเข้ารักษาในโรงพยาบาล หรือ Community Isolation ซึ่งเราได้เตรียมการไว้ครบแล้ว เพื่อรองรับผู้ป่วยโควิดในลักษณะต่างๆ  โดยจัดระบบไว้เพื่อทำให้เป็นโมเดล แต่ 2 วันถัดมา ก็เกิดเหตุจนเจ้าหน้าที่อบต.ยางขี้นก ทั้งหมดต้องได้ประเดิมใช้สถานที่ก่อนเปิดให้บริการกับผู้ติดเชื้อและกลุ่มเสี่ยงสูงในพื้นที่

สำหรับสถานที่ ที่นำมาทำ Community Isolation นั้น  นายเทียน เปิดเผยว่า 4 องค์กรหลัก ได้ประชุมหารือกันเพื่อขับเคลื่อนงานในพื้นที่ และมีมติให้ใช้พื้นที่ อบต.ดำเนินการ โดยดัดแปลงศูนย์โอท็อป ให้เป็นศูนย์พักคอยไว้รองรับประชาชน  โดยจะมีการแบ่งโซนพื้นที่ต่างๆ ดังนี้คือ  1.กลุ่มสีเขียว มี 30 เตียง 2.กลุ่มจากพื้นที่สีแดง13 จังหวัด แสดงความประสงค์กลับบ้าน และ 3.กลุ่มสีเหลือง เป็นกลุ่มเสี่ยงจากการสัมผัส ใกล้ชิดกับกลุ่มสีแดง

ขณะเดียวกันนายกอบต.ยางขี้นก ระบุถึง การเตรียมพื้นที่ รองรับผู้ป่วยที่หายดีแล้ว แต่ต้องกักตัวเพิ่มอีก 14 วัน ว่า ได้มีการเตรียมพื้นที่ไว้รองรับแล้วที่ ชุมชนบ้านโพนสิม และในวันที่ 31 ..ที่ผ่านมา ได้มีการบิ๊ก

คลีนนิ่ง ที่อบต.เพื่อฆ่าเชื้อทั้งอาคารด้วยเพื่อสร้างความมั่นใจให้กับประชาชนก่อนที่จะเปิดบริการอย่างเต็มรูปแบบอีกครั้งภายหลังเสร็จสิ้นการกักตัว

แม้ว่าเจ้าหน้าที่อบต.ต้องกักตัว แต่เราไม่หยุดทำงาน  โดยยังรันงานต่อเนื่อง ตามระบบที่เราวางไว้ มีการประชุมผ่านระบบออนไลน์  มีกรุ๊ปไลน์ ผู้ติดเชื้อ ไลน์กลุ่มเสี่ยง เพื่อติดตามข้อมูล อัปเดตสถานการณ์  กับรพ.สต. อย่างสม่ำเสมอ และในทีมมีเจ้าหน้าที่ ที่มีความเสี่ยงต่ำ อาทิ คุณครูจากศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก  ก็จะมาประจำการที่ศูนย์พักคอย ปักหลัก ดูแลบริการประชาชน ที่จะเข้ามาในพื้นที่ และกลุ่มประชาชนที่ติดเชื้อประสงค์จะกลับบ้าน ซึ่งจะทำงานร่วมกับ อสม.กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน สารวัตร ที่ได้รับการแต่งตั้งเป็นกรรมการควบคุมป้องกันโรค ระดับตำบล เราไม่ทิ้งประชาชนให้เคว้งคว้าง แต่ได้ทำงาน ทำหน้าที่ต่อเนื่องภายใต้ระบบที่เราได้วางไว้

พร้อมกันนี้ นายเทียน กล่าวถึงกระบวนการทำงานที่ทำให้สามารถรับมือกับการระบาดของเชื้อโควิด 19 ได้อย่างทันท่วงทีว่า ต้องขอขอบคุณ สสส. ที่บริหารจัดการได้อย่างเยี่ยมยอด ในสถานการณ์วิกฤตขณะนี้ ซึ่งหากใช้งบประมาณของภาครัฐจะล่าช้าไม่เท่าทันสถานการณ์ปัญหาเร่งด่วน แต่เราโชคดีที่ได้รับการสนับสนุนจาก สสส. ปัญหาจึงสามารถแก้ไขได้อย่างทันท่วงที และยังได้รับความร่วมมือ ร่วมใจกันของคนในชุมชน ช่วยเหลือกัน มีการบริจาคเงิน สิ่งของ ช่วยกันมากมายเพื่อให้เราได้ดูแลใช้ในศูนย์พักคอยของเรา ถือว่า สสส.ได้เข้ามาช่วยทั้งการกระตุ้น และกระเตื้อง ให้คนในชุมชนรักสามัคคีกันในวิกฤตโรคโควิดขณะนี้ด้วย ในนามของชาวเขื่องในพวกเราพวกเราขอขอบคุณที่มี สสส.เข้ามาสนับสนุนและหนุนเสริมท้องถิ่นให้เข้มแข็งซึ่งมันได้รับการพิสูจน์ชัดแล้วจากวิกฤตไวรัสโควิดครั้งนี้

ผมคิดว่ากระบวนการสำคัญของสสส. ที่เราได้เรียนรู้ร่วมก้นและนำมาใช้ในการทำงานรับมือกับวิกฤตโควิดคือ  การสร้างความเข้าใจ การทำงานเป็นระบบ มีขั้นตอน และทำความเข้าร่วมกันระหว่างจังหวัดแม่ข่าย ส่งตรงต่อลเครือข่าย ทั้ง 18 อปท.ให้เป็นต้นแบบ ไกด์ไลน์ในพื้นที่อื่นๆ ซึ่งจากสถานการณ์เฉพาะหน้าที่เจอในครั้งนี้ มันเห็นชัดเจนว่า เราสามารถรับมือได้อย่างทันท่วงที มีระบบการเตรียมการ บริหารจัดการ และจุดพักคอย ช่วยสร้างพลังใจให้กับผู้นำ ให้สามารถทำงานต่อไปได้ภายใต้ภาวะวิกฤต โดยไม่มีการชะงักหรือติดขัด ชุมชนเอง ก็ไม่สะเปะสะปะ เขาก็มั่นใจ แม้จะต้อง ปิด อบต. แต่ก็สามารถพลิกวิกฤตตรงนี้ให้เขาเห็นเป็นรูปธรรม ในการทำงาน ด้วยการระบบงานที่เตรียมการไว้รองรับ เราพิสูจน์ตรงนี้ให้ชาวบ้านได้เห็นจากเหตุการณ์ครั้งนี้ของเรา

สอดคล้องกับนายสันติพงษ์  สมศรี นายอำเภอเขื่องใน  ที่เห็นถึงปัจจัยที่ส่งผลให้ทุกตำบลในอำเภอเขื่องในสามารถขับเคลื่อนงานรับมือวิกฤตการระบาดของเชื้อโควิด 19 ได้ทันท่วงทีนั้น เป็นผลมาจากการการที่ทุกตำบลในพื้นที่เป็นเครือข่ายร่วมสร้างชุมชนท้องถิ่นน่าอยู่ ซึ่งสนับสนุนโดย สสส. ทำให้แต่ละพื้นที่ไม่ติดขัดเรื่องงบประมาณในการจัดการ ขณะเดียวกันก็มีหลักการทำงานแบบมีส่วนร่วมทำให้การทำงานเกิดประสิทธิภาพได้สูงสุด

พอเกิดสถานการณ์การระบาดโควิด 19 ในพื้นที่เป็นวงกว้าง สถานะทางการเงินการคลังของทุกตำบลก็ได้รับการบรรจุเข้าไปในแผนงานที่จะใช้จ่ายงบประมาณไปหมดแล้ว ซึ่งจะมีงบประมาณไม่เพียงพอในเรื่องดังกล่าว รวมทั้งการที่เราจะไปใช้งบเยอะๆหรือใช้เงินทดลองราชการตามระเบียบกระทรวงการคลังเงินตัวนี้ก็จะมาช้าแต่สถานการณ์ตอนนี้มันเกิดขึ้นแล้ว จึงต้องกราบขอบพระคุณทาง สสส.จริงๆ มาร่วมกับท้องถิ่นทั้งหมดในอำเภอเขื่องในพัฒนาการทำข้อมูลและนวัตกรรมอันเป็นรูปแบบใหม่ๆในการทำงานซึ่งได้มีการ MOU กับทางเครือข่ายองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทั้ง 19 อปท. เราก็จะได้จัดสรรเงินจากสสส. จำนวนกว่า 5,700,000 บาท กระจายลงไปในทุกตำบล เพื่อไปรับมือกับสถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา2019 และสามารถแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนที่เกิดขึ้นได้ทันท่วงที ทั้งในการที่จะบรรเทาและป้องกันการแพร่ระบาดของ covid 19 ในพื้นที่ ซึ่งตอนนี้ต้องยอมรับว่า ยังอยู่ในภาวะที่อาจจะมองว่าวิกฤต แต่เราก็สามารถรับมือได้ เพราะเรามีศูนย์ community isolation ตั้งอยู่ในทุกตำบลจากการสนับสนุนของ สสส. ทำให้เราสามารถควบคุมสถานการณ์และแก้ปัญหาให้พี่น้องประชาชนได้อย่างเต็มที่

นอกจากนี้นายอำเภอเขื่องใน ได้ย้ำถึง การทำงานขับเคลื่อนงานพัฒนาคุณภาพชีวิตของอำเภอเขื่องใน โดยการสนับสนุนให้ทุกตำบลทำงานเป็นเครือข่าย ร่วมกับสสส. ว่า แม้หลายพื้นที่จะกังวลกับขั้นตอนการปฏิบัติตามแนวทางของสสส.บ้าง แต่ไม่เกินศักยภาพของท้องถิ่นที่สามารถปฏิบัติตามได้อย่างแน่นอน

ก็อยากจะเรียนทุกภาคส่วน ว่าจริงๆด้วยแนวทางของ สสส.มีเจตนาที่จะขับเคลื่อนงานโดยเฉพาะงานในพื้นที่ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ของชุมชน ในระดับฐานรากอยู่แล้ว ตรงนี้เป็นช่องทางในการที่สสส.จะนำทั้งหลักการวิชาการ ทั้งงบประมาณที่จะลงมาสู่พื้นที่ของพวกเรา เพียงแค่ว่าหลายพื้นที่ หลายอปท.มองถึงขั้นตอนความยุ่งยากในการปฏิบัติตามแนวทางของ สสส.ก็เลยไม่อยากมาร่วมกับ สสส.ทั้งที่จริงประโยชน์ที่ได้รับนั้นมากมาย แล้วก็แก้ปัญหาได้อย่างทันท่วงที ยกตัวอย่างเช่น กรณีที่เขื่องในเราทำ MOU เรื่องของโควิด 19 เราก็ได้รับการจัดสรรงบประมาณมาเกือบหกล้านบาท  ฝากว่า ตรงนี้คือ ช่องทางในการที่เราจะมีงบประมาณมีหลักวิชาการในการขับเคลื่อนงานในการพัฒนาคุณภาพชีวิตของพี่น้องประชาชนรวมทั้งแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนในพื้นที่ได้อย่างแท้จริง ต้องเรียนเชิญทุกท่านนะครับ อย่ากลัวว่าขั้นตอนวิธีการดำเนินการจะยุ่งยากอะไรทุกอย่างสามารถดำเนินการได้ศักยภาพทุกท่านมีเพียงพออยู่แล้วนายอำเภอเขื่องในกล่าวทิ้งท้าย

#เครือข่ายร่วมสร้างชุมชนท้องถิ่นน่าอยู่
#ชุมชนเข้มแข็ง
#สสส
#ชุมชนท้องถิ่น รู้รับ ปรับตัว