ฮาวทูชุมชนท้องถิ่น…รอดจากโควิด

ฮาวทูชุมชนท้องถิ่น…รอดจากโควิด

สสส.ร่วมสร้างชุมชนท้องถิ่นน่าอยู่ จัดเสวนาออนไลน์ แลกเปลี่ยนความคิดเห็น “ชุมชนท้องถิ่นเข้มแข็ง ภูมิคุ้มกันชุมชน สร้างอาชีพ สร้างคน เพื่อยกระดับชุมชนพร้อมกับการปรับเปลี่ยน วิถีชีวิตไปสู่รูปแบบนิวนอร์มอล

การจัดการของกลไกชุมชนท้องถิ่นที่ชี้ชัดให้เห็นว่ามีศักยภาพในระดับพื้นที่ที่สามารถปกป้องคนในชุมชนได้พร้อมกับการปรับเปลี่ยน วิถีชีวิตไปสู่รูปแบบนิวนอร์มอล ล่าสุดเครือข่ายร่วมสร้างชุมชนท้องถิ่นน่าอยู่ ได้จัดเสวนาออนไลน์ แลกเปลี่ยนความคิดเห็น “ชุมชนท้องถิ่นเข้มแข็ง ภูมิคุ้มกันชุมชน สร้างอาชีพ สร้างคน”

นายพงษ์พร มานัส นายก อบต.บัวตูม ต.โซ่พิสัย จ.บึงกาฬ กล่าวว่า ผลกระทบจากโควิด-19 ทำให้คนในชุมชนทยอยกลับบ้าน เฉลี่ยแล้วคนที่กลับเข้ามาในพื้นที่ประมาณ 20 เปอร์เซนต์ นับเป็นพันกว่า คนที่ตกงานมาแต่บัวตูมมีพื้นที่เกษตรรองรับมีการทำยางพารา มีกองทุนอาชีพที่ชาวบ้านรวมกลุ่ม เช่น กลุ่มไม้กวาดบ้านโนนอุดม ซึ่งกลุ่มนี้เฉลี่ยแล้วมีเงินหมุนเวียนเป็นสิบล้านบาทต่อปี กลุ่มอาชีพจะได้รับเงินสนับสนุนจาก อบต.ปีละ1หมื่นบาทต่อกลุ่มอาชีพ เช่น กลุ่มทอผ้า กลุ่มทำปุ๋ย กลุ่มสวนยาง โดยเป็นการสนับสนุนแบบไม่เอาเงินคืน โดยกลุ่มอาชีพจะต้องไปจดทะเบียนที่อำเภอ โดยพัฒนาการอำเภอเป็นผู้ดำเนินการ ทั้งนี้หากกลุ่มอาชีพกลุ่มไหนไม่ได้ไปขึ้นทะเบียนกับพัฒนาการเราก็ไม่สามารถสนับสนุนได้

ขณะที่นายสมนึก เดชโพธิ์ ปลัดเทศบาลตำบลแม่ข่า อ.ฝาง จ.เชียงใหม่ เกษตรได้รับผลกระทบ เช่น ลำไย มีมะม่วง ส้ม ลิ้นจี่ เพราะตลาดปิดช่วงโควิดและช่วงเดือนเม.ย.-พ.ค. เป็นฤดูลิ้นจี่ออกมาตลาดส่งผลกระทบต่อสินค้าจำหน่ายและกระจายสินค้าได้น้อยลง “วิธีการแก้ไขคือ กระจายสินค้าในระดับจังหวัดมีรถ ขนส่ง ขนาดเล็กขนไปขายในเมืองเชียงใหม่ หรือจังหวัดข้างเคียง ทำให้สามารถแก้ปัญหาในระยะแรกได้ ซึ่งสถานการณ์ขณะนี้สินค้าเกษตรมีตลาดกว้างขึ้น ผลกระทบจากโควต้า เปลี่ยนเป็นหาตลาดใหม่ ” ปลัดเทศบาลตำบลแม่ข่า ระบุ

ปลัดเทศบาลตำบลแม่ข่า กล่าวว่า ในพื้นที่แม่ข่ามีวิถีชีวิตแบบพอเพียง ที่สามารถปรับตัวได้เร็ว โดยพึ่งพาตนเองเป็นหลักมีการปลูกผัก ทำพืชสวนครัวเกือบทุกบ้าน ถึงแม้จะมีปัญหาในเรื่องสินค้า

แต่ก็สามารถอยู่ได้ด้วยตนเองในระดับหนึ่ง ขณะเดียวกันในช่วงดังกล่าว เราได้มีตลาดออนไลน์ด้วย โดยนักศึกษาที่จบใหม่มาช่วยกระจายสินค้าเช่น ส้ม ลิ้นจี่ การขายออนไลน์คึกคักมาก ช่วยจำหน่ายได้เยอะ”

ด้านนายชินวุฒิ อาศน์วิเชียร นักบริหารสวัสดิการสังคมอำนวยการท้องถิ่น อบต.ท่างาม อ.อินทร์บุรี จ.สิงห์บุรี กล่าวว่า สำหรับพื้นที่ท่างามนั้น ต้องเผชิญกับสถานการณ์วิกฤตภัยแล้งด้วย ไม่ใช่เฉพาะแค่โควิด-19 อย่างเดียว โดยภัยแล้งส่งผลกระทบในส่วนท้องถิ่นนั้น กล้วยน้ำว้าก็ไม่สามารถออกลูกได้ กลุ่มอาชีพก็ปรับเปลี่ยนแปรรูป จากวัสดุอื่นในท้องถิ่น เป็นมะม่วงแผ่น เป็นผักอื่น ๆ แทนเช่น กระเจียวตากแห้งเป็นการใช้ทุนทางสังคมที่มีอยู่ในพื้นที่มาปรับเปลี่ยน ทั้งนี้ได้มีพัฒนาชุมชนเข้ามาช่วยในเรื่องการจัดไลฟ์สดขายสินค้า ขยายเครือข่าย เสนอให้ สสส.มีแพลตฟอร์มชุมชนท้องถิ่น ช่องทางเสริมความรู้เพิ่มทักษะการเปิดตลาดให้ชุมชน

ด้านดวงพร เฮงบุณยพันธ์ ผู้ช่วยผู้จัดการกองทุนสสส.และรักษาการผู้อำนวยการสำนัก 3 กล่าวว่า ในเรื่องของการปรับตัวเรื่องของอาชีพในท้องถิ่นเพื่อรับมือภายใต้ผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 นั้น โดยเฉพาะเรื่องการขายสินค้านั้นเปลี่ยนไปมากแล้วและเปลี่ยนมานานต่างประเทศเขาทำกันมานานแล้ว ในประเด็นชุมชนท้องถิ่นของเรา ต้องหาวิธีสร้างเศรษฐกิจชุมชนด้วยดิจิตอลให้ได้ ซึ่งระยะยาว การขายของออนไลน์ ช่วยทำให้ไม่ถึงทางตันได้ง่าย สถานการณ์วิกฤติสร้างอาชีพใหม่ ทำให้ชุมชนปรับตัวใช้เทคโนโลยีเพื่อทำให้ชีวิตความเป็นอยู่ดีขึ้น
.
ที่มา : เดลินิวส์
#เครือข่ายร่วมสร้างชุมชนท้องถิ่นน่าอยู่
#ชุมชนเข้มแข็ง
#สสส