เครือข่ายตาสับปะรด ตำบลปริก บทพิสูจน์พลังชุมชนรับมือโควิด

ตำบลปริก อ.สะเดา จ.สงขลา เป็นหนึ่งใน 13 จังหวัดพื้นทีสีแดงเข้ม ตามมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19  เนื่องจากในพื้นที่มีกลุ่มผู้ติดเชื้อและกลุ่มเสี่ยงสูงจำนวนมาก  อย่างไรก็ตาม พื้นที่ได้สร้างกระบวนการรับมือการแพร่ระบาดของโรค โดยการร่วมมือกันทำงานของคนในชุมชนและเครือข่าย เพื่อป้องกันความสูญเสีย ปกป้องตัวเอง ครอบครัว ให้รอดพ้นจากสถานการณ์การแพร่ระบาดให้ได้

นายสุริยา ยีขุน นายกเทศมนตรีตำบลปริก อ.สะเดา จ.สงขลา กล่าวถึงสถานการณ์ในพื้นที่ว่า หัวใจสำคัญในการทำงานรับมือภัยโควิดในพื้นที่ คือ ตระหนัก แต่ไม่ตระหนก โดยต้องเฝ้าระวัง ป้องกัน ทั้งตัวเองและชุมชน  ซึ่งที่ผ่านมาพื้นที่ตำบลปริกต้องเผชิญการแพร่ระบาดจากคลัสเตอร์โรงเรียนสอนศาสนาในศูนย์มัรกัสยะลา ที่มีเด็กไปเรียนและเดินทางกลับมาในพื้นที่ ส่งผลให้เกิดความกังวลในชุมชนเป็นอย่างยิ่ง แต่จากการทำงานร่วมกันของ 4 องค์กรหลัก โดยมีทีมสาธารณสุขเป็นหัวเรือใหญ่ คอยเฝ้าติดตาม ตรวจสอบ ทำให้สามารถควบคุมสถานการณ์ได้

“ ในการทำงานนั้น เมื่อพบกลุ่มเสี่ยงในชุมชน ก็จะประสาน 4 องค์กรหลัก ทั้ง รพ.สต. อบต. เทศบาล กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน อสม.คณะกรรมการชุมชน พร้อมด้วยภาคีเครือข่ายประชาชน  จิตอาสา หรือกลุ่มตาสับปะรด ซึ่งกลุ่มนี้เป็นคนในชุมชน ที่ช่วยกันสอดส่องดูแล และเมื่อพบกลุ่มเสี่ยงในพื้นที่จะรายงานตรงมายัง อสม. และเทศบาล ทำให้เราสามารถทำงานได้อย่างรวดเร็ว  ซึ่งถือเป็นการช่วยกันทำงาน เป็นการเฝ้าระวังป้องกันโควิด 19 ในพื้นที่ชุมชนตนเองได้อย่างดี ”

ส่วนการคัดกรองกลุ่มเสี่ยงในพื้นที่ นายกเทศมนตรีตำบลปริก กล่าวว่า ที่ผ่านมาเมื่อได้รับการรายงานพบกลุ่มเสี่ยงสูงในพื้นที่ จะส่งต่อไปยัง รพ.สต.เพื่อตรวจคัดกรอง หากติดเชื้อจะประสานไปยังโรงพยาบาลให้มารับไปรักษาตัวที่โรงพยาบาล ส่วนกลุ่มเสี่ยงสูง คนใกล้ชิด หรือ ผู้สัมผัสกับผู้ป่วย ให้ไปกักตัวที่ Local Quarantine (LQ) ที่ทางพื้นที่จัดเตรียมไว้ให้ 2 แห่ง คือ เทศบาล และศูนย์บริการนักท่องเที่ยว สามารถรองรับได้ประมาณ 30 เตียง ซึ่งขณะนี้ดูแลกลุ่มเสี่ยงอยู่ 11 ราย  อย่างไรก็ตาม หากพบมีอาการเสี่ยงสูง จะส่งไปกักตัวที่อำเภอ หรือ State Quarantine

“เรามีคณะกรรมการ 2 ชุด ประสานการทำงานกันอย่างใกล้ชิด เมื่อผู้กักตัวมีอาการไม่น่าไว้วางใจ 24 ชั่วโมง สามารถหารือกับ รพ.สต. สาธารณสุขอำเภอ และ โรงพยาบาล เพื่อส่งต่อผู้ป่วย โดยเราจะมีรถตรวจการเทศบาลเตรียมการรอส่งผู้ป่วย รวมทั้งพาไป SWAP ที่โรงพยาบาล โดยเจ้าหน้าที่ ปภ.และเจ้าหน้าที่กองสาธารณสุข จะเป็นผู้ส่งไปยัง State Quarantine หรือโรงพยาบาล ซึ่งเจ้าหน้าที่ทุกคนจะสวมชุด PPE และปฏิบัติตามมาตรการทางสาธารณสุขอย่างเคร่งครัด”

นอกจากนี้ในช่วงกลางคืน ยังมีการตั้งด่านชุมชน เพื่อป้องกันคนนอกพื้นที่เล็ดลอดเข้ามา ซึ่งจะมีชุด ผู้ใหญ่บ้าน อปพร.จิตอาสา ประชาชนทั่วไป ตั้งด่านชุมชนของแต่ละชุมชน  โดยการจัดการและดูแลกันเอง  ทั้งนี้จากการร่วมมือทำงานไปด้วยกัน ทั้งของชาวบ้าน เครือข่ายภาคประชาชน บวกด้วย 4 องค์กรหลัก โดยเทศบาลทำหน้าที่สนับสนุนงบประมาณ ประสานงาน ให้ประชาชนได้อุ่นใจ หากมีปัญหาทุกคนสามารถรายงานกับเจ้าหน้าที่เทศบาลได้ทุกคน ซึ่งถือเป็นแนวทางที่พยายามวางไว้  ทำให้ได้รับความร่วมมือจากประชาชนกว่า 6,800 คน จากทั้ง 7 หมู่บ้านเป็นอย่างดี

“บางบ้านที่เขาเป็นกลุ่มเสี่ยง เขาประกาศกักตัวเอง โดยมีการเขียนป้ายติดไว้หน้าบ้านว่า อยู่ในระหว่างกักตัวเอง 14 วัน อสม. ผู้ใหญ่บ้าน  รพ.สต.ก็จะเข้าไปทำงานดูแล เทศบาลก็จะมารับไป SWAP เราจะทำงานกันเป็นทีมในการเฝ้าระวัง และอยู่ภายใต้ความไว้วางใจ และประชาชนก็ให้ความร่วมมือ โดยเฉพาะเรื่องการเปิดข้อมูล ก็จะมีการบอกเล่ากันอย่างทั่วถึงเพื่อประโยชน์ในการทำงาน ” นายสุริยา กล่าวเพิ่มเติม

ขณะที่การสร้างความรู้ ความเข้าใจให้กับคนในชุมชนเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด 19  นั้น      นายสุริยา  เปิดเผยว่า  ในพื้นที่ยังทำงานติดอาวุธความรู้ ปลุกให้ชาวบ้านตื่นตัว การ์ดไม่ตกต่อเนื่อง ผ่านการประชาสัมพันธ์ทุกช่องทาง ทั้งรถประชาสัมพันธ์ของเทศบาลลงไปในพื้นที่ ผ่านทางสถานีวิทยุของเทศบาล ทุกวันจันทร์ พุธ ศุกร์ หรือแม้แต่การอัปเดต ข้อมูล ข่าวสาร ผ่านเว็บไซต์ เพจเฟซบุ๊กในพื้นที่ มาอย่างต่อเนื่อง ทำให้ชาวบ้านเรียนรู้ รู้จักป้องกันตนเอง  การสวมหน้ากากอนามัย ล้างมือ ใช้เจลแอกอฮอล์ ทุกคนทำกันโดยอัตโนมัติ จนกลายเป็นเรื่องพื้นฐานในชีวิตประจำวันไปแล้ว

นายกฯ สุริยา ระบุทิ้งท้ายว่า สถานการณ์การแพร่ระบาดโควิดขณะนี้เปรียบเหมือนตัว K กิ่งบน คือ คนรวย มีอำนาจ มีเงิน สามารถเข้าถึงทรัพยากรได้ ซึ่งเป็นกลุ่มที่ไม่น่ากังวล  แต่คนกิ่งล่างคือคนจน คนด้อยโอกาส คนในชุมชนของเรา เป็นกลุ่มคนที่ต้องประคับประคอง ต้องให้เขามีความรู้พื้นฐานเพื่อดูแลป้องกันตนเอง และดูแลกันด้วยการนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้ เพื่อให้เกิดความมั่นคงทางอาหารในชุมชน ให้มีกินมีใช้ในชุมชน ช่วยเหลือแบ่งปันกัน เพื่อให้อยู่รอดในสถานการณ์วิกฤตจากการระบาดของเชื้อโควิด-19 ในขณะนี้ไปด้วยกัน

#เครือข่ายร่วมสร้างชุมชนท้องถิ่นน่าอยู่
#ชุมชนเข้มแข็ง
#สสส
#ชุมชนท้องถิ่น รู้รับ ปรับตัว