เครือข่ายร่วมสร้างชุมชนท้องถิ่นน่าอยู่ ร่วมแลกเปลี่ยนมาตรการรับมือ วิกฤติการระบาดโควิด-19 มีมาตรการเข้มคัดกรองกลุ่มเสี่ยงเข้าพื้นที่ และแยกกักตัวตามความเสี่ยง พร้อมปรับสถานที่ในชุมชน ให้เป็น Community Isolation อีกทั้ง ช่วยรับผู้ป่วยติดเชื้อกลับมารักษาที่ภูมิลำเนา มั่นใจรับมือสถานการณ์ได้
สำนักสนับสนุนสุขภาวะชุมชน(สำนัก3) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.) จัดเสวนาการประชุมเชิงปฏิบัติการปรับแผนปฏิบัติการและงบประมาณโครงการ เพื่อรับมือการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา (COVID-19) โดยมีตัวแทนภาคีเครือข่ายร่วมสร้างชุมชนท้องถิ่นน่าอยู่ พื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เข้าร่วมเสวนา 7 พื้นที่ เมื่อวันที่ 13 กรกฎาคม 2564 ที่ผ่านมา ดำเนินรายการโดย รศ.ดร.ขนิษฐา นันทบุตร ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและพัฒนาระบบสุขภาพชุมชน(ศวช.) คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น และ นางสาวดวงพร เฮงบุณยพันธ์ ที่ปรึกษาคณะกรรมการบริหารแผน คณะที่ 3 สสส.
ก่อนเริ่มการเสวนา ดร.ประกาศิต กายะสิทธิ์ รักษาการผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะชุมชน(สำนัก3) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ กล่าวว่า จากสถานการณ์การระบาดของเชื้อโควิด-19 ในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล อยู่ในขั้นวิกฤติ ส่งผลให้ประชากรเดินทางกลับภูมิลำเนาเป็นจำนวนมาก ซึ่งเป็นโจทย์ว่าแต่ละพื้นที่จะรับมืออย่างไรในสถานการณ์ ดังกล่าว
“จากการที่ผมทำงานร่วมกับหลายวงที่เชื่อมเครือข่ายภายนอก เครือข่ายของเราได้รับการยอมรับเป็นอย่างมากในการปรับตัวเร็วและสามารถปรับแผนปฏิบัติงานได้เป็นอย่างดี เพราะฉะนั้นในวันนี้จึงเป็นภารกิจที่ทางเครือข่ายร่วมกันแสดงความเห็น ช่วยกันบอกแนวคิดที่สามารถปฏิบัติได้จริง ดังนั้นวัตถุประสงค์หลักในวันนี้หลักๆ คือ เรื่องของตัวการปรับแผนเพื่อให้ความรู้ ให้ได้แนวทางการปฏิบัติการที่สามารถใช้ได้จริง”
จากนั้น ผู้ดำเนินรายการได้ชวนผู้ร่วมเสวนาแลกเปลี่ยน การเตรียมความพร้อมและการรับมือกับวิกฤติการระบาดของเชื้อโควิด-19 ในระลอกนี้ ที่มีผู้ติดเชื้อเป็นจำนวนมากใน 5 ประเด็นคือ 1.ติดตามข้อมูลคนเข้าออก/ผู้ติดเชื้อ/กลุ่มเสี่ยง 2.การสื่อสารกระบวนการ (การรายงานตัว+การรับวัคซีน) 3.Community Isolation (Local Qurantine/Home Qurantine/ Home Isolation) 4. การสนับสนุน รับ-ส่งตัว และ 5.การฟื้นฟูด้านต่างๆ
นายบัญชา ศรีชาหลวง นายกองค์การบริหารส่วนตำบลพิมาน อำเภอนาแก จังหวัดนครพนม ได้ร่วมแลกเปลี่ยนถึงการเตรียมความพร้อมสถานที่รับคนที่เดินทางมาจากพื้นที่เสี่ยงเพื่อกักตัว หรือ Local Quarantine(LQ) : สถานกักกันโรคท้องที่ โดยปรับโฮมสเตย์บ้านพอเพียงจำนวน 13 หลัง ของชุมชนเป็นสถานที่กักตัว
“ตอนนี้ยังมีผู้เดินทางกลับมาอย่างต่อเนื่อง เรายินดีต้อนรับชาวนครพนมกลับบ้านทุกคน แต่ทุกคนที่เข้าพื้นที่ต้องตรวจหาเชื้อโควิดด้วย Rapid test หากผลเป็นบวกจะส่งต่อโรงพยาบาลทันที แต่สำหรับผู้ที่ผลเป็นลบ จะต้องกักตัวเป็นเวลา14วัน ในบ้านพอเพียง ซึ่งจะหมุนเวียนกันไปเรื่อยๆ และระหว่างที่กักตัวจะมี อสม.และคุณหมอมาตรวจเก็บตัวอย่าง ทุก 5 วัน เชื่อว่าสถานการณ์ตอนนี้เอาอยู่ เพราะว่าความตื่นตัวของคนในชุมชนที่ร่วมด้วยช่วยกัน ผมบอกทุกคนว่าไม่ใช่ภาระของทางราชการเพียงอย่างเดียว เพราะฉะนั้นปัญหาก็คือเราต้องควบคุมคนที่มาจากต่างพื้นที่ ให้อยู่ตามมาตรการ ซึ่งทุกคนต้องเป็นหูเป็นตาช่วยกัน เพื่อไม่ให้เกิดคลัสเตอร์ใหม่ในพื้นที่ ”
นายกองค์การบริหารส่วนตำบลพิมาน กล่าวเพิ่มเติมว่า การจัดทำ local Quarantine หรือ Home Quarantine เกิดจากเดิมที่ตำบลพิมานเป็นตำบลที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจพอเพียง ร่วมกันทำโดยไม่ใช้เงินเป็นที่ตั้ง จึงส่งผลให้เกิดความรับผิดชอบต่อตนเอง ของคนในชุมชน และมันเห็นผลชัดเจนเมื่อโครงการบ้านพอเพียงได้ตอบโจทย์ สร้างประโยชน์ในสถานการณ์นี้ได้เป็นอย่างดี
ด้าน นางอิสสริยา จิตสุภาพ ปลัดองค์การบริหารส่วนตำบลทุ่งกระเต็น อำเภอหนองกี่ จังหวัดบุรีรัมย์ ได้เล่าถึงการเตรียมสถานที่รองรับผู้ที่เดินทางมาจากพื้นที่เสี่ยง ว่า อบต. ได้เตรียมศาลาการเปรียญวัดในพื้นที่ 7แห่งไว้รองรับ โดยแบ่งสัดส่วนมีฉากกั้น จัดเตรียมอุปกรณ์พื้นฐานของใช้ที่จำเป็นไว้ให้สำหรับผู้ที่มากักตัว
“ปีนี้เราก็เริ่มที่จะเรียนรู้ประสบการณ์จากปีที่แล้ว เราก็ได้มีการจัดเตรียมอุปกรณ์ต่างๆ เราไปทำความสะอาดแล้วก็จัดเป็นฉากกั้นเพื่อให้ผู้มากักตัวมีความสบาย ไม่อึดอัด แล้วก็จัดเตรียมที่นอน หมอน มุ้งให้ เราต้อนรับด้วยความอบอุ่น ญาติพี่น้องสามารถมาส่งข้าว ส่งน้ำได้ แต่ทางอบต. เราก็จะมีข้าวให้ทั้ง 3 มื้อ เวลาช่วงกลางวันได้จัด อสม. เจ้าหน้าที่ของ อบต. หน่วยงานกู้ชีพที่จะไปดูแลไม่ว่าจะเป็นการวัดอุณหภูมิ ทั้งช่วงเช้า ช่วงเย็น และจะรายงานทาง รพ.สต. ทราบ”
อย่างไรก็ตาม ทุกคนที่มาจากต่างจังหวัดจะต้องรายงานตัว ต่อศูนย์กักตัวต่างๆในตำบล โดยต้องแจ้งล่วงหน้าอย่างน้อย 3 วัน เพื่อให้พื้นที่เตรียมอุปกรณ์ต่างๆ ทั้งนี้จังหวัดบุรีรัมย์มีนโยบาย ไม่อนุญาตผู้ที่เดินทางมาจากพื้นที่สีแดงกักตัวที่บ้าน ต้องกักตัวในสถานที่ ที่จัดเตรียมไว้ให้เท่านั้น หากฝ่าฝืนจะมีโทษทั้งทางแพ่งและอาญา แต่ถ้าเดินทางมาจากพื้นที่สีเหลืองสามารถกักตัวที่บ้านได้ตามมาตรการ 14 วัน
ในขณะที่ เทศบาลตำบลธาตุทอง อำเภอภูเขียว จังหวัดชัยภูมิ โดย นายยุทธศาสตร์ วัชรธนาคม นายกเทศบาลตำบลธาตุทอง เผยถึงการช่วยเหลือผู้ป่วยโควิด-19 ในพื้นที่ ที่ไปทำงานในพื้นที่เสี่ยง ตามนโยบายรับคนกลับบ้าน ของจังหวัดชัยภูมิ ว่า มีผู้ป่วยที่รับกลับมาแล้วทั้งสิ้น 3 คน ซึ่งเชื่อว่าหลังจากนี้น่าจะยังมีมาอย่างต่อเนื่อง มั่นใจว่าพื้นที่จะสามารถรับมือและจัดการได้
“เมื่อกรุงเทพฯเกิดวิกฤต ชาวบ้านโทรมาหานายก ฯ ว่าให้ช่วยไปรับ เมื่อได้รับการประสาน ก็ต่อกับ รพ.สต. เพื่อประสานกับ รพ.ภูเขียว เรื่องเตียง เมื่อเราได้รับคำตอบว่าว่าง ก็เตรียมทีมไปรับ ระหว่างทางเราทำตามมาตรการอย่างเคร่งครัด ไม่มีการแวะเข้าห้องน้ำระหว่างเดินทาง ให้ผู้ป่วยเตรียมอุปกรณ์ให้พร้อม เมื่อมาถึง รพ. ก็จะทำความสะอาดรถ ตากแดดฆ่าเชื้อที่เทศบาล”
นอกจากนี้ นายสิทธิชัย วิลัยเลิศ นายกองค์การบริหารส่วนตำบลดวนใหญ่ อำเภอวังหิน จังหวัดศรีสะเกษ ได้ร่วมแลกเปลี่ยนสถานการณ์ในพื้นที่ว่า มีมาตรการรองรับไม่ต่างจากพื้นที่อื่นๆ คือ เตรียมศาลาประชาคมทั้ง 18 หมู่บ้านในตำบลเป็นสถานที่กักตัว สำหรับผู้ที่เดินทางมาจากพื้นที่เสี่ยงสีแดง และต้องตรวจหาเชื้อด้วยวิธีการ swab ทุกคน แต่ทั้งนี้ในพื้นที่กลับมีคนในพื้นที่ติดเชื้อจากการเดินทางไปทำงานในตัวจังหวัด ทำให้เกิดกลุ่มเสี่ยงขนาดใหญ่ ซึ่งได้เร่งตรวจหาเชื้อกันอยู่ขณะนี้
“ ดวนใหญ่ วิกฤตหนักหน่อย เพราะเคสแม่ติดเชื้อ นำมาติดลูก ป.4 และมีโอกาสที่เด็กนักเรียน 200 กว่าคนจะมีโอกาสติดเชื้อ แต่ความโชคดีก็คือตอนนี้ยืนยันการพบเชื้อแค่สองราย ”
พร้อมกันนี้ นายสมพร ใช้บางยาง ประธานเครือข่ายร่วมสร้างชุมชนท้องถิ่นน่าอยู่ ได้ให้ข้อเสนอแนะในการเสวนาครั้งนี้เพิ่มเติมว่า
“ชุมชนท้องถิ่นไม่ลืมการดูแลคนภายใน ไม่ใช่การมุ่งดูแลแค่คนที่จากพื้นที่เสี่ยงเท่านั้น เพราะหากปล่อยปละละเลยการออกนอกพื้นที่ ก็เสี่ยงต่อการนำเชื้อกลับมาสู่ชุมชนได้เช่นกัน”
ในช่วงท้ายของการเสวนา รศ.ดร.ขนิษฐา ได้สรุปว่า ทุกการควบคุมกำกับมีบทบาทที่สำคัญ ของ 4 องค์กรหลักอยู่ทุกๆเรื่อง เพราะทำคนเดียวไม่ได้ หลายๆฝ่ายต้องช่วยกันทำ ช่วยกันทุกเรื่อง ตั้งแต่ที่บ้าน ทุกสถานที่ของชุมชน จนกระทั่งถึงที่กักตัว