เดินหน้าสู่ ‘Zero Waste’ เทศบาลตำบลปริกปลอดขยะ

เดินหน้าสู่ ‘Zero Waste’ เทศบาลตำบลปริกปลอดขยะ

.

จากคำสอนของท่านนบีมูฮัมหมัด ศาสดาของศาสนาอิสลาม ที่กล่าวไว้ว่า “ความสะอาด คือส่วนหนึ่งของการศรัทธา” และด้วยแรงแห่งศรัทธานี้เองที่ทำให้ชาวตำบลปริก อำเภอสะเดา จังหวัดสงขลา หันมาร่วมไม้ร่วมมือจัดการขยะในพื้นที่ด้วยความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน

.

สุริยา ยีขุน นายกเทศมนตรีตำบลปริก เล่าว่า การจัดการขยะในพื้นที่เทศบาลเริ่มต้นมาตั้งแต่ปี 2543 โดยก่อนหน้านี้มีการศึกษาข้อมูลพบว่า ชุมชนต่าง ๆ มีปริมาณขยะค่อนข้างมาก เฉลี่ย 10 ตันต่อวัน โดยเฉพาะขยะจากเศษอาหารหรือขยะอินทรีย์ที่มีมากกว่าขยะประเภทอื่น ๆ รองลงมาคือ กระดาษ พลาสติก โลหะ แก้ว และขยะทั่วไป จากนั้นทางเทศบาลจึงมีการจัดทำนโยบายสาธารณะเรื่องการจัดการปัญหาขยะที่เปิดโอกาสให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วม

.

“การจัดการขยะของเทศบาลตำบลปริกนั้น เนื่องจากเรามีขีดจำกัดในเรื่องงบประมาณ จึงจำเป็นต้องหาวิธีที่จะไม่เอาเงินเป็นตัวตั้ง โดยเราใช้วิธีการจัดการขยะแบบพึ่งตนเอง นั่นคือ การสร้างความร่วมมือและการมีส่วนร่วม การสร้างเครือข่ายชุมชน การสร้างเครือข่ายนักวิชาการให้เข้ามาสนับสนุนความรู้เรื่องการคัดแยกขยะ รวมถึงวิเคราะห์แนวทางการจัดการขยะที่เหมาะสมกับบริบทชุมชน”

.

นายกเทศมนตรีตำบลปริก ระบุว่า แนวนโยบายของกระทรวงมหาดไทยและกระทรวงวิทยาศาสตร์ในสมัยนั้นได้ส่งเสริมให้มีการการสร้างศูนย์การจัดการขยะ แต่เนื่องจากต้องใช้งบประมาณในการดูแลสูงถึงปีละไม่ต่ำกว่า 3-5 ล้านบาท ทำให้เทศบาลไม่อาจดำเนินการตามแนวทางดังกล่าวได้ ดังนั้นจึงเลือกที่จะดำเนินการจัดการขยะในระดับพื้นที่ด้วยการพึ่งตนเอง

.

“ในพื้นที่ของเรามีบ่อขยะอยู่ 8 ไร่ ถ้าปล่อยทิ้งไว้ก็กลายเป็นที่รกร้าง หรือเป็นแหล่งหมักหมมของขยะ ส่งกลิ่นเหม็นรบกวนชุมชนข้างเคียง เราจึงนำมาพัฒนาเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อคนในตำบล” สุริยา ระบุ

ด้วยแนวคิดเช่นนี้ทำให้พื้นที่รกร้างที่เคยถูกมองข้าม ถูกพลิกโฉมขึ้นมาเป็น ‘ศูนย์การเรียนรู้ชุมชน’ เพื่อให้บริการความรู้ในการจัดการขยะแก่ประชาชน

นายกเทศมนตรีตำบลปริก เล่าต่อว่า กระบวนการจัดการขยะนั้นจะแบ่งออกเป็น 3 ระดับ ได้แก่ ‘กิจกรรมต้นทาง’ เริ่มตั้งแต่ระดับครัวเรือน มีการณรงค์ให้ความรู้เกี่ยวกับการคัดแยกขยะอย่างถูกวิธี และคัดแยกให้ถูกประเภทเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มต่อไปได้ นอกจากนี้ยังมีกิจกรรมหน้าบ้านหน้ามอง เพื่อกระตุ้นให้ชาวบ้านเกิดความตระหนักและหันมาใส่ใจดูแลความสะอาดบริเวณหน้าบ้านและชุมชนของตนเอง

.

ต่อมาคือ ‘กิจกรรมกลางทาง’ ได้แก่ การแปรรูปขยะ หากเป็นขยะอินทรีย์สามารถแปรรูปไปใช้ประโยชน์ด้านอื่นต่อได้ เช่น แปลงขยะเป็นปุ๋ย น้ำหมักชีวภาพ หากเป็นขยะรีไซเคิล เช่น กระดาษ พลาสติก ขวดแก้ว สามารถเก็บรวบรวมและนำไปขายของเก่า สร้างรายได้ให้แก่ครัวเรือนอีกทางหนึ่ง ภายใต้โครงการธนาคารขยะ และโครงการขยะมีบุญ โดยจะมีการรับซื้อ-ขายขยะ เพื่อนำเงินเข้ากองทุนมัสยิด

.

สุดท้ายคือ ‘กิจกรรมปลายทาง’ ซึ่งทางเทศบาลจะทำหน้าที่ในการเก็บขนขยะไปยังหลุมฝังกลบ ซึ่งขณะนี้เทศบาลตำบลปริกสามารถบริหารจัดการบ่อขยะไม่ให้มีกลิ่นเหม็นรบกวน และไม่ปล่อยให้เป็นพื้นที่สกปรกรกร้างอีกต่อไป

“เราพัฒนาจากสิ่งที่ไร้ค่าให้มีมูลค่า กลายเป็นพื้นที่ของศูนย์เรียนรู้แห่งที่ 3 ที่ทุกคนสามารถเข้าไปใช้ประโยชน์ได้”

.

นายกฯ สุริยา กล่าวอีกว่า “ยุทธศาสตร์การจัดการขยะทั้ง 3 แนวทาง นำมาสู่การลดปัญหาขยะจากเดิมที่มีปริมาณขยะมากถึง 10 ตันต่อวัน ปัจจุบันลดลงเหลือประมาณ 4-5 ตันต่อวัน เรียกได้ว่าลดลงครึ่งต่อครึ่ง ขณะเดียวกันเรายังประหยัดงบประมาณมหาศาลด้วยการพึ่งพาวิธีการจัดการขยะของเราเอง ซึ่งถือเป็นเรื่องที่ประสบความสำเร็จอย่างมาก และเป็นโมเดลการจัดการขยะที่เราช่วยกันออกแบบกระบวนการขึ้นมาเอง โดยไม่ได้ทำตามรูปแบบของศูนย์การจัดการขยะที่กระทรวงทรวงมหาดไทย กระทรวงวิทย์ฯ เสนอไว้เป็นแนวนโยบายในขณะนั้น ซึ่งต้องใช้งบประมาณไม่ต่ำกว่าปีละ 3-5 ล้านบาทในการดำเนินการ”

.

เมื่อการจัดการขยะช่วยประหยัดงบประมาณของเทศบาลได้เป็นจำนวนมาก งบที่เหลือจึงสามารถนำไปทำอย่างอื่นที่เกิดประโยชน์ต่อไปได้ เช่น ส่งเสริมด้านการศึกษาในศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก

.

ทุกวันนี้กิจกรรมการจัดการขยะของเทศบาลตำบลปริกยังดำเนินการอย่างต่อเนื่อง ทั้งการรณรงค์เสริมสร้างความรู้ซึ่งทำกันมาตั้งแต่ต้น ไม่ว่าจะเป็นการเคาะประตูตามบ้านเพื่อพูดคุยสร้างความเข้าใจกัน ขณะเดียวกัน ผลพวงสำคัญที่เกิดขึ้นตามมาคือ ชาวบ้านมีการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการทิ้งขยะ ตระหนักถึงปัญหามลพิษและสิ่งแวดล้อม และพร้อมจะก้าวสู่กระบวนการจัดการขยะแบบฐานศูนย์ หรือ zero waste management ต่อไป

.

#เครือข่ายร่วมสร้างชุมชนท้องถิ่นน่าอยู่

#ชุมชนเข้มแข็ง

#สสส