‘เทศบาลตำบลเวียงพร้าว’ คุมเข้มมาตรการคัดกรองโควิด-19

‘เทศบาลตำบลเวียงพร้าว’ คุมเข้มมาตรการคัดกรองโควิด-19

.

เทศบาลตำบลเวียงพร้าว อำเภอพร้าว จังหวัดเชียงใหม่ หนึ่งในเครือข่ายร่วมสร้างชุมชนท้องถิ่นน่าอยู่ สนับสนุนโดยสำนักสุขภาวะชุมชน (สำนัก 3) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ได้วางมาตรการเข้ม คัดกรองโรคทางเดินหายใจจากเชื้อไวรัสโควิด-19 สำหรับผู้ที่มาติดต่อราชการทุกคนภายในสำนักงานอย่างไม่มีข้อยกเว้น เพื่อเป็นการยกระดับความปลอดภัย ซึ่งสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ชาวบ้านตำบลเวียงพร้าวเป็นอย่างยิ่ง

.

นายอาดิษฐ์ อินทจักร์ รองปลัดเทศบาล รักษาราชการแทนปลัดเทศบาล ปฏิบัติหน้าที่นายกเทศมนตรีตำบลเวียงพร้าว อ.พร้าว จ.เชียงใหม่ กล่าวถึงวิธีการคัดกรองโรคติดต่อทางเดินหายใจ โควิด-19 ของเทศบาลตำบลเวียงพร้าว มีการดำเนินการจัดตั้งจุดคัดกรองบริเวณสำนักงาน ให้ผู้เข้ามาติดต่อราชการเดินผ่านอุโมงค์ฆ่าเชื้อ ล้างมือด้วยเจลแอลกอฮอล์ วัดอุณหภูมิ และบันทึกชื่อ ที่อยู่ พร้อมเบอร์โทรศัพท์ก่อนเข้าติดต่อราชการ รวมทั้งได้มีการจัดที่นั่งให้ห่างกัน เพื่อไม่ให้แอดอัดเกินไป ซึ่งกระบวนการนี้ เจ้าหน้าที่ที่เข้ามาทำงานทุกคน รวมไปถึงนายกฯ ก็ต้องปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัดเช่นกัน

.

นายอาดิษฐ์ กล่าวต่อไปว่า ในตอนแรกที่กำหนดมาตรการเช่นนี้ อาจเกิดปัญหาได้ เพราะทำให้เกิดความล่าช้ายิ่งขึ้นในการติดต่อราชการ แต่ปรากฏว่าได้รับเสียงชื่นชมจากชาวบ้านตำบลเวียงพร้าว เพราะมีมาตรการคุมเข้ม มีตู้พ่นน้ำยาฆ่าเชื้อเป็นแห่งแรกของอำเภอ ทำให้รู้สึกปลอดภัยมากยิ่งขึ้น

.

“ด้วยการสื่อสารในปัจจุบัน ทำให้ชาวบ้านทราบสถานการณ์ดี โดยเฉพาะเรื่องนี้ จะให้ความร่วมมือดีมาก จะตรวจอย่างไร หรือมีมาตรการอย่างไร เขาจะให้ความร่วมมือหมด แม้ว่าการติดต่อราชการจะล่าช้า ก็ยินยอมเข้าสู่กระบวนการคัดกรองทั้งหมด” นายอาดิษฐ์ กล่าว

.

สำหรับมาตรการป้องกันต่าง ๆ ในชุมชนนั้น ทางเทศบาลตำบลเวียงพร้าวได้ดำเนินการร่วมกับโรงพยาบาลพร้าว, โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.), อำเภอ และฝ่ายปกครองในพื้นที่ จัดทำหน้ากากอนามัย ที่ได้รับงบประมาณจากกรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น

.

รวมทั้งมีการเชิญวิทยากรจากโรงพยาบาลมาให้ความรู้อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) และผู้เกี่ยวข้อง เพื่อประชาสัมพันธ์ไปพร้อมกับการแจกหน้ากากอนามัยในพื้นที่ อีกทั้งมีการประสานงานกับอำเภอ เพื่อตั้งจุดตรวจร่วมกับตำรวจ ฝ่ายปกครอง และท้องถิ่นในช่วงเวลาประกาศเคอร์ฟิวอีกด้วย

.

นอกจากนี้ งบประมาณที่ได้รับการสนับสนุนจากสำนำงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) นั้น ถูกนำไปใช้ในการจัดทำป้ายประชาสัมพันธ์ ให้ความรู้ในเรื่องโควิด-19 จำนวน 14 ป้าย แจกจ่ายให้แก่หมู่บ้าน ศูนย์ราชการ ศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก และอีกส่วนหนึ่งถูกนำไปจัดซื้อเครื่องวัดอุณหภูมิ

.

นายอาดิษฐ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า “อำเภอพร้าว เป็นอำเภอปิด ไม่ใช่อำเภอทางผ่าน การเดินทางเข้าออกค่อนข้างน้อย อีกทั้ง ไม่มีผู้ติดเชื้ออยู่ในพื้นที่ การควบคุมสถานการณ์จึงไม่ค่อยมีปัญหา ส่วนกลุ่มเสี่ยงก็พ้นระยะเวลากักตัวหมดแล้ว แต่ถ้ามีคนนอกพื้นที่เข้ามา ฝ่ายปกครอง และอสม. จะรีบเข้าไปดำเนินการกักตัวทันที การประชาสัมพันธ์ต่าง ๆ ก็ทำให้ชาวบ้านตื่นตัว บางส่วนถึงกับตื่นตระหนกจนเกินไป เช่น พอมีคนเดินทางจากเกาหลีเข้ามาแล้วถูกกักตัว ก็ไปพูดกันในวงนอกว่าติดเชื้อ ทั้งที่จริง ๆ แล้ว แค่กักตัวเพราะมาจากประเทศเสี่ยงเท่านั้น เราก็ต้องส่งเจ้าหน้าที่จากโรงพยาบาล และอสม. ลงไปทำความเข้าใจเพื่อลดความตื่นตระหนกลง เมื่อพ้นระยะกักตัวแล้ว ไม่พบเชื้อเรื่องก็จบไป”

.

แต่ก็ต้องยอมรับว่ามาตรการต่าง ๆ ที่ออกมานั้น ส่งผลกระทบกับคนในพื้นที่อยู่บ้าง ทั้งในเรื่องของการเดินทาง และรายได้ของชาวบ้าน ซึ่งส่งผลกระทบอย่างยิ่งแก่ผู้ที่มีอาชีพค้าขาย เช่น ตลาดนัดชุมชนที่ต้องยกเลิกไป หรือร้านค้าต่าง ๆ ที่ต้องปิดชั่วคราว และล่าสุด ทางผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ ได้สั่งการให้หน่วยงานราชการ หรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น จัดเตรียมรถไว้บริการประชาชน ในกรณีที่รถโดยสารสาธารณะหยุดให้บริการ และมีประชาชนบางส่วนยังคงต้องเดินทาง เช่น การนัดพบแพทย์ หรือไปโรงพยาบาลต่างอำเภอ เพื่อเป็นการอำนวยความสะดวกให้แก่ประชาชน ทางเทศบาลตำบลเวียงพร้าวก็ได้จัดเตรียมรถไว้บริการพร้อมช่วยเหลือทันที เมื่อได้รับการร้องขอในการช่วยส่งตัวประชาชน

 

#อยู่บ้านหยุดเชื้อช่วยชาติ
#เครือข่ายร่วมสร้างชุมชนท้องถิ่นน่าอยู่
#ชุมชนเข้มแข็ง
#สสส