เทศบาลนครเชียงราย จับมือ 8 องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ลงนาม MOU “เมืองอาหารปลอดภัย”

เทศบาลนครเชียงราย จับมือ 8 องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ลงนาม MOU “เมืองอาหารปลอดภัย” ภายใต้โครงการพัฒนานครเชียงราย สู่เมืองแห่งความสุข 3 มิติ ตั้งเป้าเป็น “นครแห่งเมืองอาหารปลอดภัย สำหรับประชาชนและนักท่องเที่ยว” และสร้างระบบการตลาดอาหารปลอดภัยให้ผู้บริโภคเข้าถึงแหล่งอาหารปลอดภัยได้ง่ายขึ้น

 

 เมื่อวันที่ 11 มีนาคม 2565 ที่อาคารเทิดพระเกียรติ 90 ปี สมเด็จพระศรีนครินทร์ อ.เมือง จ.เชียงราย ทางเทศบาลนครเชียงราย จังหวัดเชียงราย ร่วมกับสำนักสนับสนุนสุขภาวะชุมชน (สำนัก 3)  สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จัดพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) “เมืองอาหารปลอดภัย” กับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น 8 แห่ง ในเขตพื้นที่อำเภอเมืองเชียงราย ภายใต้โครงการ “พัฒนานครเชียงราย สู่เมืองแห่งความสุข 3 มิติ” ได้แก่ มิติด้านเศรษฐกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อม เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน ผ่านการขับเคลื่อนเมืองอาหารปลอดภัย ภายใต้ความร่วมมือของภาคีเครือข่ายทุกภาคส่วน

นายวันชัย จงสุทธนามณี นายกเทศมนตรีเทศบาลนครเชียงราย กล่าวว่า เทศบาลนครเชียงรายมีแนวทางในการบริหารหลักการ “ร่วมคิด ร่วมทำ ร่วมพัฒนา” เพื่อสร้างระบบการบริหารจัดการที่ดี โดยยึดหลักธรรมาภิบาลใช้กรอบแนวทาง 4 สร้าง เป็นกลไกและเครื่องมือในการสร้างเสริมสุขภาพสู่เมืองน่าอยู่ โดยการสร้างคน สร้างฐานข้อมูล สร้างระบบภาคีเครือข่าย และสร้างพื้นที่กลางในการเรียนรู้ พร้อมยกระดับให้เป็นพื้นที่ตัวอย่างของการพัฒนาที่ยั่งยืน

นายกเทศมนตรีนครเชียงราย กล่าวเพิ่มเติมว่า เพื่อความร่วมมือในการส่งเสริม สนับสนุน กลไกให้เกิดกระบวนการขับเคลื่อนระบบเกษตรกรรมเพื่ออาหารปลอดภัย ทั้ง ต้นน้ำ กลางน้ำ ปลายน้ำ ต้องส่งเสริม สนับสนุนให้ประชาชนในแต่ละพื้นที่ทำเกษตรอินทรีย์และเกษตรปลอดภัย พร้อมกับขับเคลื่อนศูนย์จำหน่ายผลิตภัณฑ์ชุมชนและเกษตรปลอดภัย นครเชียงราย ให้เป็นรูปธรรม นำผลผลิตเกษตรอินทรีย์และเกษตรปลอดภัย มาวางระบบในการจำหน่ายผลผลิต และสุดท้ายปลายน้ำ ได้แก่การจำหน่ายผลิตภัณฑ์เกษตรอินทรีย์และเกษตรปลอดภัยสู่ชุมชน ซึ่งนอกจากจะเป็นการส่งเสริมสนับสนุนการสร้างอาชีพสร้างรายได้ให้กับประชาชนในพื้นที่แล้ว ยังเป็นการลดค่าใช้จ่ายจากการเจ็บป่วยที่เกิดจากการบริโภคอาหารที่มีสารเคมีตกค้าง ส่งผลสู่การมีสุขภาพอนามัยที่ดีของประชาชนนครเชียงราย อันถือเป็นการบูรณาการ การพัฒนาร่วมกันสู่เป้าหมาย “นครแห่งเมืองอาหารปลอดภัย สำหรับประชาชนและนักท่องเที่ยว”

ด้าน ดร.ประกาศิต กายะสิทธิ์ รองผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) รักษาการผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะชุมชน (สำนัก 3) กล่าวว่า  สสส.มีพันธกิจ สำคัญคือ การจุดประกาย กระตุ้น สาน และเสริมพลังบุคคล ชุมชน และองค์กรทุกภาคส่วน ให้มีขีดความสามารถ และสร้างสรรค์ระบบสังคมที่สนับสนุนต่อการมีสุขภาวะที่ดี ทั้งนี้การที่เทศบาลนครเชียงราย มีนโยบายขับคลื่อนนครเชียงรายสู่ นครแห่งเมืองอาหารปลอดภัย ซึ่งสอดคล้องกับเป้าหมายเชิงยุทธศาสตร์ ใน 13 ประเด็นการพัฒนา ไม่ว่าจะเป็น เรื่องเกษตรปลอดภัย อาหารปลอดภัย กิจกรรมทางกาย มลพิษจากสิ่งแวดล้อม ปัญหาสุขภาพอุบัติใหม่และปัจจัยเสี่ยงอื่นๆ

“แนวทางการดำเนินการของนครเชียงรายที่เน้นดูแลตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ เป็นแนวทางที่จะสามารถทำให้ดูแลประชาชนได้ทั้งวงจร ทั้งนี้เรื่องความมั่นคงทางอาหาร อาหารปลอดภัย ต้องไม่ลืมให้ความสำคัญกับการปลูกจิตสำนึกความรับผิดชอบไปพร้อมกันด้วยเพื่อให้เกิดความยั่งยืน”

อย่างไรก็ตาม สสส.มีชุดกิจกรรมในการขับเคลื่อนงานอาหารมั่นคง ชุมชนปลอดภัย ประกอบด้วย1.)พัฒนาและนำใช้ข้อมูลเพื่อการเกษตรและอาหารชุมชนปลอดภัย 2.) พัฒนาศักยภาพของกลไกการขับเคลื่อนการเกษตรและอาหารชุมชน 3.) พัฒนาแผนการเกษตรและอาหารชุมชนโดยใช้พื้นที่เป็นฐาน 4.) พัฒนาบริหารจัดการกองทุนและการจัดระบบสวัสดิการ 5.) รณรงค์เพื่อการเกษตรและอาหารชุมชนปลอดภัย

 

หลังจากนั้น นายภาสกร บุญญลักษม์ ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย ได้มอบนโยบายการพัฒนาเมืองเชียงราย การขับเคลื่อนอาหารปลอดภัยและการหยุดเผาลดฝุ่นพิษ PM 2.5 เป็นฐานของนโยบายส่งเสริมการท่องเที่ยวจังหวัดเชียงราย ว่า เชียงรายเป็นจังหวัดชายแดนและเป็นเมืองแห่งการท่องเที่ยว แต่จากสถานการณ์โควิด 19 ส่งผลกระทบต่อการท่องเที่ยวของจังหวัดเชียงรายเป็นอย่างมาก เมื่อจังหวัดมีการผ่อนคลายมาตรการการควบคุมโรคในพื้นที่นำร่องการท่องเที่ยว ดังนั้นเพื่อการกระตุ้นเศรษฐกิจของจังหวัดเชียงรายให้กลับคืนมาโดยเร็ว จึงจำเป็นต้องอาศัยการบูรณาการทั้งภาครัฐภาคเอกชนและประชาชนที่ต้องขับเคลื่อนไปด้วยกัน

“การขับเคลื่อนระบบเกษตรกรรมอาหารปลอดภัย เป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยว เพื่อรองรับประชาชนและนักท่องเที่ยวที่มาเยือน ผ่านการสร้างอัตลักษณ์ใหม่ สร้างรายได้ และลดฝุ่น PM 2.5 โดยการขับเคลื่อน ต้องปลอดภัย ตั้งแต่ ต้นน้ำ กลางน้ำ ปลายน้ำ เช่น การปรับใช้หลักการจัดการมลพิษ เริ่มจากการป้องกัน ควบคุม การการเผาในพื้นที่การเกษตร เพื่อลดปัญหาฝุ่น PM 2.5 อย่างรอบด้าน นอกจากนี้ การสร้างเครือข่ายเกษตรกรผู้ผลิตพืชผักปลอดสารพิษ ด้วยวิถีเกษตรอินทรีย์และสร้างผู้ซื้อ เช่น ร้านอาหาร เชื่อมโยงเข้าด้วยกัน สร้างระบบการตลาดอาหารปลอดภัยให้เกษตรกรมีแหล่งจำหน่ายสินค้าและประชาชนผู้บริโภคสามารถเข้าถึงแหล่งอาหารปลอดภัยได้ง่ายขึ้น ซึ่งเป็นหัวใจหลักของการสร้างเมืองอาหารปลอดภัย”

ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย กล่าวต่อว่า ขอให้เทศบาลนครเชียงรายและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทั้ง 8 แห่ง หัวหน้าส่วนราชการและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมบูรณาการเพื่อขับเคลื่อนระบบอาหารปลอดภัยให้เป็นรูปธรรมและเกิดประโยชน์ต่อประชาชนของจังหวัดเชียงราย

ทั้งนี้ในพิธีลงนามบันทึกความร่วมมือ (MOU) ขับเคลื่อนเมืองอาหารปลอดภัย นครเชียงราย นายวุฒิพันธุ์ วิชัยรัตน์ สมาชิกวุฒิสภา ได้บรรยายในหัวข้อ นโยบายการพัฒนาเมืองกับการบูรณาการ, นายสืบศักดิ์ เอี่ยมวิจารณ์ ประธานคณะกรรมการกำกับทิศทางของแผนสุขภาวะชุมชนพื้นที่ภาคเหนือ บรรยายหัวข้อ กลไกการบริหารจัดการพื้นที่สู่ความต่อเนื่องและยั่งยืน และนายสมพร ใช้บางยาง ประธานเครือข่ายร่วมสร้างชุมชนท้องถิ่นน่าอยู่ บรรยายเรื่อง ศาสตร์พระราชากับการพัฒนาที่ยั่งยืน ก่อนที่ทุกฝ่ายจะร่วมกันลงนามและเป็นสักขีพยานในพิธีลงนามความร่วมมือครั้งนี้ด้วยความมุ่งมั่นตั้งใจ

 

#เครือข่ายร่วมสร้างชุมชนท้องถิ่นน่าอยู่

#สสส

#ชุมชนเข้มแข็ง

#ชุมชนท้องถิ่น รู้รับปรับตัว