เทศบาลนครเชียงราย พร้อมเดินหน้าขับเคลื่อน “เมืองอาหารปลอดภัย” ภายใต้การสนับสนุนของ สสส.

เทศบาลนครเชียงราย พร้อมเดินหน้าขับเคลื่อน “เมืองอาหารปลอดภัย” ภายใต้การสนับสนุนของ สสส.

ก่อนที่พิธีลงนามบันทึกข้อตกลง (MOU)  “เมืองอาหารปลอดภัย” ระหว่าง เทศบาลนครเชียงราย กับ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น 8 แห่ง ในเขตพื้นที่อำเภอเมืองเชียงราย ภายใต้การสนับสนุนของ สำนักสนับสนุนสุขภาวะชุมชน (สำนัก 3)  สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)  จะเริ่มต้นขึ้น

นายสมพร ใช้บางยาง ประธานเครือข่ายร่วมสร้างชุมชนท้องถิ่นน่าอยู่, นายสืบศักดิ์  เอี่ยมวิจารณ์ ประธานคณะกรรมการกำกับทิศทางของแผนสุขภาวะชุมชนพื้นที่ภาคเหนือ, นางสาวดวงพร  เฮงบุณยพันธ์  ที่ปรึกษาคณะกรรมการบริหารแผน คณะ 3 สสส. และนางสาวนิสา รัตนดิลก ณ ภูเก็ต ผู้ช่วยผู้จัดการสำนักสนับสนุนสุขภาวะชุมชน (สำนัก3 )  พร้อมคณะ ลงพื้นที่การดำเนินงานขับเคลื่อน “เมืองอาหารปลอดภัย” ของเทศบาลนครเชียงราย โดยมีนายณรงค์ศักดิ์  เตือนสกุล รองนายกเทศมนตรีนครเชียงราย เป็นผู้นำชม

การขับเคลื่อน “เมืองอาหารปลอดภัย” ของเทศบาลนครเชียงราย  วางแผนให้เกิดกระบวนการทำกิจกรรมแบบบูรณาการ ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ ซึ่งต้นน้ำคือ แหล่งผลิตพืชผักปลอดสารพิษ กลางน้ำคือ ศูนย์ผลิตภัณฑ์ชุมชนและเกษตรปลอดภัย นครเชียงราย โดยจะมีกระบวนการ ตรวจสารพิษก่อนกระจายสินค้าไปยังผู้บริโภค ผู้ประกอบการร้านอาหาร โรงแรม รวมถึงโรงเรียนในสังกัดเทศบาล ตลอดจนถึงนักท่องเที่ยว และสุดท้ายปลายน้ำคือ ผู้บริโภคได้บริโภคอาหารปลอดภัย

เทศบาลนครเชียงราย เชื่อมั่นว่า กิจกรรมที่เกิดขึ้นจะส่งเสริมให้เกิดเมืองอาหารปลอดภัย ประชาชนมีสุขภาพที่ดีพร้อมไปกับการขับเคลื่อนเศรษฐกิจชุมชน ควบคู่กับการจัดการสิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืน

 

  1. สวนสาธารณะนครเชียงราย เลียบแม่น้ำกก River garden city

 

สวนสาธารณะนครเชียงราย เกิดขึ้นจาก มติการทำประชาคมร่วมกันระหว่าง เทศบาลนครเชียงราย สำนักงานโยธาธิการและผังเมือง จังหวัดเชียงราย ชุมชนร่องเสือเต้น ชุมชนป่าแดง และชุมชนฝั่งหมิ่น  โดยมีแผนจะสร้างสวนสาธารณะ เลียบแม่น้ำกก ทั้งสิ้น 12 แห่ง เพื่อส่งเสริมสุขภาวะให้กับประชาชนทุกช่วงวัย ผ่านการสร้างเสริมกิจกรรมต่าง ๆ ของประชาชน

เช่น การปลูกผักปลอดสารพิษ มีศูนย์เรียนรู้และแหล่งศึกษาดูงานด้านการจัดการสิ่งแวดล้อม เพื่อลดปัญหา PM 2.5  ตลอดจนการก่อสร้างลานออกกำลังกาย ลานกีฬา ทางปั่นจักรยาน ทางวิ่งและทางเดินออกกำลังกาย ก่อสร้างศูนย์ health care นวดฝังเข็ม เป็นต้น

เทศบาลนครเชียงราย มั่นใจว่า พื้นที่สวนสาธารณะเหล่านี้ เป็นการพัฒนาพื้นที่เพื่อให้เกิดประโยชน์กับประชาชนสูงสุด

 

  1. บ้านเมืองรวง อบต.แม่กรณ์ ต้นน้ำของการผลิตพืชผักปลอดสารเคมี

บ้านเมืองรวง อบต.แม่กรณ์ อ.เมือง จ.เชียงราย  คือหนึ่งเป้าหมายพื้นที่ต้นน้ำ ที่จะเป็นแหล่งผลิต พืชผักปลอดภัยและพืชผักอินทรีย์ เพื่อส่งผลผลิตเข้าเข้าไปขายที่ศูนย์ผลิตภัณฑ์ชุมชนและเกษตรปลอดภัย นครเชียงราย และนำไปประกอบอาหารให้กับนักเรียนในโรงเรียนในเขตเทศบาลนครเชียงราย ในอนาคต

บ้านเมืองรวง นอกจากจะเป็นหมู่บ้านท่องเที่ยวเชิงเกษตรกรรมแล้ว ชาวบ้านที่นี่ยังปลูกผักไว้กินเองในครัวเรือนแทบทุกหลัง ภายใต้แนวคิด “บ้านนี้มีรัก ปลูกผักแบ่งปัน”  เพราะหากผักเหลือก็แบ่งปัน แบ่งปันเหลือก็ขาย และผักที่นี่ปลอดภัย ไร้สารเคมี ในอนาคตผู้นำชุมชนและชาวชุมชนบ้านเมืองรวง ต้องการผลักดันให้ที่นี่ปลูกพืชผักอินทรีย์ ซึ่งนอกจากจะดีต่อสุขภาพแล้ว ยังสร้างมูลค่า สร้างรายได้ อีกด้วย

ดังนั้น การที่ เทศบาลนครเชียงราย มุ่งเป้าสู่การเป็น เมืองอาหารปลอดภัย จะทำให้มีเกษตรกรหันมาปลูกพืชผัก ปลอดภัย และพืชผักอินทรีย์ มากยิ่งขึ้น  ด้วยเหตุนี้ อบต.แม่กรณ์ ผู้นำชุมชนบ้านเมืองรวง จึงยินดีที่จะเป็นส่วนสำคัญในการขับเคลื่อน นครเชียงราย เมืองอาหารปลอดภัย อย่างแน่นอน

ขณะที่เทศบาลนครเชียงราย นอกจากจะหาตลาดรองรับไว้รอแล้ว ยังพร้อมที่จะส่งเสริมสนับสนุนการรวมกลุ่มเกษตรปลอดภัย  เกษตรอินทรีย์ เพื่อขยายพื้นที่การผลิต พร้อมขยับให้เป็นแหล่งเรียนรู้ แหล่งท่องเที่ยว ซึ่งจะนำไปสู่ความยั่งยืนในอนาคต

 

  1. ศูนย์ผลิตภัณฑ์ชุมชนและเกษตรปลอดภัย นครเชียงราย แหล่งส่งต่ออาหารปลอดภัยสู่ผู้บริโภค

ศูนย์ผลิตภัณฑ์ชุมชนและเกษตรปลอดภัย  นครเชียงราย คือ จุดศูนย์กลางที่ตั้งไว้รองรับผลผลิตจากเกษตรกรเครือข่ายเกษตรปลอดภัย เกษตรอินทรีย์ เพื่อจำหน่ายให้กับประชาชนทั่วไป ซึ่งนอกจากจะมีร้านค้าไว้จำหน่ายผลผลิตแล้ว ยังเปิดให้เครือข่ายมาเปิดตลาดขายผัก ผลไม้ ปลอดภัย และผักอินทรีย์ ในทุกวันศุกร์ เพื่อส่งตรงผลผลิตจากผู้ผลิตสู่มือผู้บริโภค

นอกจากนี้บริเวณศูนย์ฯ ยังเป็นที่ตั้งของ อาคารตรวจสอบสารพิษตกค้างในผักและผลไม้ เทศบาลนครเชียงราย ซึ่งผักผลไม้ที่นำมาขายที่ศูนย์ฯ จะต้องสุ่มตรวจเพื่อหาสารตกค้างในพืชผัก เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับผู้บริโภค ว่าผักที่นี่ปลอดสารเคมีแน่นอน ซึ่งจากการสุ่มตรวจที่ผ่านมายังไม่พบสารเคมีตกค้างจากพืชผักที่มาจำหน่าย

นายสมพร ใช้บางยาง ประธานเครือข่ายร่วมสร้างชุมชนท้องถิ่นน่าอยู่ ได้ให้ข้อสังเกตว่า การตรวจหาสารเคมีตกค้าง เป็นสิ่งที่ทำได้ แต่ต้องไม่ลืมสร้างจิตสำนึก ความซื่อสัตย์ กับเกษตรกรเครือข่าย  ซึ่งการสร้างจิตสำนึก และตระหนักถึงคุณค่าจากการปลูกผักอินทรีย์  ย่อมนำไปสู่ผลลัพธ์ ที่เทศบาลนครเชียงราย คาดหวัง ทั้งการสร้างความเชื่อมั่นผู้บริโภค  เพิ่มมูลค่าสินค้าเกษตร เกิดเมืองต้นแบบเกษตรปลอดภัย เกิดเมืองสุขภาวะ และประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดี  อันจะเป็นการสร้างความยั่งยืนให้นครเชียงราย เป็นเมืองอาหารปลอดภัย อย่างแน่นอน

 

 

#เครือข่ายร่วมสร้างชุมชนท้องถิ่นน่าอยู่

#สสส

#ชุมชนเข้มแข็ง

#ชุมชนท้องถิ่น รู้รับปรับตัว