เทศบาลนครเชียงราย โมเดลเมืองแห่งความสุข 3 มิติ
นี่คือบทพิสูจน์ของความร่วมมือและพลังของชุมชน เมื่อเทศบาลนครเชียงราย เปิดตัวเป็นพื้นที่แห่งการเรียนรู้ สู่การพัฒนาเมืองสุขภาวะขนาดใหญ่ และเชื่อมั่นว่าสามารถขยายผลสู่ความยั่งยืนได้ในอนาคต

ตลอดระยะเวลากว่า 2 ปี ที่เทศบาลนครเชียงราย ปักหมุดหมาย “สร้างนครเชียงรายให้เป็นนครแห่งความสุข” ภายใต้โครงการพัฒนานครเชียงราย สู่เมืองแห่งความสุข 3 มิติ โดยการสนับสนุนของสำนักสนับสนุนสุขภาวะชุมชน (สำนัก 3) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ได้ขับเคลื่อนการทำงาน จนสามารถพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนเมืองเชียงรายและสามารถยกระดับการบริการสาธารณะของเทศบาลนครเชียงราย ในหลายๆ ด้าน ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายการพัฒนาเมืองของเทศบาลนครเชียงราย ทั้งการเสริมสร้างสังคมให้น่าอยู่และเป็นนครแห่งการเรียนรู้สำหรับคนทุกวัย การเพิ่มศักยภาพทางเศรษฐกิจของเทศบาลนครเชียงราย การอนุรักษ์ ฟื้นฟูรักษาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และการพัฒนาสู่เมืองอัจฉริยะ (Smart City)
ดังนั้นเพื่อขยายผลแนวคิดและแนวทางขับเคลื่อนนครเชียงรายเมืองแห่งความสุข 3 มิติ ไปยังพื้นที่เขตเมืองเชียงรายและเครือข่ายชุมชนท้องถิ่นน่าอยู่ เทศบาลนครเชียงราย ร่วมกับ สำนักสนับสนุนสุขภาวะชุมชน (สำนัก 3) และภาคีเครือข่าย จัดเวทีร่วมสร้างเมืองเชียงราย นครแห่งความสุขด้วยพลังชุมชนท้องถิ่นขึ้น
นายวันชัย จงสุทธนามณี นายกเทศมนตรีนครเชียงราย กล่าวว่า เทศบาลนครเชียงรายมีเครือข่ายหุ้นส่วนการพัฒนาที่เข้มแข็ง ซึ่งมีบทบาทสำคัญในการร่วมพัฒนานครเชียงราย เพราะเพียงทรัพยากรของเทศบานครเชียงราย คงมีพลังไม่เพียงพอ ในการทำงานขับเคลื่อนการพัฒนาเมืองให้บรรลุเป้าหมายได้ ดังนั้น หัวใจสำคัญของการพัฒนาเมืองเชียงราย คือ การสร้างความร่วมมือกับทุกภาคส่วน
“เราให้ความสำคัญกับการสร้างความร่วมมือกับภาคส่วนที่มีเป้าหมายในการสร้างเมือง เมืองสร้างคน และคนสร้างเมือง เทศบาลนครเชียงรายจึงมีภาคีเครือข่ายที่เข้ามาเป็น “หุ้นส่วนการพัฒนา” จำนวนมากพอที่จะดึงศักยภาพเข้ามาร่วมพัฒนานครเชียงราย” นายกเทศมนตรีนครเชียงราย กล่าว
สำหรับความสุข 3 มิติ ที่เทศบาลนครเชียงราย ได้กำหนดเป็นเป้าหมายการพัฒนานั้น ประกอบด้วย มิติเศรษฐกิจ มิติสังคม และมิติสิ่งแวดล้อม ซึ่งจากการขับเคลื่อนโครงการตลอดระยะเวลา 2 ปี ทำให้เห็นผลเป็นรูปธรรมใน 5 ประเด็น ได้แก่ 1.อาหารปลอดภัย จากต้นน้ำ สู่ปลายน้ำ โดย “ต้นน้ำ” หมายถึงการผลักดันให้นครเชียงรายเป็นเมืองอาหารปลอดภัย โดยเริ่มต้นที่แหล่งผลิต ซึ่งต้องมีมาตรฐาน ปลอดสารพิษ โดยอาศัยความร่วมมือจากเครือข่ายทั้ง 8 แห่ง ในการเป็นแหล่งผลิตผักปลอดภัย “กลางน้ำ” คือการสร้างความร่วมมือระหว่างชุมชน เพื่อจัดตั้งตลาดจำหน่ายผักปลอดภัย และ “ปลายน้ำ” เป็นการนำผักปลอดภัยไปเป็นวัตถุดิบในการปรุงอาหารให้กับนักเรียนในโรงเรียนสังกัดเทศบาลนครเชียงราย ทั้ง 8 แห่ง รวมทั้งสนับสนุนให้มีการวางจำหน่ายผักปลอดสารพิษอย่างต่อเนื่อง ทำให้คนที่มาท่องเที่ยวในจังหวัดเชียงรายได้กินผักที่มีความปลอดภัย

2.เมืองสะอาด: พลังแห่งการมีส่วนร่วม เพราะตลอด 20 ปี ที่ผ่านมา เทศบาลนครเชียงรายคือผู้รับผิดชอบการจัดการขยะ แต่ปัจจุบันชุมชนอาสาเข้ามาร่วมจัดการขยะ เพื่อลดภาระของเทศบาลนครเชียงรายและทำให้การจัดการขยะมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ซึ่งพลังของความร่วมมือที่เริ่มต้นจากจุดเล็กที่สุด เช่น ครอบครัวและชุมชน ได้ขยายผลให้เมืองเชียงรายเป็นเมืองสะอาดและน่าอยู่ 3.สุขภาพดี: บริการที่มากกว่าศูนย์บริการระดับปฐมภูมิ คือการยกระดับการพัฒนา การให้บริการของศูนย์บริการสาธารณสุขเทศบาลนครเชียงราย ให้เป็นมากกว่าศูนย์บริการระดับปฐมภูมิ รวมถึงสร้างความตระหนักด้านสุขภาพให้กับประชาชน ผ่านแอปพลิเคชัน “บริการด้วยใจ” ซึ่งทำให้ประชาชนสามารถเข้าถึงบริการด้านสาธารณสุขได้อย่างทั่วถึง
4.พื้นที่สวนสาธารณะ: ส่งเสริมสุขภาพกายและใจ ได้แก่ การพัฒนาพื้นที่พักผ่อนหย่อนใจ ให้เป็นสวนสาธารณะต้นแบบ ที่คนทุกเพศ ทุกช่วงวัย สามารถเข้ามาพักผ่อน ออกกำลังกาย ทำกิจกรรมต่างๆ ได้อย่างอย่างเท่าเทียม จนเป็นพื้นที่สวนสาธารณะต้นแบบที่ส่งเสริมให้ประชาชนมีสุขภาพที่ดี และ 5.แหล่งเรียนรู้: นครเชียงราย นครแห่งความสุข 3 มิติ เรื่องราวของ 4 ประเด็น จะกลายเป็นพื้นที่ ที่พร้อมให้ ภาคส่วนต่าง ๆ ได้มาเรียนรู้ร่วมกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง อปท. และเครือข่ายร่วมสร้างชุมชนท้องถิ่นน่าอยู่
สอดคล้องกับ ดร.นิสา รัตนดิลก ณ ภูเก็ต รักษาการผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะชุมชน (สำนัก 3) กล่าวว่า เทศบาลนครเชียงราย นับเป็นพื้นที่นำร่องในการพัฒนาเมืองขนาดใหญ่ ซึ่งหลังจากนี้จะกลายเป็นพื้นที่แห่งการเรียนรู้การพัฒนาเมืองขนาดใหญ่ร่วมกันของเพื่อนเครือข่าย และพื้นที่อื่นๆ ที่สนใจการพัฒนาเมือง ต่อไปในอนาคต

“ หลังจากนี้ สสส.จะนำบทเรียนสำคัญของการพัฒนาสุขภาวะของชุมชนเขตเมือง ของเทศบาลนครเชียงรายไปสรุปบทเรียน ต่อยอด เป็นการเรียนรู้และขยายผลในชุมชนเขตเมืองอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็น การยกระดับบริการสาธารณะ ที่นายกเทศมนตรีให้นโยบายผ่านผู้บริหาร ผ่านแกนนำ และบทเรียนเรื่องการออกแบบระบบการทำงาน ระบบการขับเคลื่อนแบบ “หุ้นส่วนการพัฒนา” ในส่วนของ สสส. มีหลักสูตรผู้นำ จึงจะนำประสบการณ์จากวันนี้ไปต่อยอดการเสริมศักยภาพผู้นำเฉพาะเรื่อง เฉพาะประเด็น ผู้นำที่ขับเคลื่อนมหานครขนาดใหญ่อีกทางหนึ่งด้วย ” ดร.นิสา กล่าว
ขณะที่ นายสมพร ใช้บางยาง ประธานเครือข่ายร่วมสร้างชุมชนท้องถิ่นน่าอยู่ เห็นว่า การทำงานของเทศบาลนครเชียงรายไปสู่นครแห่งความสุข 3 มิติ มีผลสัมฤทธิ์ที่เป็นรูปธรรมชัดเจน และสามารถเป็นต้นแบบการพัฒนาเมืองขนาดใหญ่ได้ แต่การจะสานต่อให้ยั่งยืนและเข้มแข็ง ต้องรักษาความเหนียวแน่นของ “หุ้นส่วนการพัฒนา” ให้เป็นเนื้อเดียวกัน จึงจะรักษานครเชียงราย นครแห่งความสุข 3 มิติ ไว้ได้
นอกจากนี้ประธานเครือข่ายร่วมสร้างชุมชนท้องถิ่นน่าอยู่ ยังได้ให้กำลังใจ ทุกภาคส่วนที่มีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนนครเชียงรายตลอดระยะ 2 ปี ที่ผ่านมาอีกด้วย
“ นี่คือการปิดโครงการตามตัวบทกฎหมาย ตามระบบ เราคงไม่ได้ร่วมมือกันแค่วันนี้จบตามสัญญาที่เป็นทางการ แต่สิ่งที่เรายังมีสานสัมพันธ์ต่อกัน มีความเกี่ยวเนื่องต่อกันต่อไป คือ ความผูกพันทางจิตใจ ที่ สำนัก 3 สสส. ภาคีเครือข่ายและนครเชียงราย ยังจะได้ร่วมงาน ร่วมมือกัน ในมิติอื่น เพื่อนำนครเชียงราย ไปสู่ความสุข 3 มิติ อย่างมั่นคง ยั่งยืน ต่อไปในอนาคต” ประธานเครือข่ายร่วมสร้างชุมชนท้องถิ่นน่าอยู่ กล่าวทิ้งท้าย
หลังจากนี้เชื่อได้ว่า บทเรียนการทำงานการพัฒนาเมืองสู่ “นครแห่งความสุข 3 มิติ ” ของเทศบาลนครเชียงราย จะเป็นต้นแบบการปฏิบัติที่ดีและเป็นพื้นที่แลกเปลี่ยนเรียนรู้ให้กับพื้นที่อื่นๆ ในการพัฒนาชุมชนเมืองขนาดใหญ่ต่อไปได้อย่างแน่นอน
#สสส
#เครือข่ายร่วมสร้างชุมชนท้องถิ่นน่าอยู่
#เชียงรายนครแห่งความสุข3มิติ
#เทศบาลนครเชียงราย