เมื่อ “หัวใจของเมืองคือพี่น้องในชุมชน” สุขจึงเกินร้อยที่เทศบาลเมืองร้อยเอ็ด

            ประเทศไทยมีการขยายตัวของความเป็น “เมือง” มาตั้งแต่ทศวรรษ 1960 จากการเก็บข้อมูลของสำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ (องค์การมหาชน) หรือ OKMD ระบุว่า ปี 2050 ไทยจะมีประชากรเพิ่มขึ้นอีก 11 ล้านคน และอนาคตของประชากรไทยร้อยละ 73 จะกลายเป็นคนเมือง

            ทุกพื้นที่เกิดการพัฒนา เข้าสู่สังคมเมืองที่มีความเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ทั้งในเรื่องของสังคม เศรษฐกิจ และสุขภาพ ในทางกลับกันความเจริญก้าวหน้าของเมืองใหญ่นั่น ทำให้เกิดช่องว่างในสังคมของกลุ่มที่ถูกเรียกว่า “คนจนเมือง” ในการเข้าถึงสิทธิ์ต่างๆ จนเกิดเป็นความเหลื่อมล้ำในชุมชนเมือง

            ด้วยเหตุนี้ สำนักสนับสนุนสุขภาวะชุมชน (สำนัก 3) สสส. จึงพยายามทำงานขับเคลื่อนสร้างสุขภาวะชุมชนเมือง เพื่อลดช่องว่างความเหลื่อมล้ำ โดยใช้หลัก SII ในการขับเคลื่อนงาน ทั้ง การจัดการพื้นที่ (Systematization), การสร้างและพัฒนานวัตกรรม (Innovation Creation) และทำให้เกิดการบูรณาการภายในชุมชนท้องถิ่นและหน่วยงานสนับสนุนภายนอก (Integration and Collaboration) ให้เกิดขึ้นในชุมชนเมืองทั่วประเทศ

            เทศบาลเมืองร้อยเอ็ด หนึ่งในเครือข่ายร่วมสร้างชุมชนท้องถิ่นน่าอยู่ ทำงานขับเคลื่อนการเสริมสร้างสุขภาวะชุมชนเขตเมือง นำโดย นายบรรจง โฆษิตจิรนันท์ นายกเทศมนตรีเมืองร้อยเอ็ด เล่าถึงบริบทของเมืองร้อยเอ็ด เมืองเก่าที่เต็มไปด้วยประวัติศาสตร์ตั้งแต่สมัยทราวดี มีโบราณสถานและโบราณวัตถุสำคัญที่ส่งต่อมาจนถึงปัจจุบัน พร้อมกับเป้าหมายที่จะขับเคลื่อนสร้างสุขภาวะชุมชนเมืองที่ดีให้ร้อยเอ็ดเป็นเมืองน่าอยู่ของทุกคน

            ทุกคนที่อยู่ในเมืองร้อยเอ็ดจะต้องอยู่ดีและมีสุข เพราะยุทธศาสตร์ต่างๆ ของเราจะทำให้ทุกคน ที่อยู่ในเมืองมีคุณภาพชีวิตที่มั่นคง คือมีบ้าน มีสุขภาวะที่ดี มีสุขภาพแข็งแรง อยู่ในสังคมอย่างมีความสุข มีความเท่าเทียมกันของโอกาสในการรับบริการ” นายบรรจง กล่าวและย้ำว่า เราไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง คนอ่อนแอก็จะได้รับการบริการจากเรา ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการศึกษาเรื่องอาชีพเรื่องการสาธารณสุข เรื่องสวัสดิการสังคม นี่คือสิ่งที่เราตั้งเป้าไว้ ว่าพลเมืองของเรา อยู่ดีและมีสุข สุขเกินร้อยที่ร้อยเอ็ด

            ด้าน ดร.นุชากร มาศฉมาดล รองนายกเทศมนตรีเมืองร้อยเอ็ด เล่าถึงความท้าทายในการทำงานสร้างสุขภาวะชุมชนเขตเมือง โดยเริ่มต้นตั้งแต่ปี 2564 ใช้ระยะเวลากว่า 3 ปีว่า เทศบาลตำบลร้อยเอ็ดมีเป้าหมายเดิมอยู่แล้วที่จะพัฒนาเมืองร้อยเอ็ดให้น่าอยู่ แต่เมื่อได้ร่วมงานกับ สสส. สำนัก 3 สำนักสนับสุนสุขภาวะชุมชน ที่มีเครื่องมือในการบูรณาการความรู้ เสริมสร้างศักยภาพชุมชน สร้างเครือข่ายทำงานขับเคลื่อนประเด็นร่วมกัน

            “เราได้มีโอกาสเป็นแม่ขาย ในการทำงาน ร่วมกับ 3 อปท.ในพื้นที่ทั้ง เทศบาลตำบลสุวรรณภูมิ, เทศบาลตำบลเมืองสรวง และเทศบาลตำบลเสลภูมิ ในการเรียนรู้ แลกเปลี่ยนวิธีการ กลไกการทำงานในเชิงประเด็นร่วมกัน” ดร.นุชากร พร้อมยกตัวอย่างการทำงานร่วมกับเครือข่ายอย่างเทศบาลตำบลสุวรรณภูมิที่มีห้องเรียนเด็กแรกเกิด 0-2 ขวบ หรือ Day Care ทางเทศบาลเมืองร้อยเอ็ดเห็นว่าน่าสนใจจึงนำมาต่อยอดในพื้นที่

            ดังนั้นอะไรที่ว่าดี เป็นประโยชน์กับชุมชน ตามหลักการที่ยึดถือกันมาตลอดว่า ‘หัวใจของเมืองคือพี่น้องในชุมชน’ เทศบาลเมืองร้อยเอ็ด จึงพัฒนาสุขภาวะชุมชนเมืองให้เป็นรูปธรรม 8 ประเด็นด้วยกัน ได้แก่

            1.การส่งเสริมกิจกรรมทางกาย มีการพัฒนาพื้นที่ลานกีฬา Extreme เพื่อเยาวชน และมีการฝึกอบรมและแนะนำทักษะการเล่นกีฬา Extreme โดย เด็ก เยาวชนและประชาชนทุกกลุ่มได้มีโอกาสเล่นกีฬาและออกกำลังกาย เกิดสนามเด็กเล่นสร้างปัญญา เป็นการเพิ่มพื้นที่สาธารณะเพื่อการออกกำลังกายสำหรับคนทุกวัย

            2.การป้องกันและควบคุมมลพิษจากสิ่งแวดล้อม เกิดกิจกรรมอบรมให้ความรู้เรื่องการจัดการขยะอินทรีย์ชุมชน ทำให้ขยะอินทรีย์ในชุมชนลดลงร้อยละ 20 ต่อยอดสู่การอบรมมัคคุเทศก์ สำรวจเส้นทางการท่องเที่ยวร่วมกับวิทยาลัยอาชีวศึกษาร้อยเอ็ด เกิดเส้นทางท่องเที่ยวใหม่ โดยคนในพื้นที่เป็นผู้ออกแบบแผนที่ท่องเที่ยวด้วยตัวเอง โดยบูรณาการการมีส่วนร่วมทั้งท้องถิ่น ท้องที่ เอกชน ประชาชน ทั้ง สำนักงานการท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัดร้อยเอ็ดและบริษัทสแปน คอนซัลแตนท์ จำกัด ออกแบบเส้นทางท่องเที่ยวปลอดภัยร่วมกันกับคนในชุมชน

            3.การส่งเสริมการผลิตและบริโภคอาหารปลอดภัย มีการส่งเสริมกลุ่มอาชีพแปรรูอาหารทำหมี่กรอบ/เลี้ยงกบในกระชัง เกิดชุมชนต้นแบบปลูกผักปลอดสารพิษจำนวน 95 ครัวเรือนกระจายอยู่ใน 6 ชุมชนเมือง เกิดตลาดนัดชุมชนเมือง ในการจำนวนสินค้าจากโครงการปลูกผักปลอดสารพิษจำนวน 3 ชุมชน และมีการทำแผนดำเนินงาน ถอดบทเรียนและขยายผลไปยังชุมชนอื่น ครอบคลุม 20 ชุมชน

            4.การพัฒนาระบบการดูแลเด็กปฐมวัย เกิดระบบพัฒนาคุณภาพเด็กปฐมวัย 0-5 ปี ทั้งการพัฒนาศักยภาพของ อสม. ผู้ปกครองโดยการจัดการฝึกอบรม ฝึกทักษะความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการส่งเสริมพัฒนาการการเจริญเติบโตของเด็ก พร้อมทั้งมีการจัดทำข้อมูลเด็กปฐมวัย 0-5 ปี ในชุมชนมั่นคงพัฒนาและจัดตั้งศูนย์พัฒนาระบบการดูแลเด็กปฐมวัยในชุมชนขึ้น นอกจากนั้นยังเกิดสนามสามวัย ที่หมู่บ้านมั่นคงพัฒนา เป็นพื้นที่กิจกรรรมให้คนในชุมชนได้มาทำกิจกรรมร่วมกัน

            5.การส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตเด็กและเยาวชน เกิดกิจการร้านเสริมสวย กิจการร้านร้อยพวงมาลัย ช่างยนต์ ขึ้นจากการฝึกประสบการณ์วิชาชีพให้แก่เด็กและเยาวชนในระบบและนอกระบบการศึกษา ในเขตเทศบาลเมืองร้อยเอ็ด ทำให้เด็กและเยาวชนสามารถนำความรู้ที่ได้รับด้านอาชีพกลับไปพัฒนาสร้างรายได้เลี้ยงตนเองและครอบครัวได้

            6.การสร้างการมีส่วนร่วมในระบบการดูแลผู้สูงอายุ เกิดกิจกรรมอบรมให้ความรู้เรื่อง “สมุนไพรกับผู้สูงอายุ” เพื่อลดการอักเสบและการปวดข้อเข่า และมีการติดตั้งรอกออกกำลังกายที่บ้าน ให้แก่ผู้สูงอายุในพื้นที่

            7.การเฝ้าระวังและควบคุมโรคติดต่อ ทั้งการจัดทำแปลงปลูกพืชสมุนไพรป้องกันโรค ในชุมชน 4 ชุมชน มีการจัดตั้งกลุ่มสมุนไพรป้องกันโรค โดยมีผลิตภัณฑ์ เช่น สเปรย์ตะไคร้หอมไล่ยุง โลชั่นกันยุง โดยใช้วัตถุดิบที่ปลูกเองในชุมชน

            8.การควบคุมการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และยาสูบ ทั้งการกำหนดพื้นที่ห้ามสูบ สำรวจพฤติการณ์สูบบุหรี่ของครัวเรือน ร้านค้า ร้านชำ และสถานที่สาธารณะ พร้อมทั้งพัฒนาศักยภาพแกนนำจิตอาสาพาเลิกบุหรี่ / อสม.ช่วยเลิกบุหรี่ เกิดแกนนำกระจายตัวอยู่ในทุกชุมชน ควบคู่ไปกับการรณรงค์ติดป้ายห้ามสูบบุหรี่ในร้านค้า ร้านชำให้ปฏิบัติตามกฎหมายในทั้ง 20 ชุมชน

            ด้าน นายสมศักดิ์ เศรษโฐ นายกเทศมนตรีตำบลสุวรรณภูมิ อ.สุวรรณภูมิ จ.ร้อยเอ็ด ที่เข้าร่วมเครือข่ายขับเคลื่อนงานสร้างเสริมสุขภาพไปกับเทศบาลเมืองร้อยเอ็ดและอีก 2 พื้นที่ กล่าวว่า เทศบาลตำบลสุวรรณภูมิทำเรื่องการสร้างสุขภาวะชุมชนทั้งกลุ่มผู้สูงอายุ อสม. กรรมการชุมชน สภาเด็กและเยาวชน ฯลฯ มีทั้งศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก เรามีกองทุนส่งเสริมสุขภาพ เพื่อทำให้เกิดกิจกรรมที่หลากหลายในชุมชน

            ในขณะเดียวกัน นางสุภาพร จันทร์ศรี รองนายกเทศบาลตำบลเมืองสรวง อ.เมืองสรวง จ.ร้อยเอ็ด เครือข่ายอีกแห่งหนึ่ง กล่าวว่า เทศบาลตำบลเมืองสรวงทำ 4 เรื่องหลักควบคู่ไปกับเทศบาลเมืองร้อยเอ็ด โดยใช้วิธีการแลกเปลี่ยน เรียนรู้ร่วมกัน ทั้งในเรื่องของการส่งเสริมสุขภาพทางกาย, อาหารปลอดภัย, การพัฒนาเด็กและการดูแลพัฒนาผู้สูงอายุ โดยทำงานร่วมกับเครือข่ายในพื้นที่ ให้พี่น้องชาวบ้านมีส่วนร่วมตั้งแต่เริ่มต้น ในการออกแบบกิจกรรมที่เขาต้องการ จากนั้นเขาจะต่อยอดสิ่งเหล่านั้นให้ยั่งยืนเอง

            นอกจากนั้น นางชุติมา แนบชิตร์ นักพัฒนาชุมชนชำนาญการ เทศบาลตำบลเสลภูมิ อ.เสลภูมิ จ.ร้อยเอ็ด กล่าวถึงผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นในการยกระดับบริการสาธารณะสุข สู่ชุมชนสุขภาวะว่า จากการทำงานตลอดระยะเวลาที่ผ่าน พบว่า รั้วที่ดีไม่ใช่รั้วคอนกรีต รั้วที่ดีคือชุมชน หากเราสร้างเพื่อนบ้านที่ดี สร้างเครือข่ายที่ดีในการทำงานร่วมกัน สร้างสังคมที่เกื้อกูล มีน้ำใจซึ่งกันและกัน ประชาชนในเมืองจะมีความสุข ตามเป้าหมายในการสร้างร้อยเอ็ดที่น่าอยู่

            ดร.นิสา รัตนดิลก ณ ภูเก็ต รักษาการผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะชุมชน (สำนัก 3) สสส. กล่าวถึงความท้าทายในการขับเคลื่อนการสร้างสุขภาวะชุมชนเขตเมืองว่าสสส. ทำงานขับเคลื่อนร่วมกัน กับพื้นที่เทศบาลเมืองร้อยเอ็ดกว่า 3 ปี ซึ่งร้อยเอ็ดเป็นพื้นที่นำร่อง 1 ใน 7 แห่งของการร่วมขับเคลื่อนสุขภาวะชุมชนเขตเมือง สสส.พยายามขับเคลื่อนภายในยุทธศาสตร์หลักสามเหลี่ยมเขยื้อนภูเขาที่ใช้ทั้ง พลังวิชาการ พลังสังคม พลังนโยบาย ในการสร้างเสริมสุขภาวะในเขตชุมชนเมือง ให้ร้อยเอ็ดเป็นพื้นที่นำร่อง พัฒนาและขยายผล เกิดชุดความรู้ สื่อ เครื่องมือในการสื่อสาร ควบคู่ไปกับการพัฒนาศักยภาพเสริมพลังภาคีเครือข่าย หนุนเสริมให้เทศบาลร้อยเอ็ด ก้าวจากเมืองน่าอยู่สู่เมืองสุขภาวะแห่งความยั่งยืนไปด้วยกัน”

            ด้าน นายสมพร ใช้บางยาง ประธานเครือข่ายร่วมสร้างชุมชนท้องถิ่นน่าอยู่ ทิ้งทายการขับเคลื่อนสุขภาวะชุมชนเขตเมืองว่า

            “นี่คือเป็นก้าวแรกของความท้าทายต่อไป ที่อยากชวนทุกคนจะร่วมไม้ร่วมมือเป็นหนึ่งเดียวกัน ในการขับเคลื่อนให้เมืองร้อยเอ็ดเป็นเมืองสุขภาวะสำหรับทุกคน โดยน้อมนำเอาศาสตร์พระราชาเพื่อการพัฒนาเมืองน่าอยู่อย่างยั่งยืน มาปรับใช้ให้เมืองร้อยเอ็ดเติบโต และพัฒนาด้วยคนร้อยเอ็ดเองต่อไป”