เอาชนะภัยพิบัติ ผ่าน ‘สังคมปรับตัว’ จากมหาวิชชาลัยปริก
.
พื้นที่เมืองร้อน มีลมมรสุมพัดผ่านทุกปี พร้อมด้วยอุทกภัยในพื้นที่ ทั้งจากน้ำป่าไหลหลากและน้ำทะเลหนุนสูง คือลักษณะภูมิประเทศของเทศบาลตำบลปริก อำเภอสะเดา จังหวัดสงขลา จากภาคใต้ของประเทศไทย
.
ด้วยเป็นพื้นที่ที่มักจะเกิดภัยธรรมชาติอยู่บ่อยครั้ง ชาวปริกจึงมีการเตรียมรับมือกับภัยพิบัติที่เกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลา ดังที่มหาวิชชาลัยปริกนิยามว่า แนวคิดการเตรียมความพร้อมรับมือกับภัยธรรมชาติของชุมชนปริก คือ ‘สังคมปรับตัว’ ที่สำคัญ และเป็นปัจจัยที่ทำให้ชุมชนปริกมีความเข้มแข็ง พร้อมรับมือกับทุกอุปสรรค
.
เทศบาลตำบลปริกดำเนินการบริหารจัดการภัยพิบัติโดยอาศัยชุมชนเป็นฐาน วิเคราะห์และประมวลข้อมูลชุมชน จัดทำแผนปฏิบัติงาน พัฒนาเครื่องมือสื่อสาร การอพยพคน จวบจนการดูแลหลังภัยพิบัติเป็นอย่างดี ค่อย ๆ พัฒนาแนวทางไปตามเวลา ปรับตัวให้เข้ากับอุบัติภัยที่เกิดขึ้นในทุก ๆ ปี จนเกิดเป็นแผนการจัดการภัยพิบัติที่สามารถลดการสูญเสียและช่วยเหลือชาวบ้านในชุมชนได้จริง
.
แนวทางปฏิบัติเมื่อเกิดเหตุฉุกเฉินอุทกภัย วาตภัย และดินโคลนถล่ม มี 3 ขั้นตอน ดังนี้
.
1. ก่อนเกิดเหตุ จัดทำแผนป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยประจำปี มีการฝึกซ้อมแผนในชุมชน จัดทำแผนที่ และตรวจสอบอุปกรณ์อยู่เสมอ
2. ขณะเกิดภัย จัดตั้งศูนย์ช่วยเหลือผู้ประสบภัย จัดตั้งศูนย์อาหารเพื่อผู้ประสบภัยโดยแม่บ้านในชุมชน ประชาสัมพันธ์ แจ้งเตือนภัยเป็นระยะ ๆ การประสานงานขอความช่วยเหลือจากหน่วยงานอื่น เพื่ออพยพผู้ประสบภัยไปยังจุดปลอดภัย
3. หลังเกิดภัย ประสานงานเพื่อช่วยเหลือและดูแลสุขภาพผู้ที่ได้รับผลกระทบ สำรวจและจัดทำข้อมูลสรุปความเสียหาย รายงานให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทราบ ฟื้นฟู บูรณะสาธารณประโยชน์ที่ชำรุดเสียหายให้กลับคืนสู่สภาพเดิมโดยเร็วที่สุด และร่วมกันทำความสะอาดชุมชน
.
#เครือข่ายร่วมสร้างชุมชนท้องถิ่นน่าอยู่
#ชุมชนเข้มแข็ง
#สสส