แนะท้องถิ่นรับมือโควิด ไม่กระทบโภชนาการเด็ก

แนะท้องถิ่นรับมือโควิด ไม่กระทบโภชนาการเด็ก

ปัจจุบันโรงเรียนรัฐทุกแห่งทั่วประเทศไทยจะได้รับเงินอุดหนุนสำหรับจัดสรรอาหารกลางวันและนมให้เด็กทุกคนในศูนย์พัฒนาเด็กเล็กจนถึงระดับประถมศึกษา แต่เพราะวิกฤติโควิด-19 ทำให้รัฐต้องมีมาตรการหยุดการเรียนการสอน ซึ่งไม่เพียงส่งผลกระทบถึงพัฒนาการเรียนรู้ แต่ยังกระทบคุณภาพชีวิตและสุขภาพของเด็กไทยไม่น้อย

เมื่อโรคระบาดทำให้เด็กขาดโอกาสการเข้าถึงอาหารกลางวัน ชุมชนท้องถิ่นมีการรับมือปัญหาเหล่านี้อย่างไร ? ประเด็นนี้ ทางสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) สำนัก 3 จึงจัดการเสวนาออนไลน์ ‘ชุมชนท้องถิ่นกับการรับมือภาวะโภชนาการเด็กยุคโควิด-19’ ผ่านช่องทาง Facebook Page : สุขภาวะชุมชน ขึ้น

มูรณี หะมิ ครู ค.ศ.2  หัวหน้าสถานศึกษาศูนย์พัฒนาเด็กเล็กบ้านบาลูกาอบต.แว้ง อ.แว้ง จ.นราธิวาส เล่าว่า ตั้งแต่เกิดเหตุการณ์ไวรัสโควิด-19 ระบาดทำให้ อบต.แว้งกลายเป็นชุมชนปิดที่ไม่ค่อยเปิดรับคนภายนอก แต่ระยะแรกยอมรับว่ายังพบผู้ที่ติดเชื้อ แต่ทางชุมชนมีมาตรการให้ผู้ที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงต้องกักตัวเป็นเวลา 14 วัน ต่อมาจึงยกระดับมาสู่มาตรการปิดหมู่บ้าน 2 แห่ง ซึ่งเป็นหมู่บ้านที่ตั้งของศูนย์พัฒนาเด็กเล็กในพื้นที่ 2 แห่ง ที่มีเด็กปฐมวัยรวม 145 คน

แม้กลุ่มเด็กเล็กไม่สามารถมาเรียนที่ศูนย์ฯ ได้ แต่ศูนย์ฯ ก็รับหน้าที่ทำอาหารให้แก่เด็กเล็กทุกวันตั้งแต่วันจันทร์ถึงศุกร์ ส่วนในช่วงวันเสาร์-อาทิตย์จะมีอาหารจากครัวชุมชนสำหรับทุกครอบครัว อาหารที่จัดทำนอกจากจะเพียงพอสำหรับเด็กในความดูแลทั้ง 145 คน ยังเผื่อแผ่ไปถึงสมาชิกในครอบครัวได้อีก ซึ่งส่วนใหญ่นอกจากแต่ละครอบครัวจะยังมีพี่ชายหรือพี่สาวที่เรียนอยู่ในชั้นประถมศึกษา ซึ่งต้องหยุดเรียนด้วยเช่นกัน

ในส่วนของนมโรงเรียน ทางศูนย์เปลี่ยนจากแจกนมพาสเจอร์ไรส์แบบเดิม มาเป็นนมยูเอชทีแบบกล่องเนื่องจากเก็บไว้ได้ยาวนาน “ปัญหาโภชนาการโปรดมั่นใจว่าไม่ขาดตกบกพร่อง เพราะเราเปิดให้ผู้ปกครองทยอยมารับอาหารทุกวันที่สำคัญครูมีการลงพื้นที่ในหมู่บ้านจุดที่ปลอดภัย รวมถึงบางพื้นที่ที่ผู้ปกครองความไม่สามารถมารับอาหารเองได้ ข้อดีของวิกฤตครั้งนี้ คือเราได้เรียนรู้ว่าเราทำงานได้ตอบโจทย์มากขึ้น เพราะเรามีข้อมูลที่ให้ใช้อย่างเต็มที่ และใช้ทุนน่ะศักยภาพที่มีอยู่ในพื้นที่ ทำให้ปัญหาที่น่าจะหนัก ลดระดับความรุนแรงขึ้น” มูรณี กล่าว

ด้าน มนสิชา ไชยทน ปลัดเทศบาลตำบล (ทต.) สถาน อ.เชียงของ จ.เชียงราย ให้ข้อมูลว่า ทต.สถาน มีเด็กในศูนย์ 80 คนจากทั้งหมด 3 ศูนย์ สำหรับการดูแลเด็กปฐมวัยนั้น ทางเทศบาลได้จัดการจ้างแม่บ้านมาทำอาหารสำหรับเด็กในศูนย์เด็กเล็กโดยเฉพาะ โดยให้ผู้ปกครองเป็นคนมารับที่ศูนย์เด็กเล็กและสถานที่ซึ่งจัดไว้ให้ทั้งหมด3 จุด ซึ่งทำให้สามารถแจกเด็กได้ครบ 100%

ส่วนการเยี่ยมเยียนเด็กตามบ้านเป็นอีกภารกิจในแผนการทำงานของครูศูนย์เด็กเล็กที่ทำเป็นประจำ หากแต่ช่วงโควิดก็มีการเปลี่ยนมาใช้ช่องทางการสื่อสาร ผ่านแอพพลิเคชั่นไลน์ติดตามสถานการณ์เด็ก ๆ นอกจากนี้ยังนำงบประมาณที่ได้รับจาก สสส.จัดทำหน้ากากและ Face Shield เพื่อแจกสมาชิกในชุมชน รวมถึงนำไปเป็นงบประมาณดูแลผู้ป่วยติดเตียง

“สิ่งที่สถานเป็นห่วงคือเด็กขาดโอกาสในการเรียนรู้ เนื่องจากพ่อแม่อาจอยู่กับทีวีและโทรศัพท์มากไป ส่วนการเรียนออนไลน์มองว่ายังไม่เหมาะสมกับเด็กประถมวัย เลยคิดอยากจัดให้เด็กมาพบปะครูแบบเป็นกลุ่มย่อย ๆ แทน”

ทองคำ สิทธิโชติ ผู้อำนวยการกองการศึกษา อบต.แก้งแก อ.โกสุมพิสัย จ.มหาสารคาม เล่าถึงการดูแลเด็กเล็กในแก้งแกบ้างว่า แก้งแกเป็นพื้นที่ที่มีกลุ่มคนต่างถิ่นและคนที่มาจากนอกชุมชนเข้ามาค่อนข้างมาก แต่ชุมชนก็มีมาตรการเฝ้าระวังอย่างเคร่งครัด เด็กปฐมวัยในแก้งแกมี 222 คน และมีครู 10 คน ใน 10 หมู่บ้าน จึงมีการมอบหมายให้ครู ทำหน้าที่เข้าไปในติดตามสถานะของเด็กเล็กในพื้นที่ พร้อมแจกอาหารให้ 1 คน ต่อ 1 หมู่บ้าน กระจายกันไปตามพื้นที่

“เราจัดเตรียมอาหารหนึ่งมื้อแต่อิ่มสำหรับสองคน ส่วนเรื่องนม ตั้งแต่ก่อนมีโควิด ทางศูนย์ฯ ได้จัดการเรื่องแจกจ่ายนมกล่องให้แก่เด็กทุกครัวเรือนแล้ว เมื่อ 18 พฤษภาคมที่ผ่านมา ก่อนจะแจกอีกรอบหลังรัฐประกาศ เด็กจึงไม่ขาดช่วงในการรับนม” ทองคำ กล่าว

ขณะที่ ดวงพร เฮงบุณยพันธ์ ผู้ช่วยผู้จัดการกองทุน สสส. และ รักษาการผู้อำนวยการสำนัก 3 ที่เอ่ยถึงภาพรวมในเครือข่ายชุมชนท้องถิ่นน่าอยู่ส่วนใหญ่ว่า ดูแล้วไม่น่าวิตกกังวลปัญหาเรื่องเด็กเล็กขาดโภชนาการ นอกจากนี้สมาชิกครอบครัวเด็กยังได้รับดูแลไปด้วย

“แต่ยังมีเรื่องที่อยากฝากให้แต่ละชุมชนช่วยกันคิด คือทำอย่างไรให้เด็กเล็กยังสามารถเรียนรู้และได้รับการส่งเสริมพัฒนาการ ภายใต้เงื่อนไขในภาวะวิกฤติ และอยากให้ใช้โอกาสนี้กระตุ้นให้ครอบครัว พ่อแม่ หันมาช่วยกันกระตุ้นพัฒนาการเด็กระหว่างอยู่ที่บ้าน เพราะอาจลืมไป”

ปิดท้ายด้วย รศ.ดร.ขนิษฐา  นันทบุตร ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและพัฒนาระบบสุขภาพชุมชน (ศวช.) คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น วิเคราะห์ว่า ผลจากวิกฤตครั้งนี้ทำให้ภาคีเครือข่ายฯ ได้เรียนรู้ว่า การมีข้อมูลทำให้ไวต่อการรับมือสถานการณ์ และการที่เรายิ่งรู้จักตัวเองมาก ทำให้ไม่ว่าจะวิกฤติขนาดไหนก็สามารถรับมือกับได้ อีกทั้งความเข้มแข็งของคนในชุมชนและความร่วมมือทำให้ชุมชนท้องถิ่นทำงานง่ายขึ้น มีการประสานการทำงานกันได้อย่างดี

ขอบคุณที่มา :  กรุงเทพธุรกิจ

#อยู่บ้านหยุดเชื้อช่วยชาติ
#เครือข่ายร่วมสร้างชุมชนท้องถิ่นน่าอยู่
#ชุมชนเข้มแข็ง
#สสส